|
พฤติกรรมคนซื้อบ้านอิงดบ.ต่ำ ศูนย์ข้อมูลฯหยิบผลสำรวจชี้ตัวเลขนำโด่ง
ผู้จัดการรายวัน(24 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยผลสำรวจความต้องการของคนซื้อบ้าน พบการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นวิธีกระตุ้นอสังหาฯได้ดีที่สุด ผ่อนผันเกณฑ์พิจารณาสินเชื่ออันดับสอง เลิกสนมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ด้านตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ไตรมาส 1 ลดฮวบ 21.1% ส่วนผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯหันออกหุ้นกู้เพิ่ม ส่งผลสินเชื่อผู้ประกอบการปล่อยใหม่ลดลง 9.7%
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่เข้าชมงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2550 มีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่นำมาประมวลผลทั้งสิ้น 1,297 คน และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีผู้ที่ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2550 สูงถึง 65.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้เข้าชมงานมหกรรมฯ ส่วนใหญ่มีความตั้งใจมาซื้อบ้าน
ทั้งนี้ ผู้ที่ตัดสินใจซื้อบ้านมีสาเหตุหลัก คือ จำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ 32.9% รองลงมาคือ ซื้อเพราะอัตราดอกเบี้ยถูกลง 30.4% มีโปรโมชันที่น่าสนใจ 28.8% และมีมาตรการของรัฐบาลสนับสนุน 7.9% (ณ วันที่สำรวจยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยกระตุ้นอสังหาฯจากรัฐบาล) ส่วนผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อบ้านมีสาเหตุหลัก คือ ความไม่พร้อมด้านการเงิน39.2% ยังไม่พบสินค้าที่ถูกใจ 32.6% ไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง 16.8% คิดว่าราคายังไม่ต่ำที่สุด 11.5%
สำหรับมาตรการส่งเสริมการซื้อที่อยู่อาศัยที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการจากรัฐบาล คือ ต้องการได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำ 62.8% ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน 20.9% ผ่อนผันเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติผู้กู้ (เครดิตบูโร) 8.5% และต้องการให้รัฐบาลสร้างบ้านเอื้ออาทรเพียงแค่ 7.8%
สิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการจากผู้ประกอบการมากที่สุด คือ 50.3 % ต้องการให้ผู้ประกอบการลดราคาขาย รองลงมา คือ ไม่เก็บเงินดาวน์ 25.0% จ่ายค่าธรรมเนียมการโอนแทนผู้ซื้อ 17.8% ให้เข้าอยู่ฟรีก่อนโอน 6.9% ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ระดับราคาในปัจจุบันยังอยู่สูงกว่าระดับราคาที่ผู้ซื้อต้องการ
หวังแบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้อีก
สิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้สถาบันการเงินทำมากที่สุด คือ 61.9% ต้องการให้สถาบันการเงินลดอัตราดอกเบี้ย ผ่อนผันเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ 19.7% ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระมากกว่า 30 ปี 9.9% และไม่คิดค่าธรรมเนียมธนาคารทุกตัว 8.5% ซึ่งจะเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านส่วนใหญ่ต้องการ
“ จากผลการสำรวจทำให้ทราบว่า กำลังใจของคนซื้อบ้านยังไม่ได้ลดลงไปอย่างน่าใจหาย และเมื่อดูจากคนที่เข้าชมงานในครั้งนี้ มีความคึกคักกว่าครั้งที่ 15 ที่ผ่านมา ส่วนที่ยังไม่ซื้อน่าจะเป็นเรื่องของความไม่พร้อมด้านการเงิน” นายสัมมากล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยภายในปีนี้ ส่วนมากอยู่ในวัยทำงานซึ่งเป็นผู้มีกำลังซื้อ โดยช่วงอายุที่มีมากที่สุดอยู่ในช่วง 21-30 ปี มีถึง 40.9% รองลงมา 31-40 ปี 33.1% ช่วงอายุ 41-50 ปี 17.9% และ อายุมากกว่า 50 ปี 8.1% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
ในส่วนรายได้ของกลุ่มผู้ที่ต้องการซื้อ ผู้มีรายได้ในช่วง 20,000-50,000 บาทต่อครัวเรือน มีจำนวนมากที่สุด คือ 48.4% รองลงมา คือผู้มีรายได้ในช่วง 50,000-100,000 บาทต่อครัวเรือน 20.8% และ ในช่วง 10,000-20,000 บาทต่อครัวเรือน 17.1% เป็นต้น
จากผลการสำรวจ การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นวิธีกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ผลดีที่สุดในการที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการส่วนที่ผู้บริโภคต้องการจากภาครัฐบาลและสถาบันการเงิน สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการ การลดราคาขาย และการลดเงินดาวน์ หรือไม่เก็บเงินดาวน์ จะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคได้
ยอดปล่อยกู้คนซื้อบ้านไตรมาส1ลดกว่า 20%
นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังได้เปิดเผยตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไป และสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัย ทั้งปล่อยใหม่และคงค้างทั่วประเทศในไตรมาส 1 ปี 2550 พบว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ มีมูลค่า 59,415 ล้านบาท ลดลง 21.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากข้อมูลที่ผ่านมา ในไตรมาส 1 ของทุกปี ยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่จะมีจำนวนน้อยกว่ายอดของไตรมาสอื่นในปีนั้นๆ
สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้าง มีมูลค่า 1,361,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปคงค้างมีอัตราการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2548 อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2549 เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ มีมูลค่า 6,288 ล้านบาท ลดลง 9.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 27.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยคงค้าง มีมูลค่า 184,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
เมื่อนำตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไป และสินเชื่อผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่จากสถาบันการเงินต่างๆมารวมกัน จะเห็นว่าในไตรมาส 1 ปี 2550 สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2548 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ยังพบว่าอีก ผู้ประกอบการยังนิยมออกหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2550 ผู้ประกอบการออกหุ้นกู้ทั้งสิ้น 9,723 ล้านบาท เพิ่ม 37% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2549 มีจำนวน 7,125 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 ปี 2549 มีจำนวน 8,379 ล้านบาท ส่วนยอดการออกหุ้นกู้ปี 2549 จำนวน 39,980 ล้านบาท ขณะที่ปี 2548 มีจำนวน 22,900 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนทางการเงินน้อยกว่าการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อย่างไรหากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สินเชื่อโครงการก็จะเพิ่มขึ้นตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|