เศรษฐกิจอืด-พิษการเมืองรุมฉุดหุ้นวัสดุก่อสร้างหมดเสน่ห์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ไตรมาสแรกธุรกิจวัสดุก่อสร้างฝืดจับ สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจชลอตัวชัดเจน เมกกะโปรเจคยังล่าช้า หลายบริษัทอัตราการขยายตัวกำไรลดลง ส่วนไตรมาส2และ3 ยังไม่พ้นเคราะห์เจอหน้าฝนทำ Low Season คาดยังไม่เห็นแววหุ้นกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างเฉิดฉายจนกว่าทิศทางทางการเมืองจะมีความชัดเจน

หากดูจากผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2550 ของหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่ได้ประกาศออกมาแล้ว พบว่าผลการดำเนินงานของหลายบริษัทออกมาต่ำกว่าเคยมีการวิเคราะห์และประมาณการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

สิ่งนี้เป็นเหมือนสัญญาณสะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐบาลเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการโยกงบประมาณจากโครงการที่ยังมีความล่าช้าลงทุนในโครงการที่ความเร่งด่วน อาทิ โครงการการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง และรวมถึงโครงการรถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง เป็นต้น รวมถึงการที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันเดินหน้าโรงการรถไฟฟ้า แม้ว่าเจบิค ซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้หลักของโครงการดังกล่าวจะมีความล่าช้าทำให้ทางการจะหันไปพึ่งสถาบันภายในประเทศแทน เพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าตามตารางเวลาที่กำหนด

ฝ่ายวิจัย บล.นครหลวงไทย เชื่อว่าสำหรับธุรกิจซีเมนต์ยังจะชะลอต่ออย่างน้อย 3 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของภาคการก่อสร้างภายในประเทศ ขาดการเปิดตัวโครงการขนาดใหญ่ในไตรมาส 1 ของปีนี้ส่งผลให้การบริโภคซีเมนต์ช่วงดังกล่าวลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา(yoy) เป็น 7.6 ล้านตัน และยังเชื่อว่าการบริโภคในไตรมาส 2 ของปีนี้จะยังลดลงต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วง Low Season แม้รัฐบาลจะเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วขึ้นก็ตาม แต่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาสหลังจากนี้เป็นต้นไป และเชื่อว่าจะไม่สามารถชดเชยการลดลงในช่วงไตรมาสที่ผ่านมาได้อย่างแน่นอน ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจซีเมนต์ปี 2550 ลดลง 3-5% yoy จาก 29.16 ล้านตันในปี 2549

สอดคล้องกับผลการดำเนินงานไตรมาส1 ปี2550 ธุรกิจซีเมนต์ของ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) ที่มียอดขายลดลง 3% yoy เป็น 2.8 ล้านตัน แต่ด้วยการกระจายตัวของธุรกิจ และลดการพึ่งพิงธุรกิจซีเมนต์เพียงธุรกิจเดียว ประกอบกับความสามารถในการรักษาระดับ EBITDA ถึง 46,601 ล้านบาท ทำให้ SCC คงความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่ 15 บาท/หุ้น/ปี หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ย 6% ต่อปี ดังนั้นจึงแนะนำ "ซื้อลงทุนระยะยาว" ราคาเหมาะสมปี 2550 ที่ 288 บาท/หุ้น

ด้านผลประกอบการของกลุ่มกระเบื้องยังคงถูกกดดันอุปสงค์ที่ชะลอตัว และการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการในประเทศและสินค้าจากประเทศจีน ทำให้กำไรสุทธิของ บมจ.โรแยล ซีรามิค อุตสาหกรรม (RCI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระเบื้องระดับกลางถึงบน ลดลงกว่า 80% yoy เป็น 6 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มกระเบื้องระดับล่างอย่าง บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า RCI เนื่องจากผลกระทบภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2549 ส่งผลให้กำไรสุทธิของ DCC ในไตรมาส 1ที่ผ่านมารับลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยลดลง 11% yoy เป็น 166 ล้านบาท ดังนั้น ฝ่ายวิจัย บล.นครหลวงไทย แนะนำ ซื้อลงทุน DCC ราคาเหมาะสม 18.20 บาท/หุ้น และเปลี่ยนคำแนะนำหุ้น RCI จาก "ซื้อ" เป็น "ขาย" โดยมีราคาที่เหมาะสมปี 2550 เท่ากับ 1.67 บาท/หุ้น

ขณะที่ธุรกิจเหล็กก็มีปัจจัยกดดันอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ประการแรกคือ การบริโภคในประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของเหล็ก Commodity ที่อิงกับภาคการก่อสร้าง ดังนั้น ผู้ประกอบการภายในประเทศที่มีความสามารถในการผลิตเหล็กเกรด Premium ต่างปรับสัดส่วนในการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสินค้าเกรด Premium ยังเป็นที่ต้องการอยู่เป็นจำนวนมากในตลาดเกิดใหม่ อาทิ ประเทศในตะวันออกกลาง และเวียดนาม เป็นต้น ส่วนประการที่ 2 คือ ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาในตลาดโลก ดังนั้น การบริหารวัตถุดิบให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนสินค้าเกรด Premium ที่มีราคาสูง จะช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของผู้ผลิตเหล็กอยู่ในระดับสูงได้ โดยผลประกอบการในไตรมาส 1 ที่เริ่มประกาศออกมาพบว่า บมจ.ทาทา สตีล (TSTH) มีกำไรสุทธิโดดเด่นที่สุด พลิกจากขาดทุนสุทธิ 236 ล้านบาทใน ไตรมาส1ของปี 2549เป็นกำไรสุทธิ 392 ล้านบาท ขณะที่ SSI ยังมียอดคำสั่งซื้อที่มีกำไรต่ำสืบเนื่องมาจากไตรมาส 4ของปี 2549 ทำให้บริษัทยังแสดงผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติเท่ากับ 41 ล้านบาท แต่ดีขึ้นเมื่อ yoy ที่มีผลขาดทุน 578 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯคาดว่า บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) จะได้รับผลดีอย่างเต็มที่จากภาวะขาขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลก โดยยอดคำสั่งซื้อที่จะบันทึกในไตรมาส2 ปี 2550 จะเป็นราคาที่ปรับขึ้น ทำให้แนวโน้มกำไรจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯจึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ" TSTH และ SSI โดยมีราคาเหมาะสมปี 2550 เท่ากับ 1.37 และ 1.27 บาท/หุ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของ บมจ.บางสะพานบาร์มิล (BSBM) ปรับตัวลดลงร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 โดยมีกำไรสุทธิ 48 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีความยากลำบากในการหา Billet เพื่อผลิต จะทำให้บริษัทไม่สามารถรองรับคำสั่งซื้อที่มีอยู่ได้ ส่งผลต่อเนื่องให้กำไรสุทธิปี 2550 ลดลงเป็น 137 ล้านบาท จาก 259 ล้านบาท ดังนั้น แนะนำ "ขาย" BSBM ที่ราคาเท่ากับ 1.20 บาท/หุ้น ขณะที่ผลการดำเนินงานของ บมจ.จี สตีล(GSTEEL) ยังเติบโต เนื่องจากบริษัทสามารถรักษาปริมาณการขายได้สม่ำเสมอ ประกอบกับประโยชน์จากการมีเตาหลอมเหล็กเป็นของตนเอง ส่งผลให้มีต้นทุนวัตถุดิบในระดับถูกกว่า ดังนั้น จึงแนะนำ "ซื้อ" GSTEEL โดยมีราคาเหมาะสมปี 2550 เท่ากับ 1.30 บาท/หุ้น

การเร่งรัดการเบิกจ่ายเป็นเพียงการสร้างบรรยากาศการก่อสร้างภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่ที่แท้จริงจากประเด็นการขาดความเชื่อมั่นในนโยบายจากภาครัฐบาลที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้แผนการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศต่างชะลอออกไป จนกว่าทิศทางทางการเมืองจะมีความชัดเจนในช่วงปลายปี กอปรกับไตรมาส 2และ 3 เป็น Low Season ของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนและมีวันหยุดต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มการบริโภควัสดุก่อสร้างยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ฝ่ายวิจัย บล.นครหลวงไทย จึงปรับลดระดับการลงทุนของหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างจาก Neutral เป็น Bearish


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.