"ปูนใหญ่ลงทุนในฟิลิปปินส์เกมรับในเกมรุก"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

มาริซาวา แมนูแฟคเจอริ่ง อิงค์ เป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเซรามิกของฟิลิปปินส์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตปีละ 3 ล้านตารางเมตร และมีส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์ถึง 50% ทั้งยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มะนิลาด้วย

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทปูนซิเมนต์ไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งของยักษ์เซรามิกรายนี้ด้วยการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท มาริซาวา แมนูแฟคเจอริ่ง อิงค์ จำนวน 93 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 37% ของทุนจดทะเบียนของบริษัท เป็นเงินลงทุน 230 ล้านบาท

สบสันติ์ เกตุสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้ กล่าวถึงเหตุผลที่ปูนใหญ่ตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้นมาริซาวาฯ ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการขยายฐานธุรกิจของปูนใหญ่ไปยังต่างประเทศ และอีกเหตุผลก็คือ ตลาดเซรามิกในฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เหมาะสมที่จะไปลงทุน

เชื่อกันว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ปูนซิเมนต์ไทยตัดสินใจไปลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ในอุตสาหกรรมเซรามิกในครั้งนี้ นอกเหนือจากเรื่องตลาดในฟิลิปปินส์ที่มีการขยายตัวสูงแล้ว ก็เพื่อเป็นการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียในตลาดนั้นด้วย

"การแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศนั้น ปูนใหญ่สามารถที่จะต่อสู้กับคู่แข่งทั้งสองประเทศได้ด้วยเรื่องของคุณภาพเท่านั้น ส่วนเรื่องต้นทุนการผลิตนั้น ไทยเสียเปรียบผู้ผลิตในประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนพลังงาน" สบสันต์กล่าว

การลงทุนในฟิลิปปินส์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สอง ที่มีการขยายกิจการด้านเซรามิกในต่างประเทศของปูนซิเมนต์ไทย ครั้งแรกนั้นคือการซื้อบริษัทไทล์เซอราอิงค์ เพื่อผลิตเซรามิกในสหรัฐอเมริกาในวงเงินเกือบพันล้านบาท เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว

การเจรจาติดต่อร่วมลงทุนในมาริซาวาฯ เริ่มต้นขึ้นมาก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่เพิ่งจะเสร็จเรียบร้อยถึงขั้นซื้อขายหุ้นกันในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ชุมพล ณ ลำเลียงเพิ่งจะสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ได้เพียง 4 เดือน

หนึ่งในนโยบายสำคัญของปูนซิเมนต์ไทยที่ชุมพลแถลงไว้ในวันแรกของการดำรงตำแหน่ง คือ การขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและอินโดจีน โดยเฉพาะในอาเซียนนั้น ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการก่อเกิดของเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า จะมีผลให้สินค้าของปูนซิเมนต์ไทยหลาย ๆ ตัว อยู่ในฐานะที่อาจจะเสียเปรียบต่อการแข่งขันจากผู้ผลิตในอาเซียนด้วยกัน ที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า หนึ่งในสินค้านั้น ก็คือ เซรามิกที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ประเทศภาคีสมาชิกอาเซียนตกลงกันว่าจะต้องลดอัตราภาษีนำเข้าโดยเร่งด่วน

การซื้อหุ้นมาริซาวาครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นผลงานใหญ่ชิ้นแรกของชุมพล ซึ่งเป็นรูปธรรมของยุทธศาสตร์รุกและรับ พร้อมกันไปในตัว "รุก" คือ การแสวงหาตลาดใหม่ ๆ นอกประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นภายในประเทศ "รับ" คือ การรับมือกับอาฟต้า ด้วยการสร้างฐานการผลิตในประเทศที่จะทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขันมากที่สุด

ในระยะแรกนี้ การลงทุนในมาริซาวาฯ ของปูนซิเมนต์ไทย ยังคงเป็นการเข้าร่วมอย่างหุ้นส่วนธรรมดา แต่จากสัดส่วนที่เครือซิเมนต์ถือหุ้นสูงถึง 37% ก็เชื่อว่า ในอนาคตการลงทุนด้วยเงินกว่า 230 ล้านบาทนั้น ปูนใหญ่คงจะไม่อยู่แค่การรอปันผลอย่างแน่นอน แต่คงจะเข้าไปมีส่วนในเรื่องการผลิตหรือทางด้านเทคนิค ในขณะที่การตลาดในประเทศคงจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ถือหุ้นชาวฟิลิปปินส์จัดการกันเอง

ถึงวันนั้น นอกเหนือจากการเข้ามีส่วนร่วมในการแข่งขันของตลาดเซรามิกระหว่างประเทศอันเนื่องมาจาก การเกิดอาฟต้าที่ปูนซิเมนต์ไทยจะไม่เสียเปรียบใครแล้ว ปูนใหญ่ อาจจะเป็นยักษ์ใหญ๋ในวงการเซรามิกในอาเซียนก็เป็นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.