ธปท.ชี้ส่งออกวูบฉุดบาทอ่อน


ผู้จัดการรายวัน(25 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติหวังแรงกดดันบาทแข็งค่าจะไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้ เหตุแนวโน้มส่งออกชะลอตัวตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลก คาดดุลการชำระเงินจะเกินดุลมากกว่าปีก่อน เผยหนักใจ 4 ปีที่ผ่านมาอนุมัติวงเงินให้นักลงทุนสถาบันลงทุนต่างประเทศ 3,300 ล้านดอลลาร์ แต่มีการขอไปลงทุนจริงแค่ 18% เตรียมแก้ปัญหาเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลมากขึ้น

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้ไม่ได้มีความหวือหวาเหมือนในอดีต และเมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจก็ยังคงดีอยู่ จึงคาดว่าไม่น่าจะมีแรงกดดันที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนไปมากกว่านี้ ประกอบกับในปีนี้ก็มีการทยอยนำเข้าเครื่องบินพาณิชย์จำนวน 2 ลำแล้ว และปีหน้าหากมีการเดินหน้าของโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) ก็น่าจะมีการนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศมากขึ้นจึงเชื่อว่าช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้ในระดับหนึ่ง

“ในปีนี้คาดว่าดุลการชำระเงินยังคงเกินดุลอยู่ แม้คงจะไม่มากเท่ากับปีก่อน อย่างไรก็ตามแม้การส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดี แต่ในระยะต่อไปอาจมีการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าของเราทางอ้อมด้วย เพราะอำนาจในการซื้อน้อยลง จึงคาดว่าการส่งออกอาจจะชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจของยุโรป ญี่ปุ่น และประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียสามารถชดเชยการชะลอตัวเศรษฐกิจของสหรัฐได้ ซึ่งขณะนี้ไทยมีการค้าขายกับประเทศในภูมิภาคมากขึ้น”

ส่วนประเด็นที่ว่ามาตรการกันสำรองเงินทุนระยะสั้น 30% และวิธีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน (fully hedge) ก็เชื่อว่าไม่ส่งผลต่อเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เนื่องจาก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นลักษณะในการทำธุรกิจไม่ใช่เป็นการหมุนเงินเพื่อหากำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่ แม้ราคาน้ำมันจะมีสูงขึ้นแต่เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมายังไม่สูงไม่มากนัก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง และการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีวินัยมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบเติบโตต่อไปได้

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้สิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ค่อยเอื้ออำนวยเศรษฐกิจให้เติบโตมากนักไม่ว่าจะเป็นปัญหาไข้หวัดนก สึนามิ ซึ่งฝีมือการทำงานของเราเป็นที่ยอมรับ ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดหุ้น แต่ที่ดัชนีไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เพราะนักลงทุนในประเทศเองทั้งรายย่อยและสถาบันยังขาดความมั่นใจ เช่นเดียวกับการลงทุนใหม่ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้น จึงต้องมีความชัดเจนด้านการเมืองก่อน อย่างไรก็ตามในระยะยาวก็ยังไม่เห็นปัจจัยด้านลบที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจนัก เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตไปได้”

นางธาริษายังเปิดเผยด้วยว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาธปท.ได้อนุมัติยอดวงเงิน 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้นักลงทุนสถาบันสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น แต่มีนักลงทุนที่ขอไปลงทุนจริงเพียงแค่ 18%ของวงเงินที่อนุมัติให้ ทำให้ขณะนี้วงเงินเหลืออยู่อีกมาก ดังนั้น ในระยะต่อไป ธปท.จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนมากขึ้น

สำหรับสาเหตุที่นักลงทุนสถาบันไม่ค่อยไปลงทุนในต่างประเทศมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ธปท.ได้จัดสรรเม็ดเงินลงทุนให้แก่นักลงทุนสถาบันผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้แต่ละรายไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ขณะนี้ธปท.มีการผ่อนคลายให้สามารถลงทุนเกิน 50 ล้านดอลลาร์ได้เพียงขอ ธปท. ดังนั้นในเมื่อข้อจำกัดในด้านต้นทุนทั้งเรื่องเม็ดเงินลงทุนและการเสียเวลาในการศึกษาก็ไม่มีแล้ว จึงเชื่อว่าในอนาคตนักลงทุนสถาบันจะมีการลงทุนในต่างประเทศขยายตัวมากขึ้นกว่าเก่า

“ในช่วงสั้นๆ ก็ยังคงมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามา แต่เราก็ต้องมีการผ่อนคลายให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยเราจะค่อยๆ เพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุนอย่างมีระบบ เพราะในเมื่อเขามีรายได้หรือเงินออมมากขึ้นโอกาสในการหาดอกผลก็มีมากขึ้นตาม จึงต้องมีการกระจายความเสี่ยงด้วย ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศถือเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้ และจะทำให้ประเทศมีความแข่งแกร่งมากขึ้นด้วย” นางธาริษากล่าว

เงินบาททรงตัวที่ 34.58/61

วานนี้ (24 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.58/61 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 34.58/61 บาท/ดอลลาร์ โดยแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 34.57 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 34.61 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบแคบๆ ตลอดทั้งวัน ขณะที่ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้น สวนทางกับค่าเงินยูโร เนื่องจากวันนี้ (24 พ.ค.) ตัวเลขทางเศรษฐกิจของยุโรปออกมาไม่ดี จึงมีการเก็งกำไรระหว่าง 2 สกุล ส่วนค่าเงินหยวน หลังจากการประชุมระหว่างจีนและสหรัฐสิ้นสุดในวันนี้ ยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค แม้ว่าสหรัฐยังคงกดดันให้จีนเร่งปรับค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าเร็วขึ้นก็ตาม" นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.