"เกมโอเวอร์"ภาษีกระตุ้นอสังหาฯ"คลัง"ชั่งน้ำหนักกลัวได้ไม่คุ้มเสีย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อลั่นวาจาไว้แล้ว...มีหรือจะคืนคำ สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่"ขุนคลัง"หัวใจวิชาการ บอกตั้งแต่เริ่มเปิดฉากแล้วว่าจะ"ไม่"ลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน รวมถึงค่าจดจำนอง เกรงกระทบการจัดเก็บรายได้รัฐที่อาจ"ได้ไม่คุ้มเสีย" ต้องยื่นระนะเวลาในการสรุปเรื่องออกไป พร้อมกับเรียก"สรรพากร"เข้ามาถกเข้ม ก่อนตัดสินใจออก"แพ็กเกจ"ของจริง

กลายเป็นว่า ผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียต้องร้องเพลงรอเก้อ เมื่อ"ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนกรานไม่พิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง ใส่ไว้ในแผนกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมาตรการที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่ "ขุนคลัง"หัวใจวิชาการ กล่าวไว้แต่ต้นที่เริ่มเปิดแผน"กระตุ้นเศรษฐกิจ" ซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคหนึ่งในแผนงานใหญ่กู้ชีพ

ถ้าให้มองถึงเหตุผลที่กระทรวงการคลังยุติไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว คงมีอยู่ไม่กี่ประเด็น... ประเด็นแรกคือถ้าคลังยอมรับในมาตรการดังกล่าว ผลที่ออกมาคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่...? คำตอบนั้นไม่ชัดเจน... แม้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะพยายามชี้ให้เห็นถึงผลดีที่คลังได้คืนกลับมาก็ตาม

ภาคผู้ประกอบการบอกว่า หากรัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ภาคอสังหาฯเป็นเครื่องมือ การสูญเสียรายได้ในส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันรัฐไม่ได้สูญเปล่า สิ่งที่ได้คืนมาคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้

แต่ในภาวะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ การบริโภคหดตัว จะรับประกันได้อย่างไรว่า "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" (VAT) และ "ภาษีเงินได้"เป็นสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับการได้คืน ซึ่งนำไปสู่ประเด็นที่มองในอีกด้านว่า ถ้ารัฐออกมาตรการตามที่เอกชนร้องขอ ผลประโยชน์แท้จริงนั้นตกอยู่ที่ใครกันแน่... "ผู้บริโภค"หรือ "ผู้ประกอบการ"!!!...

นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ "ขุนคลัง" ยืนยัน ว่าจะไม่ใช้มาตรกากระตุ้นอสังหาฯด้วยวิธีลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง

ที่สำคัญหวนดูการจัดเก็บภาษี 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 8,811ล้านบาท คิดเป็น 9% ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 6,925ล้านบาท หรือคิดเป็น1% แม้โดยรวมจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วก็ตาม แต่สถานการณ์เช่นนี้การเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไม่เป็นผลดีต่อรัฐแน่นอน แม้ผลกระทบจะยังมีให้เห็นไม่มากในตอนนี้ แต่อนาคต จะเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อรัฐต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลในโครงการขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้ "ฉลองภพ"จึงออกมาเน้น และย้ำว่า มาตรการที่จะออกต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยที่ต้องเรียกฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนของ"กรมสรรพากร"ก็จะต้องถูกเรียกเข้ามาคุยด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะสรุปและเสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

อย่างไรก็ตาม "ฉลองภพ" บอกว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯแผนที่กำลังพิจารณาอยู่คือการเพิ่มลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ที่ดูอยู่ว่าจะสรุปที่ 70,000 บาท หรือ100,000 บาท จากเดิมที่ลดหย่อนได้ 50,000 บาท รวมถึงค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดา จาก 60,000 บาทเป็น 100,000 บาท ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง และเข้าค่ายแผนเพิ่มเม็ดเงินในกระเป๋าผู้บริโภคอีกด้วย

ทั้งนี้"สรรพากร"ได้ประเมินความสูญเสียรายได้คร่าว ๆ หากออกมาตรการลดหย่อนภาษีในส่วนของธุรกิจเฉพาะ 3.3% เหลือ 0.11% จะสูญรายได้ 5,000-6,000 ล้านบาท เพิ่มลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านจาก 50,000 บาทเป็น 70,000 บาท รัฐสูญรายได้ 600-1,000 ล้านบาท ค่าลดหย่อนบุคคลธรรมดา จาก 60,000 บาทเป็น 100,000 บาท สูญรายได้กว่าหมื่นล้านบาท

เมื่อผลสรุปออกมาค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า "คลัง" ไม่จะพิจารณาลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง ว่ากันตามจริงเป็นเรื่องที่สร้างความมึนงงมิใช่น้อยต่อผู้รับข่าวสารที่คิดเสมอว่ามาตรการดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในแผนกระตุ้นภาคอสังหาฯ แต่เรื่องดังกล่าวกลับกลายเป็น "โอละพ่อ"เสียนี่

จากคำของ "ฉลองภพ" บอกไว้ว่า "ผมพูดไปตั้งนานแล้วว่าเรื่องภาษีการโอน ค่าจดจำนองจะไม่มีการพิจารณาปรับเปลี่ยน"คนฟังเหมือนไม่เชื่อสิ่งที่หูได้ยิน ย้ำกลับทันทีว่า "ท่านยังยืนยันตรงนี้อยู่หรือไม่"

และคำตอบท้าสุดของ "ฉลองภพ" ก็ทำให้จบเกมทันที เมื่อย้ำว่า "ก็แน่นอน...จะไปปรับได้อย่างไร...เพราะฉะนั้นใครจะซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็แล้วแต่ ไม่ต้องมารอ และนี่ผมก็พูดไปนานแล้ว ถ้าจะให้ก็เพิ่มในส่วนลดหย่อน อันนี้คือสิ่งที่คลังพิจารณาอยู่"

การลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนอง จะว่าไป "คลัง" ได้ให้บทสรุปเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า "ไม่"....

หากแต่ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจอสังหาฯต่างหากที่ปฏิเสธข้อสรุปดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ยื่นเงื่อนไขเดิมกลับไปให้"คลัง"พิจารณาอีกหน ซึ่งผลคือคลังคงแสดงจุดยืนเดิมที่ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง "คำไหนคำนั้น"

และเมื่อการเจรจาของทั้งสองฝ่ายไม่ลงตัว....แผนมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯที่ความจริงน่าจะได้บทสรุปตั้งนานแล้ว ต้องยืดเยื้อออกไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.