ชี้ผลประเมินคลัสเตอร์สำเร็จเกินคาด ดันยอดผลิตและกำไรเอสเอ็มอีเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

กสอ.เผยความคืบหน้าการติดตามและประเมินผลโครงการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ โดยคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรเป็นที่น่าพอใจ ชี้จากการศึกษาวิสหากิจ 660 รายใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม พบความสำเร็จการรวมกลุ่มคลัสเตอร์คิดเป็นร้อยละ 83.4 ยอดการผลิตมูลค่าเพิ่มกว่า 19 ล้านบาท มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านบาท

นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Industrial Cluster Development) หลังจากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มอบให้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดตามและประเมินผลโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่ดำเนินงานมาตลอดปีงบประมาณ 2549 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การติดตามและประเมินผลคลัสเตอร์ ได้ดำเนินการศึกษาในกลุ่มวิสาหกิจเจ้าของโครงการ 660 ราย ใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ด้วยการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เข้าร่วม การเก็บข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆพบว่า การรับรู้และการตระหนักถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม มีผลเป็นที่น่าพอใจ

เพราะก่อนเข้าร่วม ความเข้าใจและการตระหนักถึงความสำคัญมีน้อยมาก แต่เมื่อเข้าร่วมแล้วมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคะแนนในส่วนความเข้าใจก่อนเข้าร่วมมีเพียง 4.6 คะแนน แต่หลังจากเข้าร่วมแล้วเพิ่มเป็น 7.9 คะแนน การตระหนักถึงความสำคัญ ก่อนเข้าร่วมมีเพียง 5.0 คะแนน แต่หลังเข้าร่วม เพิ่มเป็น 7.8 คะแนน

ขณะที่การดำเนินงานนั้น ผู้ประกอบการพบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ เช่น ความสำเร็จรวมของการดำเนินกิจกรรมพัฒนาการรวมกลุ่ม ได้ถึงร้อยละ 83.4. ขณะที่การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ร้อยละความสำเร็จเท่ากับร้อยละ 93 เป็นต้น การส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มนี้ยังทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพิ่มถึงร้อยละ 70.3 และหากมองถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรวมกลุ่ม พบว่า ทำให้เกิดการขยายการผลิตสินค้ามากขึ้น ยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 19,128,000 บาท อีกทั้งทำให้ประหยัดต้นทุนการจัดซื้อวัตถุดิบ เป็นเงินถึง 2,592,320 บาท วิสาหกิจที่เข้าร่วมมีกำไรเพิ่มขึ้น คิดเป็นเงิน 3,365,000บาท

“นอกจากนี้ยังพบว่า เกิดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการตลาดระหว่างสมาชิกมากขึ้น สมาชิกได้รับคำปรึกษาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มีการพัฒนาเทคโนโลยี ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 99,000 บาท และที่สำคัญยังก่อให้เกิดการผลิตสินค้าใหม่ ๆด้วย ” นายปราโมทย์กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้จะเสร็จสิ้นการดำเนินการตามกำหนดแล้ว แต่วิสาหกิจที่ได้รวมกลุ่มกันยังดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พบว่า ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน มีการขายสินค้าร่วมกันภายใต้ตราสินค้าของกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม และมีการแบ่งยอดสั่งซื้อ/รับช่วงการผลิตระหว่างสมาชิก และยังเกิดการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.