"ไดอาน่า" ตั้ง "ธยานี" เมื่อพิธานพาณิชย์จะติดปีก"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของ "พิธานพาณิชย์" ในภาคใต้เป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักดีในภาคใต้ในฐานะกลุ่มทุนที่มีธุรกิจแทบทุกด้าน แต่จากวันนี้ไป การขยับตัวของกลุ่มทุนนี้ด้วยการให้ "ไดอาน่า" ที่เป็นบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจห้างสรรพสินค้า ลงมาเป็นหัวหอกการรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ด้วยการตั้งบริษัท "ธยานี" ขึ้นมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกล่าวถึง เพราะนี่คือ การติดปีกให้กับพยัคฆ์ตัวใหญ่นั่นเอง…

เอ่ยชื่อ "พิธานพาณิชย์" …ไม่มีใครในภาคใต้ไม่รู้จัก!!!

โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง อันได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสตูล

ทั้งนี้เพราะ กลุ่มพิธานพาณิชย์ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ดังกล่าวมานานนับเกือบศตวรรษ จนทุกวันนี้วิถีชีวิตของคนไทยในหลายจังหวัดดังกล่าว ยังคงผูกพันกับกลุ่มพิธานพาณิชย์ตั้งแต่เช้ายันเย็น

ตัวอย่างเช่น บริษัทพิธานพาณิชย์ อันเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าใน 5 จังหวัดภาคใต้ นับเป็นดีลเลอร์ที่มียอดการจำหน่ายที่สูงมาก โดยเฉพาะจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญที่สุดของคนภาคใต้ เพราะเหมาะสมมากในการใช้งานในสวนยางพารา ชื่อของพิธานพาณิชย์และฮอนด้าจึงเป็นชื่อแรกที่คนใน 5 จังหวัดภาคใต้คิดถึงเมื่อจะซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์

ขณะเดียวกัน ในส่วนของธุรกิจของพิธานพาณิชย์ ยังมีธุรกิจรถประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัดปัตตานี-ยะลาอยู่ด้วย ดังนั้น กว่า 20 ปีที่บริการรถประจำทางดังกล่าว คนใน 2 จังหวัดดังกล่าวแทบทุกอำเภอ จะรู้จักชื่อของกลุ่มพิธานพาณิชย์ดี

นอกจากนั้น กลุ่มพิธานพาณิชย์ ยังมีธุรกิจต่อเนื่องจากการจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์อีกด้วย นั่นคือ สถานีบริการน้ำมันซึ่งใน 5 จังหวัด กลุ่มพิธานพาณิชย์มีสถานีบริการน้ำมันอยู่ประมาณ 20 สถานี และสถานีบริการน้ำมันเหล่านั้นกำลังเตรียมที่จะเปิดมินิมาร์ทด้วย หลังจากที่กลุ่มพิธานพาณิชย์ ไม่สามารถที่จะเจรจาการเปิดมินิมาร์ท "เซเว่น-อีเลเว่น" ด้วยการร่วมทุนกับซีพีได้

กล่าวถึงมินิมาร์ทแล้ว ในกลุ่มพิธานพาณิชย์ แม้วันนี้ เครือข่ายของห้างสรรพสินค้าของกลุ่มพิธานพาณิชย์ คือ ห้างไดอาน่า อาจจะยังไม่แพร่หลายในหลายจังหวัดเทียบเท่าคู่แข่งบางราย อย่างเช่น กลุ่มโอเชียน แต่ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นห้างในภาคใต้ที่มี BRAND LOYALTY มากที่สุดแห่งหนึ่ง

แม้กระทั่งในภูเก็ต จากการสำรวจของ "ผู้จัดการ" พบว่า มีกลุ่มทุนที่มีโครงการพัฒนาที่ดินโครงการใหญ่รายแห่ง กำลังทาบทามที่จะให้ห้างไดอาน่าขยายสาขาไปที่นั่น

อย่างไรก็ตาม เนตร จันทรัศมี กรรมการผู้จัดการห้างไดอาน่า กล่าวว่า โครงการเปิดสาขาในภูเก็ตนั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขอยู่ แต่โครงการเปิดสาขาของไดอาน่า อาจจะเริ่มที่ภาคใต้ตอนล่าง คือที่สุไหงโก-ลก และที่ยะลาก่อน เพราะกลุ่มพิธานพาณิชย์มีที่ดินอยู่แล้ว

นอกจากธุรกิจที่ค่อนข้างจะเป็นการทำงานเองแล้ว กลุ่มพิธานพาณิชย์ ยังธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมากด้วย นั่นคือ ธุรกิจสวนยางพาราและธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อส่งออก

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างนั้น เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มพิธานพาณิชย์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสวนยางพารามากที่สุดกลุ่มหนึ่งและกระจายอยู่ในหลาย ๆ อำเภอ นับตั้งแต่หลวงพิธานอำนวยกิจ หรือ จันฮกซุ่น สนใจธุรกิจนี้ ก็มีการซื้อที่ดินเพื่อปลูกยางพารามาก จนเป็นเหตุผลที่นำมาอธิบายว่า ทำไมกลุ่มพิธานพาณิชย์เป็นกลุ่มที่มีที่ดินมากที่สุดรายหนึ่ง

เช่นเดียวกับการทำธุรกิจของบริษัท คอนติเนนตัลแปซิฟิค ที่ทำด้านแปรรูปและส่งออกกุ้งและปลากระป๋อง ก็เป็นบริษัทที่ชาวบ้านที่มีอาชีพด้านประมงใน 5 จังหวัดผูกพันไม่น้อย เพราะการขายวัตถุดิบให้

นอกจากนั้น สำหรับคนในพื้นที่แล้ว เป็นที่กล่าวกันว่า การที่ลูกหลานเข้าทำงานในกลุ่มพิธานพาณิชย์แล้วเป็นเรื่องของความภาคภูมิใจของคนในครอบครัวทีเดียว

"เราจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนสูงกว่าบริษัทในท้องถิ่นอื่น ๆ แต่คงไม่เท่ากับบริษัทส่วนกลางแน่นอน" ผู้บริหารพิธานพาณิชย์คนหนึ่ง ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลที่เด็กที่จบในภาคใต้มักจะเลือกที่จะทำงานกับกลุ่มพิธานพาณิชย์ก่อนที่จะเลือกบริษัทอื่น

ยิ่งเมื่อบวกกับอนุสรณ์ที่หลวงพิธานอำนวยกิจทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงพยาบาล (อันเป็นที่มาของการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์) ด้วยแล้ว 5 จังหวัดภาคใต้รู้จักกับกลุ่มพิธานพาณิชย์เป็นอย่างดี

เรื่องของกลุ่มพิธานพาณิชย์ จึงยังคงเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวถึงตราบวันนี้ แม้นับจากก้าวแรกที่หลวงพิธานอำนวยกิจ หรือ จั่นฮกซุ่น เริ่มวางรากฐานพิธานพาณิชย์จะเป็นระยะเวลานานเกือบ 50 ปีแล้วก็ตาม (อ่านล้อมกรอบ)

และจากธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิง สู่ธรกิจค้ารถยนต์ ห้างสรรพสินค้า สวนยางพารา แต่จากวันนี้ไป ก้าวใหม่ของกลุ่มพิธานพาณิชย์ จะลงไปสู่ธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งยุคนั้นคือธุรกิจพัฒนาที่ดิน

"กลุ่มพิธาน เป็นกลุ่มที่ผมว่ามีที่ดินมากที่สุดในภาคใต้ทีเดียว โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดภาคใต้ที่เคยเป็นเมืองท่า ไม่ว่าจะเป็นปัตตานี สุไหงโก-ลก ยะลาหรือแม้แต่ในหาดใหญ่" อดีตนายแบงก์คนหนึ่งที่เบนเข็มมาทำงานกับบริษัทด้านการซื้อขายหุ้นในหาดใหญ่บอกกับ "ผู้จัดการ"

ถึงกับมีเรื่องเล่ากันทั่วหาดใหญ่ว่า มีอยู่วันหนึ่ง ธรรมนูญ โกวิทยา กรรมการผู้จัดการพิธานพาณิชย์ นั่งรถผ่านที่ดินและสนใจที่จะซื้อเพราะทำเลดี ก็เลยบอกให้คนไปติดต่อ ปรากฏว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ดินของหลวงพิธานอำนวยกิจเอง!!!

จึงไม่เป็นเรื่องแปลก ที่กลุ่มพิธานพาณิชย์จะหันมาเป็นกลุ่มทุนในด้านการพัฒนาที่ดิน!!

หัวหอกของกลุ่มพิธานพาณิชย์ ที่จะมาจับงานด้านเรียลเอสเตท ได้แก่ ไดอาน่า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือพิธานพาณิชย์ ที่ทำธุรกิจด้านห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก

เนตร จันทรัศมี กรรมการผู้จัดการ ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มพิธานพาณิชย์ให้ความสนใจที่จะลงไปในธุรกิจเรียลเอสเตท เนื่องจากมองว่า เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากธุรกิจหนึ่ง

"เราคงจะไม่ทำห้างตลอดชีวิตหรอก" เนตรย้ำ

ประจักษ์แรกที่เป็นรูปธรรมหลังจากที่เป็นนามธรรมจนกลุ่มทุนจำนวนหนึ่ง ไม่มั่นใจว่าไดอาน่าจะลงมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดินจริงหรือไม่ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่ดินบนถนนศรีภูวนารถของไดอาน่าในเขตเทศบาลเมืองหาดใหญ่ เป็นห้างสรรพสินค้าไดอาน่าสาขาศรีภูวนารถ หรือโครงการไดอาน่าคอมเพล็กซ์

นอกจากจะเป็นโครงการนำร่องเรื่องการพัฒนาที่ดินแล้ว โครงการนี้ยังชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ไดอาน่ามีกับบรรดากลุ่มทุนใหญ่ ๆ ในภาคใต้หลายกลุ่มด้วย เนื่องเพราะโครงการไดอาน่าคอมเพล็กซ์นี้ เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไดอาน่า กับกลุ่มชาญอิสระ ที่มีธุรกิจการพัฒนาที่ดินในส่วนกลางหลาย ๆ โครงการ อย่างเช่น โครงการชาญอิสระ 1 หรือ 2 รวมทั้งการพัฒนาที่ดินในภาคอื่น ๆ ด้วย

กล่าวกันว่า ภายหลังการลงทุนในการสร้างโครงการไดอาน่าคอมเพล็กซ์เสร็จสิ้นจนเป็นรูปเป็นร่าง ไดอาน่าก็อยู่ในสภาพ "เนื้อหอม" ที่หลายกลุ่มทุนในภาคใต้สนใจที่จะให้เข้ามาร่วมทุนพัฒนาที่ดินด้วย

นักวิเคราะห์บางคน ชี้ให้เห็นว่า การที่หลายกลุ่มทุน ทาบทามไดอาน่าเข้าไปพัฒนาที่ดินนั้น เนื่องจากมองเห็นว่า ไดอาน่ามีศักยภาพสูงพอที่จะพัฒนาร่วมได้

บางคนมองว่า การทาบทามนั้นก็เพื่อหวังโนว์ฮาวและชื่อเสียงของไดอาน่าในการเข้าไปทำห้างสรรพสินค้าในโครงการต่าง ๆ ที่พวกเขาจะทำ เพราะหลาย ๆ พื้นที่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้าที่จะดึงดูดคนให้มายังศูนย์ธุรกิจที่เขาทำ

ซึ่งบังเอิญตรงนั้น เป็นความชำนาญเฉพาะด้านที่ไดอาน่ามีอยู่แล้ว!!!

แต่การจีบไดอาน่าเข้าร่วมทุนด้วยนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย ซึ่งเนตรเปิดเผยว่า การที่จะลงทุนในการทำอสังหาริมทรัพย์ของไดอาน่านั้น จะอยู่ใน 2 รูปแบบเท่านั้น คือ รูปแบบแรก ไดอาน่า จะเข้าไปทำการพัฒนาที่ดินของตนเอง เนื่องจากที่กล่าวมาแล้วว่า กลุ่มพิธานพาณิชย์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีที่ดินมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในภาคใต้ ส่วนรูปแบบที่สองนั้น ก็คือ การเข้าร่วมทุนที่ไดอาน่ามีสัดส่วนและอำนาจเพียงพอที่จะตัดสินใจธุรกิจได้

"ตอนนี้ มีนักธุรกิจในภูเก็ตบางคน ทาบทามเราร่วมทุนในโครงการพัฒนาที่ดินที่นั่นแล้วด้วย" เนตรยอมรับกับ "ผู้จัดการ" เรื่องการร่วมทุนที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นรายแรกของการพัฒนาที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์นอกพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้

อย่างไรก็ตาม บรรดาคนในกลุ่มพิธานพาณิชย์ยอมรับว่า การลงทุนของกลุ่มพิธานพาณิชย์จะยังคงเน้นที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่เป็นฐานกำเนิดของพิธานพาณิชย์ เพราะพวกเขาเชื่อว่า เขารู้จักพื้นที่เหล่านั้นดี

ที่สำคัญก็คือ พิธานพาณิชย์มี "ฐาน" ในพื้นที่ 5 จังหวัดดังกล่าวแน่นมาก

ไม่ว่าจะเป็นฐานทางธุรกิจ ฐานทางการเมืองหรือฐานทางสังคม โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ที่ถือเป็นแหล่งทุนสำคัญของกลุ่มพิธานพาณิชย์

จะเห็นว่า ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นอกเหนือจากการเป็นฐานทางธุรกิจของกลุ่มพิธานพาณิชย์ที่มีธุรกิจในปัตตานีแทบจะทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ค้ารถยนต์ ค้ารถจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมยางพาราหรือกระทั่งธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแล้ว ปัตตานี ยังเป็นฐานทางการเมืองของกลุ่มพิธานพาณิชย์ด้วย

คนที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของกลุ่มพิธานพาณิชย์ที่ทำฐานทางการเมืองในจังหวัดปัตตานีอยู่ก็คือ สายไหม โกวิทยา นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันของเทศบาลเมืองปัตตานี ที่ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองแล้ว

แม้กระทั่ง เนตร จันทรัศมี ก็ยังเป็นสมาชิกสภาเทศบาลคนหนึ่งของปัตตานี

ต้องเข้าใจว่า สำหรับท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความแปลกแยกในหลาย ๆ ด้านอย่างจังหวัดปัตตานีแล้ว การเป็นหนึ่งในการเมืองท้องถิ่น เป็นเรื่องที่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจไม่น้อย อย่างน้อยตำแหน่งทางการเมือง จะช่วยพวกเขาได้ขั้นหนึ่ง เมื่อมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับธุรกิจของพวกเขา

กรณีอย่างนี้ ไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับพื้นที่ล่อแหลมเพราะมีเรื่องเกี่ยวกับศาสนาอย่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แม้กระทั่งในพื้นที่อื่น ๆ กลุ่มทุนท้องถิ่น ต่างก็พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่นหรือการเมืองระดับชาติ เพื่อเป็นเกราะคุ้มครองพวกเขา

ตัวอย่างที่สามารถอรรถาธิบายให้เห็นได้ก็อย่างเช่น ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ของวรกร ตันตรานนท์ ทายาทของกลุ่มตันตราภัณฑ์ในเชียงใหม่ หรือภูมิศักดิ์ หงษ์หยก นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองภูเก็ต ที่เป็นหนึ่งในตระกูลเก่าแก่ที่มีธุรกิจหลายแขนงในภูเก็ต

หรือในระดับชาติ การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสงขลา ของลาภศักดิ์ ลาภาโรจน์กิจ แห่งกลุ่มบ้านซูซูกิ และอัญชลี วานิชเทพบุตร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์แห่งภูเก็ตก็มิอาจไม่อธิบายว่า สามารถที่จะเอื้อต่อธุรกิจของกลุ่มได้ด้วยตำแหน่งทางการเมือง

จากการศึกษาของอุกฤษดิ์ ปัทมานันท์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวอธิบายถึงเรื่องที่บรรดากลุ่มทุนท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องส่งคนในตระกูลลงสมัครเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองท้องถิ่นหรือการเมืองระดับชาติเอาไว้ว่าเป็นเหตุผลของการปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

อรรถาธิบายดังกล่าว อุกฤษดิ์ยกตัวอย่างถึงกลุ่มทุนในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสารสินแห่งไทยน้ำทิพย์ กลุ่มรัตตกุลแห่งเยาวราช กลุ่มโอสถานุเคราะห์แห่งโอสถสภา หรือกลุ่มวงศ์วรรณ กลุ่มเทียนทอง กลุ่มหาญสวัสดิ์ ไกรฤกษ์ สภาวสุ ก็ไม่พ้นเรื่องดังกล่าว

"ตระกูลเหล่านี้จะมีทั้งพ่อ-ลูก พี่น้อง พี่เขย หลาน สะไภ้ ลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อม ๆ กัน…" ข้อศึกษาของอุกฤษดิ์ตอนหนึ่งอรรถาธิบาย โดยให้เหตุผลว่า การลงมาด้านการเมืองของกลุ่มทุนท้องถิ่นนั้น เริ่มตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าการเมืองแบบเปิดของพลเอกเปรม จะเป็นช่องทางของการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้

จึงไม่เป็นเรื่องแปลก ที่กลุ่มพิธานพาณิชย์ก็ต้องหาทางออกเช่นนี้ด้วย

เพียงแต่คนของพิธานพาณิชย์ ยังไม่มองถึงการเมืองในระดับชาติ

"ผมเป็นสมาชิกเพื่อยกมือและแสดงความเห็นเท่านั้น" เนตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการเป็นสมาชิกสภาเทศบาลของเขาในทีมเดียวกับน้าของเขา สายไหม โกวิทยา นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี อันสามารถที่จะตีความได้ด้วยว่า เขาก็ต้องเข้าไปเพื่อปกป้องธุรกิจของตระกูลในเมืองปัตตานี

เหตุผลที่ทำให้สามารถที่จะตีความดังกล่าวได้นั้นก็เนื่องจาก การประกอบธุรกิจของกลุ่มพิธานพาณิชย์นั้น (ดูตารางประกอบ) จะเห็นว่าหลาย ๆ ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องอาศัยเส้นสายทางด้านการเมืองเข้ามาเอื้อประโยชน์ อย่างเช่น สัมปทานเดินรถซึ่งเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับภาครัฐ การที่กลุ่มพิธานพาณิชย์มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มการเมืองหรือลงมาสร้างฐานทางการเมืองเองแล้ว โอกาสที่งานดังกล่าวของพวกเขาจะราบรื่นต่อไปก็มีมาก

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนในการเมืองของคนในตระกูลของหลวงพิธานอำนวยกิจ ไม่สามารถที่จะกล่าวได้เต็มปากว่า เป็นการทำงานด้านการเมืองเพื่อปกป้องประโยชน์ของกลุ่มทุนของตน เนื่องเพราะดูเหมือนว่าชาวปัตตานี ต่างก็พอใจ "นายกหญิง" ของพวกเขามาก

"ชาวบ้านต่างก็พูดว่า ผู้หญิงบริหารงานเก่งกว่าผู้ชาย เพราะคุณสายไหมทำงานดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับนายกคนก่อน ๆ" คนในปัตตานีหลายคนกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากนั้นจากการเดินทางไปสำรวจและพบกับชาวบ้านในปัตตานีเกือบทุกคนยืนยันว่า ผลงานของสายไหมในปัตตานีนั้น เป็นที่พอใจของคนปัตตานีมาก โดยเฉพาะในเรื่อง INFRASTRUCTURE อย่างถนนหนทางในเมืองปัตตานีวันนี้ มีความสะดวกไม่แพ้เมืองใหญ่ ๆ เมืองอื่นในจังหวัดภาคใต้เลย

แน่นอน การสร้างความเจริญดังกล่าวของสายไหม ย่อมไม่พ้นที่จะต้องถูกมองว่า เป็นการพัฒนาที่กลุ่มพิธานพาณิชย์ได้รับผลประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ถนนสายเศรษฐกิจสายสำคัญของเมืองปัตตานีคือถนนนาเกลือ ได้รับการพัฒนาเป็นอย่างดี จนกลายเป็นถนน 8 เลนมีเกาะกลาง เพราะถนนสายนั้น เป็นถนนที่กลุ่มพิธานพาณิชย์ มีเครือข่ายมากที่สุดในปัตตานี!!

ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าไดอาน่าก็อยู่บนถนนสายนั้น บริษัทพิธานพาณิชย์ สถานีบริการน้ำมันหรือกระทั่งเส้นทางเดินรถปัตตานี-ยะลา ก็จะเริ่มตรงนั้น

"คุณสายไหมเป็นนายกนี่เปลืองตัวนะครับเป็นแค่สองสมัยนี่หมดเงินไปเยอะ เพราะงานสังคมมาก และเราก็รู้ว่าจะต้องมีคนกล่าวถึง แต่เราก็ไม่กลัวอะไรเพราะทุกอย่างเราทำอย่างบริสุทธิ์ใจ อย่างเรื่องระบบไฟสัญญาณจราจรนี่ ไปตรวจสอบได้เลยจะรู้ว่า เทศบาลปัตตานีประมูลก่อสร้างได้ราคาต่ำที่สุดในประเทศไทย" เนตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมทั้งเสริมด้วยว่า สายไหมได้กล่าวว่า การเป็นนายกเทศมนตรีครั้งนี้ คงจะเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการรับตำแหน่งเพียง 2 สมัยเพื่อเปิดทางให้คนอื่นต่อไป

แต่เนตรยืนยันว่า กลุ่มพิธานพาณิชย์ ไม่เคยมีการวางแผนว่าการทำงานด้านการเมืองของสายไหมนั้น เป็นการทำเพื่อกลุ่ม ดังนั้น เมื่อสายไหมวางมือไม่สมัครเลือกตั้งสภาเทศบาลในสมัยหน้า ก็คงจะไม่มีคนของกลุ่มพิธานพาณิชย์ลงสมัครต่อไปแน่นอน

"ผมเองก็คงจะไม่ลงสมัครในสมัยหน้าอีกเพราะงานของผมมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายสาขาไดอาน่าหรือการทำธุรกิจใหม่ ๆ" เนตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" แต่ยอมรับว่า แผนการเปิดสาขาใหม่ของไดอาน่าที่สุไหงโก-ลก และที่ยะลานั้นอาจจะต้องเลื่อนออกไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ในท้องถิ่น

การเปิดสาขาของไดอาน่าอาจจะเลื่อน แต่งานขยายตัวของไดอาน่าและพิธานพาณิชย์จะไม่มีการเลื่อนอย่างแน่นอน!!!

หลาย ๆ แผนงานจึงถูกร่างไว้เป็นอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะแผนงานที่จะลงมาด้านพัฒนาที่ดินอย่างเต็มตัวมากขึ้นของไดอาน่า

ความจริง จะว่าไปแล้ว พิธานพาณิชย์เองมีการวางแผนที่จะขยายธุรกิจใหม่ ๆ เสมอมาในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่คนของพิธานพาณิชย์มีความรู้ความสามารถและมีคอนเน็คชั่นอยู่แล้ว

อย่างเช่นที่ครั้งหนึ่ง พิธานพาณิชย์ถึงขั้นเสนอที่จะซื้อกิจการ บริษัทเงินทุนธนทุน ซึ่งมีการอธิบายในกลุ่มผู้บริหารพิธานพาณิชย์ว่า เพื่อหันมาทำธุรกิจใหม่มากขึ้น

แต่การเจรจาครั้งดังกล่าว ล้มเหลวเพราะคนของพิธานพาณิชย์ ไม่ได้เข้าพบกับผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากการผิดพลาดเรื่องเวลา จนกลายเป็นว่า ผู้บริหารพิธานพาณิชย์ไปสายกว่าเวลาที่นัดหมาย จึงไม่ได้เข้าเจรจากับแบงก์ชาติ

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยว่า ความจริงแล้วกลุ่มพิธานพาณิชย์ไปถึงแบงก์ชาติก่อนเวลานัดหมายแล้ว และมีการบอกกับเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัดหมายเจรจา เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติกลับไม่ได้เรียกผู้บริหารของพิธานพาณิชย์ไปพบ จนกลายเป็นว่ากลุ่มพิธานพาณิชย์ ไม่สนใจที่จะเข้าบริหารธนทุนอย่างจริงจัง

แหล่งข่าวในแวดวงการเงินหลายคน เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า การเข้ามาเพื่อทำธุรกิจด้านเงินทุนของพิธานพาณิชย์นั้น ไม่ได้มาเพียงกลุ่มเดียวหากแต่เป็นการร่วมทุนกับกลุ่มทุนใหญ่ของส่วนกลางอีกกลุ่มคือกลุ่มของสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะประมูลซื้อกิจการของธนทุนได้

พิธานพาณิชย์จึงอกหักไปตามระเบียบ

ทำให้ไม่มีใครทราบมากนัก ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างพิธานพาณิชย์กับสมศักดิ์ มีมากน้อยแค่ไหน

แต่กลุ่มพิธานพาณิชย์ก็ยังสนใจที่จะลงมามีธุรกิจทางด้านการเงิน (นอกเหนือจากบริษัทยูไนเต็ดลีสซิ่ง) ดังนั้นเมื่อปีที่ผ่านมา พิธานพาณิชย์จึงจับมือกับกลุ่มเกียรตินาคิน ร่วมตั้งบริษัททำธุรกิจเช่าซื้อขึ้นในหาดใหญ่ คือบริษัทอรรถกรขึ้นมา อันเป็นการเสริมธุรกิจค้ารถยนต์ของพิธานพาณิชย์อีกทาง

แม้วันนี้ยังมองไม่เห็นถึงความสำเร็จของอรรถกร ภายใต้การบริหารของบริษัทพิธานพาณิชย์ ที่มีธรรมนูญ โกวิทยา เป็นผู้บริหารสูงสุด ในการร่วมทุนกับกลุ่มเกียรตินาคิน แต่ใครจะกล้าประมาทว่าในอนาคต อรรถกรจะไม่เป็นหนึ่งในบริษัทเช่าซื้อท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

"อรรถกรนี่เราไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อ SUPPORT เฉพาะลูกค้าของพิธานพาณิชย์เท่านั้น แต่เราจะให้บริการกับผู้ที่ซื้อรถทุกคนจากทุกบริษัท" ธรรมนูญ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงธุรกิจใหม่ล่าสุดของกลุ่มพิธาน

จะเห็นว่า แนวทางการเปิดธุรกิจใหม่ ๆ ของพิธานพาณิชย์ จะยังคงเดินไปในรูปแบบอย่างที่ปรากฏในระยะหลัง ๆ นั่นคือ การเปิดสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนอื่น ๆ ที่มีความรู้ความสามารถและบุคลากรในธุรกิจที่พิธานพาณิชย์สนใจที่จะลงไปทำ

ขณะเดียวกัน ธุรกิจใหม่ที่ว่า อย่างเช่นการเปิดอรรถกรขึ้นมานั้น ถือเป็นทั้งการรับและรุกของตัวบริษัทพิธานพาณิชย์ด้วย เนื่องจากในตลาดรถยนต์ในหาดใหญ่ สงขลาและจังหวัดใกล้เคียงนั้น กลุ่มพิธานพาณิชย์ได้ถูกบรรดาคู่แข่งอาศัยความคล่องตัวในการบริหาร เปิดแผนการตลาดรุกพิธานพาณิชย์อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง (หรืออีซูซุหาดใหญ่) ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุอีกราย ชิงความได้เปรียบด้วยการเปิดบริษัทลีสซิ่ง คือบริษัทนครหลวงเจริญเช่าซื้อ ด้วยการร่วมมือกับธนาคารนครหลวงไทย ก็เป็นการรุกให้พิธานพาณิชย์ไม่สามารถที่จะหยุดอยู่แค่การขายรถเพียงอย่างเดียว การเปิดอรรถกรโดยการจับมือกับกลุ่มเกียนตินาคินจึงเป็นทางรับและรุกของพิธานพาณิชย์อีกทาง

ธรรมนูญ โกวิทยา กรรมการผู้จัดการบริษัทพิธานพาณิชย์ ซึ่งชอบที่จะให้คนทั่วไปเรียกเขาว่า "นายห้าง" ซึ่งดูแลสาขาหาดใหญ่ กล่าวให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า การเตรียมออกพื้นที่ใหม่ ๆ ของกลุ่มพิธานพาณิชย์ในอนาคตนั้น คงจะไม่จำเป็นที่จะต้องกระจุกอยู่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างที่เป็นฐานสำคัญของกลุ่มพิธานพาณิชย์เท่านั้น หากแต่พื้นที่ใดเหมาะสม พิธานพาณิชย์ก็พร้อมที่จะลงไปทำธุรกิจที่นั่น

ซึ่งดูจะตรงกับที่มีข่าวว่า พิธานพาณิชย์อาจจะไปเปิดสาขาที่ภูเก็ตหรือที่สุราษฎร์ธานี หากดีลเลอร์เก่าที่นั่น ยินยอมที่จะให้มีตัวแทนอีกรายของโตโยต้า

แต่ขีดจำกัดของบริษัทพิธานพาณิชย์มีมากกว่าไดอาน่า ตรงที่การขยายงาน ต้องมีการยื่นเรื่องขออนุมัติจากบริษัทโตโยต้ามอเตอร์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นดีลเลอร์ของรถยนต์โตโยต้า ความสำคัญจากนี้ไปของกลุ่มพิธานพาณิชย์ จึงอยู่ที่ไดอาน่ามากกว่าพิธานพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ขีดจำกัดของการเข้าไปพัฒนาที่ดินในอนาคตของกลุ่มพิธานพาณิชย์ ไม่ได้เกิดขึ้นกับพิธานพาณิชย์เท่านั้น หากแต่ในส่วนของไดอาน่าดีพาร์ทเมนต์สโตร์ หนึ่งในบริษัทในเครือของพิธานพาณิชย์เองก็มีขีดจำกัด จึงไม่เป็นเรื่องแปลก หากยักษ์ใหญ่ในวงการพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในอนาคตของภาคใต้ จะเป็นชื่อ "บริษัทธยานี"

เจ้าหน้าที่ระดับบริหารคนหนึ่งของห้างไดอาน่ากล่าวถึงขีดจำกัดของไดอาน่าต่อการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า เนื่องจากไดอาน่า ได้ยื่นเรื่องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในประเภทธุรกิจห้างสรรพสินค้า จึงไม่เหมาะสมที่จะลงมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดินด้วย

ความคืบหน้าของการยื่นเรื่องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกสินเป็นที่ปรึกษาการเงินนั้น เนตรกล่าวว่า ติดปัญหาเรื่องเดียว คือเรื่องกฎใหม่ที่ว่า บริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น จะต้องมีกำไรติดต่อกัน 3 ปี ไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ไดอาน่าลงทุนขยายสาขาใหม่คือ ที่สาขาถนนศรีภูวนารถ จึงไม่สามารถที่จะทำกำไรได้ตามเป้าหมาย แต่เชื่อว่าในปีหน้า (2537) ผลการดำเนินงานคงจะเป็นไปตามเป้าเพราะปัจจุบัน สาขาศรีภูวนารถเป็นสาขาที่ทำกำไรสูงมากสาขาหนึ่ง

และธยานี สมควรที่จะถูกจับตามองเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นบริษัทถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับสองในไดอาน่า คือถืออยู่ 2.5 ล้านหุ้น (จากจำนวนทั้งหมด 7.5 ล้านหุ้นหรือทุนจดทะเบียน 75 ล้านบาท) รองจากบริษัทพิธานพาณิชย์ ที่ถือหุ้นใหญ่ 2.7 ล้านหุ้น

"ผมตั้งขึ้นมาเอง เพื่อเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีของไดอาน่า ตอนนี้ยังไม่ประกอบธุรกิจอะไร แต่ในอนาคต ธยานีจะเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์ที่ผมกำลังจะดำเนินการ" เนตรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" หลังจากอธิบายว่า เป้าหมายแรกในตอนนี้ก็คือ การนำห้างไดอาน่า เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก่อน

สำหรับบริษัท ธยานี ซึ่งเนตรเปิดเผยว่า เป็น HOLDING COMPANY ของไดอาน่านั้นมีทุนจดทะเบียน 25,200,000 บาท มีเนตรเป็นกรรมการผู้จัดการ ส่วนผู้ถือหุ้นนั้น เป็นคนในตระกูลจันทรัศมีและโกวิทยาทั้งสิ้น โดยบรรเวช จันทรัศมี ถือหุ้นใหญ่จำนวน 21,420 หุ้น (จากทั้งหมด 252,000 หุ้น) รองมาเป็นบรรจบ จันทรัศมี 20,916 หุ้น

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาของธยานี ยังเป็น 4 คนที่เป็นที่ปรึกษาของไดอาน่า คือ วีระวัฒน์ บุณยเกตุ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี สืบตระกูล สุนทรธรรม กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ล็อกซ์เลย์ (กรุงเทพ) ธัลดล บุนนาค รองประธานกรรมการ เอไอ เอ. ดร.สมภพ เจริญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการล็อกซ์เลย์(กรุงเทพ) และมีประภาสน์ อวยชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ขณะที่คุณหญิงสุธรรมา อวยชัยก็ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในบริษัทธยานีอยู่ด้วย

การเข้ามาเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีและถือหุ้นใหญ่ในไดอาน่าของธยานี จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

เนื่องเพราะธยานี คืออนาคตของกลุ่มพิธานพาณิชย์!!!

นั่นหมายความว่าอนาคตด้านการพัฒนาที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์ จะอยู่ที่การตัดสินใจของธยานีว่าจะทำโครงการอะไร ในพื้นที่ไหน ซึ่งโครงการไดอาน่าคอมเพล็กซ์บนถนนศรีภูวนารถในหาดใหญ่เป็นโครงการที่หลายคนกล่าวว่า นั่นคือรูปแบบของการพัฒนาที่ดินที่กลุ่มพิธานพาณิชย์ โดยไดอาน่าจะเป็นหัวหอกในการดำเนินงาน

กล่าวคือ การพัฒนาที่ดินดังกล่าว จะเป็นไปใน 2 รูปแบบดังกล่าวข้างต้น คือ รูปแบบแรก เป็นการพัฒนาที่ดินของตนเอง ซึ่งรูปแบบนี้ ก็คือโครงการไดอาน่าคอมเพล็กซ์ดังกล่าวนั่นเอง เนื่องจากที่ดินนั้นเป็นที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์ เพียงแต่อาศัยความรู้ความชำนาญด้านการพัฒนาที่ดินชาญอิสระ มาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาที่ดิน

"ที่ดินของกลุ่มพิธานมีมากที่จะพัฒนาต่อไป.." เนตรกล่าวอธิบายพร้อมทั้งย้ำว่า คงจะเริ่มในที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์ในภาคใต้ตอนล่างที่อาจจะมีสาขาใหม่ของไดอาน่าอยู่ด้วย อย่างเช่นที่สุไหงโก-ลกหรือที่ยะลา ขณะที่ที่ดินของหลวงพิธานอำนวยกิจในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งมีไม่มากนัก เช่น ที่ภูเก็ตหรือที่สุราษฎร์ธานี ก็จะยังไม่มีแผนที่จะพัฒนาในช่วงนี้

"อย่างที่ยะลา เรากำลังศึกษาที่จะพัฒนาพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบริษัทอยู่ให้เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่อย่างที่ศรีภูวนารถ

รูปแบบที่สอง ก็คือ การที่ไดอาน่า (หรือธยานี) จะเข้าไปพัฒนาที่ดินในที่ดินอยู่ใน 5 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น เราพร้อมที่จะเข้าไปพัฒนาที่ดินในทุก ๆ พื้นที่ที่เหมาะสม อย่างเช่น การเข้าไปสร้างห้างในจังหวัดอื่น ๆ หรือการจับมือกับคนอื่น ๆ ทำโครงการ" กรรมการผู้จัดการไดอาน่า ในฐานะผู้ตั้งธยานีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในเชิงยอมรับถึงรูปแบบการพัฒนาแบบที่สอง ที่เริ่มมีการทาบทามไดอาน่าบ้างแล้ว

ปัญหาจากนี้ไปก็คือ ธยานี-ไดอาน่า พร้อมแค่ไหนที่จะเข้าพัฒนาที่ดินเท่านั้น?

"เราไม่มีปัญหาเรื่องคน ทั้งในตระกูลหรือคนนอกตระกูล…" ทายาทหลวงพิธานอำนวยกิจที่จะเป็นผู้ดูแลอนาคตสำคัญของกลุ่มพิธานพาณิชย์กล่าวเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" พร้อมทั้งอรรถาธิบายถึงคนในตระกูลของหลวงพิธานอำนวยกิจ ซึ่งมีทั้งคนที่ใช้สกุล "จันทรัศมี" และ "โกวิทยา" ว่าพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวอยู่เสมอ

ตัวอย่างของคนที่เป็นบุตรเขยหรือหลานเขยของหลวงพิธานอำนวยกิจ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มทุนนี้ได้ในอนาคตหากมีความจำเป็นนั้นมีมากมายที่เป็นที่รู้จัก ทั้งในฐานะนักบริหารอาชีพหรือข้าราชการระดับสูง เช่น ดร. สมภพ เจริญกุล อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่แบงก์ศรีนคร ธัลดล บุนนาค รองประธานเอไอเอ. วีระวัฒน์ บุณยเกตุ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีวิทยา หรือนักบริหารการเงินอย่าง สืบตระกูล สุนทรธรรม กรรมการรองกรรมการผู้จัดการล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพ) ต่างก็คือคนในตระกูลของหลวงพิธานพาณิชย์ ที่พร้อมจะเข้ามาช่วยงานของกลุ่มทุนนี้ได้เมื่อจำเป็น

อย่างเช่นที่ ดร. สมภพ เจริญกุล สืบตระกูล สุนทรธรรม ก็เป็นบุคคลในคณะกรรมการบริษัทไดอาน่าดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ขณะที่วีระวัฒน์ และธัลดลเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัทที่พร้อมที่จะให้คำแนะนำบริษัทในการพัฒนาบริษัทเสมอมา

ทั้งธรรมนูญ โกวิทยา และ เนตร จันทรัศมี กล่าวถึงเรื่องของบุคคลที่เป็นมืออาชีพในวงการธุรกิจที่เป็นเขยของหลวงพิธานพาณิชย์ว่า ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นอกจากการเป็นที่ปรึกษาและถือหุ้นตามกฎหมายที่ไม่ขัดกับงานในปัจจุบันแล้ว ยังไม่เข้ามาเกี่ยวข้องมากนักกับงานของกลุ่มพิธานพาณิชย์

"คนเหล่านี้พร้อมที่จะเข้ามาช่วยงานของกลุ่มตลอด หากเราขาดคน" เนตรยืนยัน

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมานั้น คนรุ่นลูกรุ่นหลานของหลวงพิธานพาณิชย์ ต่างก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มพิธานพาณิชย์บ้างแล้ว ภายหลังจากที่ต่างก็กลับมาจากการศึกษาต่อในต่างประเทศ (ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นคำสั่งเสียของหลวงพิธานที่จะให้ลูกหลานไปเรียนต่อที่เมืองนอก) เพียงแต่ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นงานเท่านั้น

ชื่อของลูกหลานอย่าง บันลือ บรรเลง บรรเวช จันทรัศมี จึงกระจายอยู่ในสาขาต่าง ๆ เพื่อศึกษางานของกลุ่มพิธานพาณิชย์

เรื่องบุคลากรของพิธานพาณิชย์กรุ๊ป จึงเป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับงานใหญ่

จากนี้ไป บทบาทของบริษัทพิธานพาณิชย์ในกลุ่มพิธานพาณิชย์ จะเริ่มลดลงมาอย่างเห็นได้ชัดแน่นอนหลังการตั้งธยานีขึ้นมาของเนตร จันทรัศมี บัณฑิตปริญญาโท รัฐศาสตร์ สาขาบริหารงานบุคคล เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัย NORTHERN UNIVERSITY ที่จะเป็นแกนนำในการก้าวกระโดดของธุรกิจของกลุ่มพิธานพาณิชย์ด้วยการเข้าไปสู่อุตสาหกรรมพัฒนาที่ดิน

ทั้งนี้ บริษัทพิธานพาณิชย์ดีลเลอร์รถยนต์โตโยต้าที่ได้ชื่อว่าเป็นดีลเลอร์ที่โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทยให้ความเกรงใจมากที่สุดบริษัทหนึ่ง ก็คงจะมองในเรื่องของการทำตลาดรถยนต์เป็นหลักอย่างที่ธรรมนูญ โกวิทยาตั้งใจเอาไว้

เฉพาะบทบาทตรงนั้นของธรรมนูญ ก็นับว่าเป็นงานหนักมาก เพราะนอกจากการบุกตลาดรถยนต์ของค่ายอื่น ๆ อย่างหนัก เช่น กลุ่มปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง ที่ลงทุนสร้างศูนย์บริการอีซูซุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่หาดใหญ่แล้ว ค่ายนิสสันของสยามกลการก็มีการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายเป็น 2 ราย คือ นอกจากสาขาของสยามกลการเองแล้ว ก็มีการตั้งกลุ่มสงวนพาณิชย์เป็นตัวแทนจำหน่ายรถนิสสันขึ้นมาอีกรายในนาม "นิสสันสงวน"

แม้กระทั่งค่ายโตโยต้าเอง พิธานพาณิชย์ก็หนักใจมาก เพราะจากสภาพการเป็นดีลเลอร์โตโยต้าในจังหวัดสงขลาเพียงรายเดียว ปรากฏว่าเมื่อปีที่ผ่านมา โตโยต้ามอเตอร์แห่งประเทศไทย เพิ่งตั้ง "โตโยต้า สงขลา" ขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายใหม่ ซึ่งนับเป็นคู่แข่งประเภท "ศึกสายเลือด" ที่น่ากลัวพอสมควร เพราะกลุ่มนี้คือ กลุ่มบ้านซูซุกิ ยักษ์ใหญ่วงการธุรกิจภาคใต้อีกราย

"จริง ๆ แล้วโตโยต้าพอใจกับการทำตลาดของพิธาน แต่ต้องตั้งดีลเลอร์เพิ่มเพราะคู่แข่งใหญ่ ๆ มีหลายดีลเลอร์นั่นเอง" คนในวงการรถยนต์หาดใหญ่ให้ความเห็น

จึงเป็นภารกิจที่ทำให้ธรรมนูญต้องเน้นงานของพิธานพาณิชย์เพียงอย่างเดียว

ขณะที่ความที่เป็นกลุ่มที่มี LAND BANK มากที่สุดกลุ่มหนึ่งของภาคใต้ โอกาสการโตทางด้าน REAL ESTATE ของกลุ่มพิธานพาณิชย์ จึงไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใด

เพียงแต่ LAND BANK หลายแห่งของกลุ่มพิธานพาณิชย์ ที่หลวงพิธานอำนวยกิจทิ้งไว้เป็นมรดกนั้น ไม่สามารถที่จะนำมาพัฒนาได้ง่ายนักด้วยติดปัญหาหลายประการ คือ ก่อนที่จะเสียชีวิต หลวงพิธานอำนวยกิจได้สั่งบรรดาลูกหลานเอาไว้ว่า หากผู้เช่าที่ดินอยู่ไม่ประสงค์ที่จะออกจากที่ดินดังกล่าวเพราะยังไม่หมดสัญญา ก็ห้ามบีบบังคับให้ผู้เช่าออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งตัวอย่างที่เห็นในกรณีนี้ก็คือการที่ห้างสรรพสินค้าไดอาน่า สาขานิพัทธ์อุทิศ 3 ไม่สามารถขยายพื้นที่ขายได้เพราะมีผู้เช่าหลายรายบนที่ดินของหลวงพิธานอำนวยกิจไม่พร้อมที่จะออกจากที่ดินดังกล่าว

เนตรเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเรื่องที่ดินดังกล่าวนั้นว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ห้างไดอาน่าที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากพื้นที่ตรงโรงแรมถิ่นเอก ซึ่งอยู่ด้านหลังของห้างไดอาน่าที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 ยังไม่หมดสัญญา จึงไม่สามารถที่จะให้คนเช่าทำโรงแรมออกไปได้ ถึงขั้นที่เนตรต้องการเจรจาซื้อโรงแรมแต่ยังไม่สำเร็จ

ครั้งล่าสุดเนตรกล่าวว่า กำลังจะเจรจาอีกครั้ง เพื่อหาทางขยายห้างไดอาน่า ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งโรงแรมถิ่นเอกที่ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2 หรือร้านค้าต่างๆ ที่ถนนศุภสารรังสรรค์

ประการต่อมาก็คือ ที่ดินส่วนใหญ่ของหลวงพิธาน (ที่มีคนเช่า) ยังคงกระจุกอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนอกเหนือจากที่ดินจังหวัดสงขลาแล้ว ดูเหมือนสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่เอื้ออำนวยที่จะลงทุนพัฒนาที่ดินมากนัก

แต่เนตร จันทรัศมี ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของกลุ่มพิธานพาณิชย์ ผู้ยืนยันว่า การเติบโตที่ผ่านมาของไดอาน่า มาจากการทำงานของไดอาน่าเอง ยืนยันว่าอนาคตของกลุ่มพิธานพาณิชย์ จะเน้นไปในเรื่องการพัฒนาที่ดินเป็นหลัก

"การเติบโตของไดอาน่า พิธานพาณิชย์มีส่วนน้อยมาก กล่าวคือ มีส่วนในเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งเราเช่าในราคาต่ำและเป็นกลุ่มทุนที่มี CONNECTION กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ดี ทำให้เราสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ารายอื่น" เนตรกล่าว

นั่นหมายความว่า เนตรยอมรับว่า การเป็นหนึ่งในกลุ่มพิธานพาณิชย์ เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาที่ดิน แม้จะไม่มากนักก็ตาม

ที่สำคัญ ก็คือ ที่ดินของกลุ่มพิธานพาณิชย์ นอกเหนือจากมีมากใน 5 จังหวัดภาคใต้แล้ว กลุ่มนี้ยังมีในอีกหลาย ๆ แห่ง แม้กระทั่งในกรุงเทพ

ที่เห็นชัดเจนก็คือ ที่ดินของบริษัทพิธานพาณิชย์ 2 แห่งในกรุงเทพ ต่างก็เป็นที่ดินที่สามารถที่จะพัฒนา เป็นโครงการใหญ่ได้ไม่ว่าที่ดินตรงสุรวงศ์หรือที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ที่เชื่อกันว่าหากกลุ่มทุนใหญ่ของภาคใต้กลุ่มนี้ จะลงมาทำธุรกิจการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพ พวกเขาก็คงจะเริ่มจากที่ดินของเขาเอง ใน 2 ทำเลดังกล่าวก่อนอย่างแน่นอน

ประการต่อมาก็คือ การที่กลุ่มพิธานพาณิชย์มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนที่มีธุรกิจด้านการพัฒนาที่ดินระดับชาติอย่างน้อยที่เห็นชัดในขั้นนี้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มเกียรตินาคิน ที่มีการร่วมทุนกันตั้งบริษัทอรรถกรขึ้นมา เพราะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเข้าสู่ธุรกิจการพัฒนาที่ดินมากขึ้น หลังจากที่มีโครงการอัมรินทร์พลาซ่า และอีกกลุ่มก็คือ กลุ่มชาญอิสสระ ซึ่งได้ร่วมทุนกับไดอาน่า ทำโครงการพัฒนาที่ดินในหาดใหญ่ร่วมกันคือ ไดอาน่าคอมเพล็กซ์ ซึ่งนับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงโครงการหนึ่งในหาดใหญ่

การเข้าร่วมทุนกับ 2 กลุ่มข้างต้น อาจจะเป็นการเริ่มต้นในการเรียนรู้ธุรกิจการพัฒนาที่ดินของไดอาน่า แต่เป็นการเรียนรู้ทางลัดในรูปแบบของ ON THE JOB TRAINING ด้วยการลงมือทำจริง

เมื่อบวกกับการตั้ง "ธยานี" ขึ้นมาเพื่อพัฒนาที่ดินโดยเฉพาะ บทบาทจากนี้ไปของกลุ่มทุนยักษ์ในภาคใต้ที่ชื่อ "กลุ่มพิธานพาณิชย์" จึงเป็นบทบาทที่น่าสนใจ ต่อการก้าวขยับในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

และเมื่อพยัคฆ์ติดปีก มีหรือที่จะหยุดอยู่กับที่

บางที การพัฒนาที่ดินในกรุงเทพในอนาคต ชื่อของ "ธยานี" จึงอาจจะเป็นชื่อที่ต้องเอ่ยถึงอีก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.