ตื่นหั่นดอกเบี้ย 0.5% โด๊ป ศก.


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

กนง.แบงก์ชาติงัวเงียหั่นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมวานนี้ ส่งผลดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ 3.50% ให้เหตุผลอัตราเงินเฟ้อลดต่ำ ความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยทรุด แย้มปีนี้หากไม่มีปัจจัยใหม่จะไม่มีการปรับลดอีก เผยคาดหวังแบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 6.25% ขุนคลังชี้แบงก์ชาติกำลังส่งสัญญาณเศรษฐกิจอ่อนกำลัง แบงก์ไทยพาณิชย์เสือปืนไวลดดอกเบี้ยฝาก 0.50% ดอกเบี้ยกู้ 0.25% มีผลวันนี้

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อุปสงค์ภายในประเทศโดยรวมยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนและความเชื่อมั่นที่ยังเปราะบาง แม้ภาครัฐได้เร่งการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ได้เต็มที่ ขณะเดียวกันแม้ราคาน้ำมันโลกจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันด้านราคาที่ส่งผ่านไปยังอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นยังมีน้อยการชะลอเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ลงอีก 0.50% จากระดับ 4.00%ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 3.50%ต่อปีในปัจจุบัน

“แม้ในช่วงที่ผ่านมาการส่งออก ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังขยายตัวได้ดีอยู่ตามภาวะเศรษฐกิจโลกและผู้ส่งออกก็มีความสามารถในการปรับตัวดีอยู่ อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกต่อไปได้ ขณะเดียวกันในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อยังไม่สูงนัก ดังนั้นการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5% มาอยู่ที่ 3.50% ถือว่าเหมาะสมกับการดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อและเอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ ถือเป็นส่วนที่ช่วยเร่งให้เศรษฐกิจภายในของประเทศมีการขยายตัวดี”

กนง.คาดว่าในอีก 4- 6 ไตรมาส หรือ 12-18 เดือนข้างหน้า ภาคเศรษฐกิจจะได้รับผลจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมทั้งเชื่อว่าจะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินและดอกเบี้ยที่เกี่ยวกับการบริโภค ทั้งในส่วนของเงินฝากและเงินกู้ จึงเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจจะมีเพิ่มขึ้น และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

นอกจากนี้ กนง.คาดว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.25% จากต้นปีซึ่งอยู่ที่ 7.75% หรือเป็นการปรับลดลงอีก 1.5% ซึ่งเท่ากับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ส่วนธนาคารรายใดจะปรับลดลงมากน้อยเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับต้นทุนการดำเนินงานของแต่ละแห่ง

ขณะเดียวกันในขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนที่แท้จริงยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 0.74% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเป็นบวกอยู่ที่ 5% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมทั้งต่อผู้ฝากเงินและผู้กู้เงินแล้ว ดังนั้นการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง ธปท.ได้คำนึงถึงผู้ฝากเงินและผู้กู้เป็นสำคัญ

“แม้จะมีหลายคนมองว่าในภาวะที่การเมืองยังไม่คลี่คลาย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะช้ากว่าปกตินั้น แต่เราเชื่อว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นการช่วยคลุมความไม่ปกติที่เกิดขึ้นแล้ว และเมื่อเทียบกับปีก่อนมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นถึง 100% แต่ปีนี้กนง.ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 150% ซึ่งมีการปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าปรับเพิ่มขึ้นแล้ว จึงเชื่อว่าในขณะนี้เป็นจังหวะการลงทุนที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจ”

นางสุชาดา กล่าวว่า การประเมินเศรษฐกิจในการประชุมครั้งนี้เทียบกับครั้งก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดย กนง.ยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงขยายตัวได้ที่ระดับ 3.8-4.8% แม้ภาวะเศรษฐกิจต้องเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นหรือค่าเงินที่แข็ง และการกระตุ้นภาครัฐไม่ได้ผลนัก ขณะที่ปีหน้าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4.3-5.8% อย่างไรก็ตาม กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงไม่ทรุดตัวไปมากกว่านี้ ยกเว้นจะมีปัจจัยที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจภาวะช็อก ซึ่ง กนง.อาจจะต้องพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แต่หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถือเป็นปัจจัยที่ดีที่ช่วยส่งเสริมธุรกิจ กนง.อาจไม่จำเป็นมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้ว เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายเดิมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 1.5-2.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 1-2% อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่าจะอยู่ในกรอบที่กนง.ประมาณการไว้ คือ น้ำมันดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 54-58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าราคาน้ำมันในระยะต่อไปจะไม่สูงกว่ากรอบที่ประเมินไว้ด้วย

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ มีมากขึ้นและส่งผลให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลออกนั้น นางสุชาดา กล่าวว่า กนง.ต้องการดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมากกว่า ขณะเดียวกันที่ผ่านมามีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามากแล้ว จึงเชื่อว่าหากมีการปรับลดดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยให้ภาระทางการเงินของภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งสภาพคล่อง กระแสเงินสด และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของภาคธุรกิจนั้นๆ ปรับตัวดีขึ้น

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ในครั้งนี้คงพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถช่วยในเรื่องการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้ในระดับหนึ่ง ส่วนในอนาคตจะปรับลดอีกหรือไม่นั้นต้องพิจารณาดัชนีชี้วัดต่างๆ ที่จะทยอยประกาศออกมาทั้งเรื่องเงินเฟ้อและอัตราการบริโภคที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่าเป็นการปรับลดที่รวดเร็วกว่าในอดีตมาก ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปรับลดเพียงครั้งละ 0.25% เท่านั้น แต่ 2 ครั้งหลังปรับลดถึงครั้งละ 0.50% และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันยังอ่อนแออยู่จึงต้องปรับลดลงในอัตรานี้

“อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังอ่อนอยู่ในปัจจุบันเป็นสาเหตุที่ทำให้ กนง.ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% หลายครั้งติดกัน การปรับลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ก็ถือเป็นการชี้นำให้แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงตามดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว” นายฉลองภพกล่าว

ไทยพาณิชย์เสือปืนไว

รายงานข่าวจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทลง 0.50% และลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.25% โดยมีผลวันนี้ (24 พ.ค.) ประกอบด้วยอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 3, 6 และ 12 เดือน จะอยู่ที่ 2.25-2.50% จาก 2.75-3.00% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือน ลดลงเหลือ 2.50% จาก 3.00% สำหรับอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 7.00% จาก 7.25%, อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 7.25% จาก 7.50% และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 7.50% จาก 7.75%

นักวิชาการเตือนอย่าหลงทาง

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม มองว่าการประกาศปรับลดดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลงอีก 0.50% ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะปัญหาสำคัญอยู่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคง ดังนั้นการลงทุนและการบริโภคของเอกชนคงไม่กระเตื้องมากนัก เพราะว่าปัญหาหลักของประเทศไทยคือเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองและความมั่นคง

"เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย แต่รัฐบาลไม่ควรหลงทางว่าการลดครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการลงทุนและการบริโภค หากสามารถแก้ปัญหาการเมืองและความมั่นคงได้เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยคงไม่ทำให้ผู้ฝากเงินถอนออกมาเพื่อบริโภค" นายสมภพกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.