|
แม่ทัพซีเอ็มจีสั่งรุกสู้เศรษฐกิจปรับพอร์ตฯกระตุ้นยอดเข้าเป้า
ผู้จัดการรายวัน(28 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แม่ทัพซีเอ็มจี สั่งรุกกิจกรรมเต็มสูบ พร้อมลุยซีอาร์เอ็มทำตลาดทุกรูปแบบ เล็งปรับพอร์ตโฟลิโอกว่า 60แบรนด์ หลังพบยอดขาย 4เดือนแรกเติบโตต่ำเป้าหมาย มั่นใจปีนี้โต10% ชี้แนวโน้มอินเตอร์แบรนด์เข้ามาทำตลาดเอง
นายจักรพงษ์ เฉลิมชัย ประธานฝ่ายปฏิบัติการอาวุโส บริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จำกัด บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นรายใหญ่ เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มซีเอ็มจีในปีนี้ ทางนายพิชัย จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มซีเอ็มจีได้ให้แนวทางไว้ว่า ปีนี้จะต้องเน้นการทำกิจกรรมการตลาดให้มากขึ้นกับทุกตัวสินค้า เพื่อกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดการซื้อมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการทำซีอาร์เอ็มให้มากขึ้นในรูปแบบต่างๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมาชิกและลูกค้า
เล็งปรับพอร์ตโฟลิโอ60แบรนด์
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ไม่ค่อยดี เป็นตัวฉุดที่ทำให้ภาวะการณ์ขายสินค้าต่างๆโดยเฉพาะแบรนด์เนมค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งปริมาณคนที่เดินเที่ยวในห้างก็ลดน้อยลงไป ด้วยตั้งแต่ต้นปีมา ภาวะเศรษฐกิจของไทยตอนนี้หนักมากหนักที่สุดไม่เคยเจอมาก่อนเลย
นอกจากนั้นก็จะมีการพิจารณาดูว่าแบรนด์ใดที่มียอดขายไม่ค่อยดีหรือไม่เติบโต ก็อาจจะชะลอการทำตลาดออกไป ส่วนแบรนด์ที่มีศักยภาพดีก็จะทำตลาดเพิ่มขึ้น และพยายามที่จะจัดพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มใหม่ เนื่องจากมีสินค้ามากกว่า 60แบรนด์ในความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อก่อนเคยมีมากถึง 100 กว่าแบรนด์ด้วยซ้ำไปแต่ได้ตัดออกไปแล้ว ขณะนี้มีสินค้าที่แบ่งเป็นแบรนด์ที่นำเข้าประมาณ 20 กว่าแบรนด์ และประเภทได้ไลเซนส์ในการผลิตและจำหน่ายอีก 20 กว่าแบรนด์ และมีอีก 20 กว่าแบรนด์ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของบริษัทเอง
โดยในปีนี้ทางกลุ่มตั้งงบประมาณด้านการตลาดรวมไว้ที่ 5-7%จากรายได้รวม หากมองดูจำนวนที่เป็นเปอร์เซ็นต์อาจจะดูน้อย แต่ต้องไม่ลืมว่าฐานรายได้ของกลุ่มมีมากดังนั้นงบตลาดก็จะมากไปตามสัดส่วนอยู่แล้ว
สำหรับผลประกอบการของกลุ่มซีเอ็มจีในช่วง 4เดือนแรกนี้ค่อนข้างทรงตัว โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 5-10% แล้วแต่กรณีเป็นแบรนด์ไปบางแบรนด์โตมากโตน้อยบางแบรนด์ทรงตัวหรือไม่โตเลย ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายจากปกติต้องเติบโต 15-20% แต่ก็ยังมั่นใจว่าปีนี้ผลประกอบการโดยรวมจะเติบโต 10% จากรายได้รวมปีที่แล้วประมาณ 5,000-6,000ล้านบาท โดยการเติบโตนั้นจะมาจากทั้งการขยายสาขาคือร้านค้าแต่ละแบรนด์ให้มากขึ้นและการเติบโตจากสาขาเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความมั่นคงมากกว่าทั้งนี้ในช่วงต้นปีมานี้ ตลาดต่างจังหวัดมีอัตราการเติบโตมากกว่าตลาดกรุงเทพ โดยเฉพาะตลาดหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี เป็นต้น ขณะที่กลุ่มเป้าหมายนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะได้แต่ลูกค้าเดิมที่ซื้อ ส่วนลูกค้าใหม่เวลานี้ค่อนข้างน้อย
แนวทางการทำตลาดจากนี้ต้องพยายามที่จะจัดกิจกรรมมากขึ้นสลับกันแต่ละแบรนด์ หรืออาจจะทำร่วมกันเพื่อสร้างศักยภาพให้มากขึ้น เพื่อดึงคนเข้าในร้าน รวมทั้งการตกแต่งดิสเพลย์หน้าร้านให้มีความสดใสและน่าสนใจเพื่อดึงดูดคน เพราะสินค้าพวกนี้บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของผู้บริโภคด้วย อีกทั้งการร่วมมือกับพันธมิตรในการทำตลาดโปรโมชันมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มซีเอ็มจีจะร่วมกับทางบัตรเครดิตรกสิกรไทยและซิตี้แบงก์เป็นประจำอยู่แล้ว
รูปแบบการทำตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพอย่างมากคือ การทำโปรโมชันไอเท็ม หรือ การลดราคาบางรายการในราคาที่ลดมากเช่น 70-80% เพื่อให้ตัวนี้เป็นแม่เหล็กในการดูดผู้บริโภคเข้ามาในร้าน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดเมื่อเข้าในร้านแล้วก็มีโอกาสที่จะดูสินค้าในกลุ่มอื่นด้วย ซึ่งโอกาสที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าอื่นที่ลดราคาน้อยกว่า 80% หรือไม่ได้ลดราคาเลยก็ยังมีบ้าง เพราะได้เห็นสินค้าแล้วเกิดแรงจูงขึ้นแล้ว ดีกว่าการที่ลูกค้าไม่เข้ามาในร้านเลย ทำให้โอกาสในการขายไม่มีแน่นอน
"เมื่อก่อนนี้ลูกค้ามีแบรนด์รอยัลตี้ค่อนข้างสูงมาก แต่ว่าตอนนี้ไม่แล้ว เปลี่ยนไปแล้ว การซื้อสินค้าแฟชั่น ใช้วิธีมิกซ์แอนด์แมทช์ แบรนด์ใดก็ได้ ขอให้ดูมันเหมาะสมเข้ากับตัวเอง เอาผสมผสานกัน ขณะที่แผนการเพิ่มจุดจำหน่ายหรือร้านค้าของซีเอ็มจีก็ยังมีแผนขยายต่อเนื่อง เช่น แบรนด์ G2000 และ U2 ซึ่งถือเป็นแบรนด์หลักที่ทำรายได้สูง ซึ่งเดิมทีจะเปิดจุดขายในห้างสรรพสินค้าค่อนข้างมากมีประมาณ 35 แห่ง แต่ขณะนี้ได้เริ่มเปิดร้านแบบสแตนด์อโลนมากขึ้นแล้วประมาณ 3-4 แห่งในเวลานี้ โดยตั้งเป้าหมายต้องเปิดประมาณ 8-10 ชอปต่อปี
ส่วนแบรนด์อิชชู ซึ่งขณะนี้มี 2 ชอป ที่เซ็นทรัลชิดลมและเซ็นทรัลเวิลด์ ก็จะขยายสาขาอีก แบรนด์เอสแฟร์ก็จะมีการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ชื่อว่า "ลักชัวรี่"เป็นเสื้อเชิ๊ต ราคาตัวละประมาณ 2,500บาท
อินเตอร์แบรนด์เล็งลุยเอง
นายจักรพงศ์ ยังให้ความเห็นด้วยว่า แนวโน้มของตลาดสินค้าแบรดด์เนมระดับลักชัวรี่เน้นเรื่องราคาที่เป็นโลว์ไพร้ซ์ เริ่มที่ทำตลาดในไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากกับแบรนด์ของโลคอลที่เป็นของคนไทยเอง รวมทั้งอินเตอร์แบรนด์ที่เป็นพรีเมียมทั้งภาพลักษณ์และราคา เพราะจะได้รับผลกระทบแน่นอนในด้านของการขาย
เหตุผลหลักมาจากเรื่องของภาษีที่ลดลงจากเงื่อนไขของดับบลิวทีโอและอาฟต้า เช่น เมื่อนำเข้ามาจากจีนภาษีประมาณ 12% หากนำเข้าจากอาเซียนเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ภาษีนำเข้า 10% จากเดิมที่สูงกว่า 30% และในอนาคตมีสิทธิ์ที่จะลดลงมาอีก ภายในช่วง 5 ปีนับจากนี้โลคอลแบรนด์ลำบากแน่นอนถ้าไม่ปรับตัวให้ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเข้ามาทำตลาดในรูปแบบไฮแฟชั่นบัทโลว์ไพรซ์ของอินเตอร์แบรนด์เริ่มมีให้เห็นแล้วเช่น แบรนด์ ซาร่า ซึ่งถือเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของสเปน รวมทั้งแบรนด์เอ็มเอ็นจี ซึ่งเป็นอันดับที่สองของสเปนเช่นกัน ทั้งสองแบรนด์นี้ได้รับความสำเร็จในตลาดแฟชั่นเมืองไทยอย่างมาก
ขณะที่แนวโน้มจากนี้ไปจะมีแบรนด์ประเภทนี้เข้ามามากเช่น ท็อปช็อปจากประเทศอังกฤษ ซึ่งโด่งดังมากเป็นที่นิยมในหมู่คนอังกฤษ อีกแบรนด์ที่น่าจับตามองคือ เอชแอนด์เอ็ม แบรนด์ทเวนตี้วัน และมีแนวโน้มอย่างมากว่าบริษัทเจ้าของสินค้าจะเข้ามาทำตลาดเองนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะแต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์จัดจำหน่ายให้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|