|

สิงห์ฯเท150ล.เพิ่มกำลังผลิตบีอิ้งยอดพุ่งบี้อะมิโนโอเคอัดไพรซ์วอร์
ผู้จัดการรายวัน(28 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
สิงห์ฯ ยิ้มรับยอด 4 เดือนแรก น้องใหม่ บี-อิ้งไปได้สวย ยอดพุ่งเกิน 2 ล้านลิตรเกินกว่าเป้าที่วางไว้ ระบุเตรียมเบรกสายการผลิตชาเขียวโมชิ ลงทุน บี- อิ้ง เพิ่มเครื่องจักรใหม่ 150 ล้านบาทปีหน้า หันเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเครื่องดื่มเสริมสุขภาพประจำวันแทน พร้อมลุยรุก 3 ช่องทางขายหลักเจาะตามเซกเมนต์ โวหลังสินค้าติดตลาดส่งต่อยอดขายแตะ 270ล้านบาท
นายสันต์ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ บริษัทสิงห์คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องดื่มเบียร์สิงห์ ลีโอ เครื่องดื่มน้ำ และโซดา สิงห์ ชาเขียวพร้อมดื่มยี่ห้อ โมชิ และเครื่องดื่มเสริมสุขภาพประจำวันยี่ห้อ บี-อิ้ง เปิดเผยว่า บริษัท เตรียมใช้งบประมาณไว้กว่า 150 ล้านบาท สำหรับเพิ่มเครื่องจักรใหม่ในการผลิตสินค้า เครื่องดื่มยี่ห้อ บี-อิ้ง อีกทั้ง 3 รสชาติ ประกอบด้วย 1.บี -อิ้ง ไฟน์ 2.บี-อิ้ง บูทส์ และ 3.บีอิ้ง คอมฟอร์ท ที่ในปัจจุบันมีผลิตในต่างประเทศประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 6ล้านลิตรต่อปี ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเดินแผนต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะสรุปได้ช่วงต้นปี 2551 นี้
สำหรับการรุกทำบี -อิ้ง บริษัทจำเป็นต้องหยุดการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวโมชิ ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานอยู่ที่ถ.สามเสน กรุงเทพ โดยมีแนวทางว่าจ้างการผลิตสินค้าดังกล่าวจากภายนอก หรือโออีเอ็มแทน อย่างไรก็ตามบริษัทจะยังทำตลาดสินค้าชาเขียวยี่ห้อโมชิต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าเครื่องดื่มกลุ่มนี้มีอัตราเติบโตน้อย
การมุ่งทำตลาดสายการผลิตเครื่องดื่มฯยี่ห้อ บี-อิ้ง นี้เนื่องจากพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกหลังจากที่ได้เปิดตัวตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กว่า 2 ล้านลิตร ส่งผลให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับสายการผลิตสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น พร้อมกับยอมรับว่าได้มีการปรับเป้ายอดขายสินค้าภายในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 4 ล้านลิตร หรือยอดขายอยู่ที่ 270 ล้านบาท จากเดิมที่วางไว้อยู่ที่ 3 ล้านลิตรเท่านั้น
ปัจจุบันเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีความจำเป็นอย่างเห็นได้ชัด เทรนด์สุขภาพมาแรง คนเราเริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น เครื่องดื่ม บี -อิ้ง เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพประจำวัน ผสมผสานกับวิตามิน ความจำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทดแทนพลังงาน การสร้างใยอาหารอินนูลินช่วยย่อยอาหาร การสร้างวิตามินต่างๆ สร้างขึ้นมาเพื่อสอดรับกับความต้องการผู้บริโภคในตลาดที่ ไม่ค่อยมีเวลามากนักในการหาวิตามินหรือเครื่องดื่มสุขภาพที่ครบสูตรเช่นนี้ บริษัทฯเชื่อว่าบี-อิ้งจะต้องติดตลาด
สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับ บี-อิ้ง บริษัทฯ เตรียมงบประมาณไว้กว่า 120 ล้านบาท ทั้งนี้จะให้น้ำหนักในเรื่องกิจกรรมการตลาด ณ จุดขายและโฆษณาผ่านสื่อ ผสมผสานกับการปรับกลยุทธ์การทำตลาดเจาะเข้าสู่ช่องทางขายที่เหมาะสม เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น 1.บี-อิ้ง สีแดง จับกลุ่มผู้หญิง หรือ ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ ศูนย์สุขภาพและความงาม สปา และกำลังเจรจากับสายการบินเพื่อนำเครื่องดื่มกลุ่มนี้ให้บริการบนเครื่องบิน 2.บี-อิ้ง สีฟ้า จับกลุ่มนักกีฬา ผู้ออกกำลังกาย จำหน่ายในศูนย์ออกกำลังกายและ3. บี-อิ้ง สีส้ม จะเข้าช่องทางขายกลุ่มร้านอาหารสาขา ฟาสต์ฟู้ด
ขณะในช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านสะดวกซื้อจะวางจำหน่ายสินค้าทั้ง 3 ตัว ซึ่งบริษัทได้แยกแผนกใหม่คือ เทรด มาร์เก็ตติง เพื่อสร้างทีมขายและรถจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มกว่า 120 คัน เพื่อทำตลาดและกระจายสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเพื่อแยกการทำตลาดจากเครื่องดื่มกลุ่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน
นายสันต์ กล่าวต่อว่า จากแผนในการทำตลาดเชื่อว่าจะแยกสินค้าแต่ละตัวมีความชัดเจน และสร้างความแตกต่างไปจากสินค้ายี่ห้ออื่นที่ใกล้เคียงในตลาด เช่น ยี่ห้ออะมิโนโอเค ที่ให้ประโยชน์ไม่เหมือนกันและล่าสุดสินค้าดังกล่าวได้ปรับราคาลดเหลือ 10 บาท จากเดิมราคา 20บาท ส่งผลกระทบต่อยอดขายเครื่องดื่มฯบี-อิ้ง ตกลง 20% เนื่องจากไม่สามารถปรับราคาลงมาได้ เนื่องจากต้นทุนที่สูงกว่าในปัจจุบันวางจำหน่ายอยู่ที่ 20 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|