|

"ไทยเบฟฯ"คลอดเบียร์พรีเมียมชูแนวรบครบพอร์ตฯบี้สิงห์ปลายปีส่งอาชาโกอินเตอร์
ผู้จัดการรายวัน(28 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยเบฟฯ เล็งเปิดเกมรบเบียร์ครบพอร์ตโฟลิโอ ปั้นเบียร์พรีเมียมแบรนด์ใหม่เสริมทัพ ไตรมาสสามคลอดเบียร์ขวดเขียวขย่มไฮเนเก้น ลั่นปลายปีส่งเบียร์อาชาโกอินเตอร์ หลังได้รับเหรียญทองการันตีคุณภาพเบียร์ไทย พร้อมปรับกลยุทธ์ลุยเบียร์ดีกรีต่ำรับเทรนด์โลก ตั้งเป้า 2ปีผลิตดีกรีต่ำสูงกว่าดีกรีสูง
นายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ช้าง เบียร์อาชา เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทมีแผนที่ขยายไลน์เบียร์พรีเมียมภายใต้แบรนด์ใหม่ลงสู่ตลาดในช่วงปลายไตรมาสที่สามหรือไตรมาสที่สี่ ทั้งนี้เพื่อสอดรับกับนโยบายของบริษัทที่วางไว้ "Premiumizaion" หรือการผลิตเหล้า-เบียร์ให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ จากปัจจุบันเบียร์ของบริษัท ประกอบด้วยเซกเมนต์อีโคโนมี ได้แก่ เบียร์ช้าง อาชา เซกเมนต์ไลท์เบียร์ คือ ช้างไลท์ ส่วนในตลาดสแตนดาร์ดและพรีเมียมบริษัทยังไม่มีในพอร์ตโฟลิโอ เพื่อให้ครอบคลุมตลาดและตอบสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมทุกเซกเมนต์
สำหรับเบียร์พรีเมียมที่จะเปิดตัวลง บรรจุภัณฑ์เป็นขวดเขียวมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำระหว่าง 5.2-5.4 % ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาดื่มเบียร์ดีกรีต่ำเพิ่มขึ้น จากเดิมที่นิยมดื่มเบียร์หรือเหล้าที่มีดีกรีสูง เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสุขภาพร่างกายกันมากขึ้น ทั้งนี้จากผลการสำรวจในต่างประเทศ พบว่ายอดการขายเบียร์ดีกรีต่ำในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยอดผลิตเบียร์ของไทยเบฟฯ ไตรมาสแรกปีนี้ที่มีอัตราเติบโต 18% ส่วนหนึ่งมาจากยอดการผลิตเบียร์อาชาที่เพิ่มขึ้น 66.4 ล้านลิตร สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการทำตลาดเบียร์ดีกรีต่ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แนวโน้มทางโรงงานผลิตเบียร์ในเครือ คงต้องปรับตัวรับกับความต้องการของผู้บริโภค โดยประมาณการณ์ว่าในอีก 2ปีข้างหน้านี้ สัดส่วนการผลิตเบียร์ในโรงงานแต่ละแห่งของบริษัท จะเป็นดีกรีต่ำมากกว่าเป็นดีกรีสูงในสัดส่วนที่ตรงข้ามกัน จากปัจจุบันผลิตเบียร์ดีกรีสูงประมาณ 60% ดีกรีต่ำ 40% ตามแนวโน้มของโลกเพราะคนจะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูง
จ่อคิวส่งเบียร์อาชาโกอินเตอร์
นายพิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่เบียร์อาชาได้รับรางวัลเหรียญทองจากกระประกวด Australian International :AIBA ซึ่งเป็นเวทีการประกวดที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลกเป็นอันดับ 3 รองจากการประกวดในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการได้รับรางวัลเจริญรอยตามเบียร์ช้าง เชื่อว่าการได้รับรางวัลดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคไทย และในต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นในการบริโภคเบียร์ไทย และยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการผลิตเบียร์ของคนไทยที่มีมาตรฐานสากลในระดับโลก
สำหรับแผนการตลาดเบียร์อาชา บริษัทจึงเตรียมผลิตเบียร์อาชาเพื่อส่งออกในประเทศแถบเอเชียเป็นครั้งแรกในปลายปีนี้ ซึ่งรูปแบบการทำตลาดและการวางจำหน่ายจะเป็นช่องเดียวกับเบียร์ช้าง ซึ่งคาดว่าการทำตลาดจะง่ายมากขึ้น เนื่องจากมีเบียร์ช้างเป็นใบเบิกทางในการทำตลาดต่างประเทศไปแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ทางผู้บริหารกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสูตรเบียร์อาชาใหม่ โดยมีแนวโน้มว่าจะลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงจากปัจจุบันมีปริมาณดีกรีราว 5.4% ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ดีกรีต่ำ เช่นเดียวเบียร์ช้างการทำตลาดต่างประเทศ ก็ได้มีการปรับปริมาณดีกรีให้ต่ำลงจาก 6.4% เป็น 5%
การนำรุกตลาดต่างประเทศเบียร์อาชา ทำให้บริษัทต้องปรับสัดส่วนการผลิตที่โรงงานเบียร์ที่วังน้อย ใหม่ จากเดิมเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเบียร์ช้าง 100% ไปยังกว่า 32 ประเทศทั่วโลก โดยจะปรับเหลือเบียร์ช้าง 70% และเบียร์อาชา 30%
สำหรับข้อมูลการผลิต พบว่ายอดการผลิตเบียร์ช้างและอาชา คิดเป็นสัดส่วน 1 % ของตลาดเบียร์ทั่วโลก หรือคิดเป็นมีปริมาณ 1,600 ล้านเฮ็กโตลิตรต่อปี ถือว่าเป็นบริษัทมีกำลังการผลิตเบียร์ใหญ่เป็นอันดับต้นๆในเอเชีย เมื่อเทียบกับบริษัทเบียร์รายใหญ่ในโลก โดยในแต่ละปีบริษัทมีกำลังการผลิตกว่า 1,000ล้านลิตรต่อปี มาจากโรงงานผลิตเบียร์ในประเทศ จำนวน 3แห่ง ได้แก่ 1. โรงงานวังน้อย มีกำลังการผลิต 120 ล้านลิตรต่อปี น้ำดื่ม 50 ล้านลิตร โซดา 50 ล้านลิตร
2. โรงงานเบียร์ทิพย์ ( 1991) มีกำลังการผลิต 530ล้านลิตรต่อปี น้ำดื่ม 200ล้านลิตร โซดา 100 ล้านลิตร 3.โรงงานเบียร์ไทย ( 1991)มีกำลังการผลิต 900ล้านลิตรต่อปี น้ำดื่ม 200ล้านลิตร โซดา 100ล้านลิตร โดยในแต่ละปีบริษัทเสียภาษีมากกว่า 26,000ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|