"พิธานพาณิชย์ เริ่มด้วยเงิน 3 พันของเด็กวัย 18"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ด้วยวัยเพียง 18 ปี ในปี 2457 จันฮกซุ่น ตัดสินใจออกจากบ้านเกิดที่ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี พร้อมเงินที่ขอจากบิดา จันกิมกวย จำนวน 3,000 บาท เดินทางไปเสี่ยงโชคที่เมืองปัตตานี โดยการเปิดร้าน "จันซุ่นเซ่ง" ขึ้น

กิจการแรกของจันซุ่นเซ่งที่ปัตตานี ก็คือ การเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันก๊าดตรามงกุฎซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทน้ำมันเชลล์ ซึ่งมีสาขาอยู่ที่เกาะปีนัง

หลังฝ่ามรสุมชีวิตหลายอย่าง ทั้งเรื่องครอบครัวที่บิดามารดาเสียชีวิต ในขณะที่เขาต้องรับภาระเลี้ยงดูน้อง ๆ งานของจันซุ่นเซ่ง ก็สามารถที่จะขยายตัวได้ดีในเวลาต่อมา ด้วยการเปิดร้าน "จันเอ็กเซ่ง" ด้วยการรับสัมปทานบริษัทเอเซียติก ในการขายสินค้าหลายอย่างนอกเหนือจากร้าน "จันซุ่นฮวด" ที่บิดาทิ้งไว้เป็นมรดกที่สายบุรี

จันฮกซุ่นรู้ดีว่า งานที่มีมากนี้ ลำพังตัวของเขาเอง ไม่สามารถที่จะรับภาระได้แน่นอน ดังนั้น เขาจึงได้ชักชวนโหง่วฮักเหลี่ยม หรือ ฮักเหลี่ยม แซ่โหง่ว ลูกพี่ลูกน้อง ให้เดินทางมาจากมณฑลฮกเกี้ยน ในประเทศจีน ให้เดินทางมาช่วยงาน

2 แรงแข็งขันของ 2 ตระกูล คือ แซ่จั่น ต้นกำเนิด "จันทรัศมี" และแซ่โหง่ว ต้นกำเนิด "โกวิทยา" ดูจะทำได้ดีจนเครือข่ายของพวกเขาขยายตัวมากมาย และเป็นตำนานว่า เมื่อเอ่ยถึงพิธานพาณิชย์ ก็ต้องเอ่ยถึงทั้ง 2 ตระกูลคู่กันไป

ชื่อเสียงของทั้งคู่ ได้รับการติดต่อจากบริษัทยาสูบในอังกฤษและอเมริกา บริษัทเนสเล่ บริษัทขายรถยนต์เชฟโรเล็ต บริษัทเฟรเซอร์แอนด์เนฟ (ขายน้ำอัดลม) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทยางกู๊ดเยียร์ เป็นต้น ต่างก็ติดต่อให้เป็นตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งจั่นฮกซุ่นรู้ว่า เครือข่ายแค่ปัตตานีไม่เพียงพอ จึงมีการตั้งร้าน "จันเต็งเซ่ง" ขึ้นที่สุไหงโก-ลก ในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน จันฮกซุ่น ก็เริ่มสนใจทำธุรกิจที่เป็นทรัพยากรหลักของภาคใต้นั่นคือ ยางพารา ถึงกับลงทุนซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อทำสวนยางพาราและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายการกระจายสินค้าอยู่ที่เมืองปินัง

ด้วยความที่เป็นรู้คุณแผ่นดิน หลังจากที่กิจการต่าง ๆ ขยายตัวมาก ตัวของจันฮกซุ่น ก็เริ่มมีการบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์มากมาย ทั้งการสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เพื่อให้ท้องถิ่นมีความก้าวหน้า

ดังนั้น ในปี 2474 จันฮกซุ่น จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลวงพิธานอำนวยกิจ และนามสกุล "จันทรัศมี" ด้วยวัยเพียง 35 ปี

จากนั้นไม่นาน สายตายาวไกลของหลวงพิธานอำนวยกิจ เขามองว่า กิจการน้ำมันเบนซินและน้ำมันเชื้อเพลิงอื่น ๆ ขายดี ธุรกิจต่อเนื่องก็น่าที่จะขายได้ดีด้วย เขาจึงติดต่อไปยังบริษัทเยนเนอรัล มอเตอร์ สหรัฐอเมริกา เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัท พร้อมทั้งขยายเครือข่ายเข้าไปยังเมืองยะลา ด้วยการเปิดร้าน "จันเอ็กเซ่ง" ขึ้นมาอีกแห่ง

หลังจากการเดินทางกลับไปยังประเทศจีน ผ่านหลาย ๆ ประเทศทั้งปีนัง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกงและในประเทศจีนหลายเมือง ทั้งเซี่ยงไฮ้ นานกิง ชานตุง ปักกิ่ง เทียนสิน ไฮนิง ฮกเกี้ยน (ซึ่งเป็นดินแดนบรรพบุรุษ) ในช่วงปี 2480-81 เมื่อกลับมาเมืองไทย เขาจึงมองถึงแนวทางที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจ

ดังนั้น เมื่อกลับมาถึงปัตตานี ในปี 2482 หลวงพิธานอำนวยกิจ จึงตัดสินใจรวบกิจการหลาย ๆ แห่ง ซึ่งเขามองว่ายุ่งยากในการบริหารและวางแผน เข้ามาเป็นบริษัทเดียว ด้วยการจดทะเบียนตั้งบริษัท "พิธานพาณิชย์" ขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2482 และให้ร้านต่าง ๆ มีฐานะเป็นสาขา โดยมีผู้จัดการสาขาแต่ละแห่งเป็นผู้ดูแล

ขณะเดียวกัน เครือข่ายด้านสวนยางก็มีมากขึ้น เมื่อเขาซื้อที่ดินในนราธิวาสหลาย ๆ อำเภอเพื่อปลูกยางพารา จนกลุ่มพิธานพาณิชย์ กลายเป็นกลุ่มที่มีสวนยางมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในยุคนั้น

ก้าวกระโดดก้าวแรกของกลุ่มพิธานพาณิชย์ เกิดขึ้นเมื่อเปิดสาขาหาดใหญ่ขึ้นมาในปี 2488 ภายหลังจากที่ครอบครัวของเขาหนีภัยสงครามมหาเอเซียบูรพามายังหาดใหญ่และหลวงพิธานฯ มองเห็นว่า หาดใหญ่กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในอนาคต จึงได้ซื้อที่ดินเพื่อเปิดสาขาดังกล่าวขึ้น

เช่นเดียวกับที่หลวงพิธานฯ ได้เปิดสาขาพิธานพาณิชย์ขึ้นที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อในมาเลเซีย เพราะช่วงดังกล่าว ปีนังเป็นเมืองท่าที่สำคัญเมืองหนึ่งในการค้าระหว่างประเทศในยุคนั้น

เครือข่ายของพิธานพาณิชย์ จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเมืองไทย หากแต่เป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่สำคัญในยุคนั้น จนกระทั่งบริษัทเยนเนอรัลมอเตอร์ ได้ประกาศให้พิธานพาณิชย์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทในภาคใต้ทั้งหมด

เมื่อหลวงพิธารอำนวยกิจ ถึงแก่กรรมในวันที่ 8 กรกฎาคม 2497 เครือข่ายของกลุ่มพิธานพาณิชย์ ก็มีมากมายเกินกว่าที่เขานึกมากนัก

วันนี้ ภารกิจของเครือข่ายกลุ่มพิธานพาณิชย์ ถูกผ่องถ่ายจากรุ่นลูกของหลวงพิธารอำนวยกิจ มาสู่รุ่นหลานของเขาที่อาจจะก้าวไกลเกินกว่าที่หลวงพิธารมองเห็นและคิดไม่ถึงในบั้นปลายของชีวิต

เพราะวันนี้ รุ่นหลานของเขา กำลังลงไปสู่ธุรกิจการพัฒนาที่ดิน ที่เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าธุรกิจอื่น ๆ ที่กลุ่มพิธานพาณิชย์เคยทำมา

เงินเพียง 3,000 บาทของเด็กหนุ่มวัย 18 ปี เมื่อเกือบ 80 ปีก่อน ไม่น่าเชื่อว่า จะมาไกลถึงวันนี้ได้!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.