N-PARKเคาะขายที่ดินญี่ปุ่นเครืออมันฯควักเงินซื้อ315ล.


ผู้จัดการรายวัน(24 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แนเชอรัล พาร์คฯใจชื้น หลังประสบความสำเร็จขายที่ดินแปลงงามในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ให้แก่บริษัทในกลุ่มนายเอเดรียน ผู้ก่อตั้งโรงแรมเครืออมันรีสอร์ท พันธมิตรที่เหนี่ยวแน่น รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าว ราคาขาย 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 315 ล้านบาท ล็อตแรกจ่ายเงินงวดแรกแล้ว 22 พ.ค.ที่ผ่านมา วงเงินเบื้องต้น 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 105 ล้านบาท พร้อมเสนอเงื่อนไขซื้อหุ้นส่วนที่เหลือภายใน 1 ปี ยืนยันจ่ายหนี้ไทยธนาคารครบถ้วน ก่อนบบส.สาทรซื้อหนี้ไป

นายเสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้ประสบภาวะวิกฤตความเชื่อมั่น ซึ่งเกิดมาจากคดีล้มละลายในอดีต ทำให้บริษัทต้องวางแนวทางการแก้ปัญหาของบริษัทไว้ 5 แนวทาง ได้แก่ 1. การหาทางออกเรื่องคดีล้มละลายในอดีต 2. การเจรจากับเจ้าหนี้ 3. การเพิ่มทุน 4. การหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการต่างๆ และ 5. การขายสินทรัพย์ นั้น

โดยในส่วนของการขายทรัพย์สิน ทางบริษัทได้พยายามติดต่อและเจรจากับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศหลายราย แต่ปรากฏว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะกดราคาสินทรัพย์ เสนอราคาซื้อที่ไม่เหมาะสม ทำให้บริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการขายสินทรัพย์หลายครั้งที่ผ่านมาได้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทได้ประสบความสำเร็จในการขายที่ดินที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ให้แก่

Shining Global Investment Limited ("Shining") หรือบุคคลที่ Shining กำหนด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของนายเอเดรียน เซกา (Adriaan Zecha) ผู้ก่อตั้งโรงแรมเครืออมันรีสอร์ท(และมีบริษัทในเครือรวมในโครงการร้อยชักสามของกรมธนารักษ์) ในราคา 9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 315 ล้านบาท เทียบกับต้นทุนทางบัญชี 241 ล้านบาท

กระบวนการขายหุ้นและสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมในบริษัท Kyoto Resorts YK หรือ KYOTO นั้น ในขั้นแรกผู้ซื้อจะซื้อหุ้น 1 ใน 3 ของบริษัท Kyoto จำนวน 333 หุ้น และโอน 1 ใน 3 ของสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับจาก Kyoto คิดเป็นเงินประมาณ 84 ล้านบาท และได้ชำระเงิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 105 ล้านบาทให้แก่บริษัทแนเชอรัล พาร์ค เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ Shining หรือบุคคลที่ Shining กำหนด ยังมีสิทธิในการซื้อหุ้นและสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับส่วนที่เหลือภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 30 เมษายน 2550 (วันที่ลงนามในสัญญา Option Agreement) โดยมีรายละเอียดในสัญญาตามข้อตกลง คือ

บริษัทแนเชอรัล พาร์คฯให้สิทธิแก่ Shining หรือบุคคลที่ Shining กำหนด ในการซื้อหุ้นใน Kyoto จำนวน 1,000 หุ้น คิดเป็น100% ของทุนชำระแล้ว มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 50,000 เยน และสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับจาก Kyoto ในราคารวม 9 ล้านเหรียญสหรัฐ บวกเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับนับจากวันที่ลงนามในสัญญาข้อตกลง และทางShining กำหนดให้ Puri Limited ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกัน ใช้สิทธิซื้อหุ้นใน Kyoto จำนวน 333 หุ้น และสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ ในราคารวม 3 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับส่วนที่เหลือ บริษัทให้สิทธิแก่ Shining หรือบุคคลที่ Shining กำหนด ซื้อหุ้นเป็นครั้ง ๆ โดยแบ่งเป็น 333 หุ้นในครั้งถัดไป และ 334 หุ้นในครั้งสุดท้าย และโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับครั้งละ 1 ใน 3 ของยอดหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ ในราคารวม 3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อครั้ง

อนึ่ง เมื่อคำนวณขนาดรายการตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่ง

สินทรัพย์ พ.ศ. 2547 แล้ว รายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวมีขนาดรายการรวมเท่ากับ 2.91 % (คำนวณจากการขายหุ้นทั้งหมด 1,000 หุ้น คิดเป็น 100 % ของทุนชำระแล้ว และโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับทั้งหมด ในราคา 9 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตามเกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน ซึ่งต่ำกว่า 15 % คณะกรรมการบริษัทมีอำนาจในการอนุมัติการทำรายการดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่ออนุมัติการทำรายการ

นายเสริมสินกล่าวว่า การดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัทในครั้งนี้ จะได้รับสิ่งตอบแทนและเงื่อนไขการชำระเงินเป็นจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 105 ล้านบาท โดยผู้

ซื้อจะชำระราคาซื้อขายหุ้นในวันทำรายการ (Closing Date) ภายในระยะเวลา 1 ปี หาก Shining หรือบุคคลที่ Shining กำหนด ใช้สิทธิในการซื้อหุ้นและโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับส่วนที่เหลือทั้งหมด มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนจะเท่ากับ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 315 ล้านบาท

" ราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้เจรจาตกลงกัน เป็นราคาที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ และถือเป็นราคาที่เหมาะสมเพื่อเสริมเสถียรภาพทางการเงิน โดยราคาขายหุ้นสามัญและโอนสิทธิเรียกร้องเงินให้กู้ยืมดังกล่าว เป็นราคาที่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชี ดังนั้น บริษัทจะได้รับกำไรจากการขายทรัพย์สิน นอกจากนี้ บริษัทจะมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น ขณะเดียวกันจะนำไปพัฒนาโครงการอสังหาฯของบริษัท อย่างไรก็ดี บริษัทอาจพิจารณาขายสินทรัพย์หรือหุ้นสามัญเพิ่มเติมในราคาที่เหมาะสม" นายเสริมสินกล่าว

อนึ่ง ในกรณีเรื่องที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สาทร จำกัด ได้ฟ้องร้องต่อศาลล้มละลายกลางให้ดำเนินฟ้องล้มละลายและพิทักษ์ทรัพย์บริษัท(ลูกหนี้)นั้น ตรงนี้ ทางบริษัทได้ยืนยันว่า ได้มีการชำระให้เจ้าหนี้เดิม คือ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ทั้งในรูปของเงินสดและแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.