|
ธาริษาชี้หยวนแข็งเอื้อไทย-ภูมิภาค
ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติยันเงินบาทไทยได้อานิสงส์จากการที่จีนขยายกรอบการเคลื่อนไหวเงินหยวน ทำให้ไทยแข่งขันส่งออกกับจีนได้มากขึ้น ขณะที่ภูมิภาคได้ประโยชน์เพราะหยวนเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินโลก
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยกรณีที่ประเทศจีนมีการปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนในแต่ละวันเดิมที 0.3%เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับมาเป็น 0.5% แทนว่า ในภาคปฏิบัติทางการจีนไม่น่าจะปล่อยให้การเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนเกินกรอบที่กำหนดไว้ แต่เชื่อว่าการดำเนินนโยบายเช่นนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทย เนื่องจากต่อไปนี้ค่าเงินหยวนจะแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค จากก่อนหน้านี้ที่ค่าเงินหยวนมีการแข็งค่าอ่อนค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีการแข็งค่าขึ้นอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางการค้า
ด้านนายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธปท.กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของจีนมากขึ้นทั้งการเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวค่าเงินหยวน การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ขยับขึ้น 0.27% มาอยู่ที่ระดับ 3.06% และการกำหนดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก 0.5% มาเป็น 11.5% เพื่อลดความร้อนแรงเศรษฐกิจของจีน ซึ่งต่างกับไทยที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวดีขึ้น จึงมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน 0.5%
“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกนอกประเทศ เพราะเชื่อว่าจะมีเพียงนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้นที่คิดอย่างนี้ อย่างไรก็ตามก็ต้องพิจารณาภาพรวมของระบบเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ประกอบด้วย จึงไม่สามารถบอกได้ว่าการลดแค่ดอกเบี้ยแล้วจะทำให้นักลงทุนต่างชาติแห่ขนเงินออกนอกประเทศ” นายสุชาติกล่าว
ขณะที่นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวของจีน ถือเป็นการตัดสินใจให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น เพื่อที่จะช่วยลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีการเติบโตอย่างมากของจีน อย่างไรก็ตามหากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย และมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินโลกด้วย ส่วนทิศทางของค่าเงินหยวนจะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องติดตามดูต่อไปยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ จะเห็นว่าค่าเงินสกุลต่างๆ ได้มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปมากแล้วก่อนหน้านี้ โดยค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้น นับตั้งแต่ธปท.ได้ออกมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา จนถึงเดือนพฤษภาคม 2550 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ส่วนอินเดียค่าเงินแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเกือบ 10% รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ แข็งค่าขึ้น 8% อินโดนีเซีย แข็งค่าขึ้น 6% และมาเลเซีย แข็งขึ้น 5% ขณะที่ค่าเงินหยวนของจีนค่อยๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นแต่ไม่มากนัก อยู่ที่ประมาณ 2.5%
ส่วนผลต่อการส่งออกของไทยนั้น จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับประโยชน์จากการที่ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นซึ่งจะลดความได้เปรียบระหว่างประเทศจีนกับประเทศอื่นๆ ขณะที่การแข่งขันในตลาดที่ 3 ระหว่างจีนกับไทยจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลตัวเลขการส่งออก-นำเข้าของประเทศไทย จะพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยขยายตัวที่ 14.9% โดยมีตลาดสำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน โดยในส่วนของจีนนั้น ไทยมีสัดส่วนการส่งออกที่โตแบบก้าวกระโดดจากปี 2544 ที่ขยายตัว 4.4% เป็น 9.0% ในปี 2549 ที่ผ่านมา เทียบกับ 3 ตลาดส่งออกข้างต้นซึ่งมีการขยายตัวลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมากที่สุดในโลก โดยในไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจจีนเติบโตถึง 11.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 3% ถือว่าสูงมาก นอกจากนี้จากเครื่องชี้ต่างๆ ในเดือนเม.ย.ของปีนี้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยภาคการส่งออกโตถึง 30% ขณะที่นำเข้าโตแค่ 15-17% ทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก ซึ่งมีค่าเงินดอลลาร์ที่เข้ามาในจีนจำนวนมากด้วย การลงทุนก็สูงถึง 25.9% เทียบกับที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้แค่ 20%เท่านั้น ส่วนปริมาณเงินในระบบก็สูงกว่าเป้าที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ที่ 16% แต่มีการเติบโตถึง 17.1% ด้านการปล่อยสินเชื่อก็โตถึง 16.5% และดัชนีตลาดหุ้นก็มีการเพิ่มขึ้นถึง 4,000 จุดในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลเศรษฐกิจจีน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|