"สุนทร โภคาชัยพัฒน์ นักกฎหมายผู้ข้ามวงการ"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปี 2532 "ผู้จัดการ" เคยเขียนถึงสุนทร โภคาชัยพัฒน์ ในฐานะนักกฎหมายที่น่าสนใจมาก ๆ เนื่องจากเขาเป็นทนายความที่มีชื่อปรากฏอยู่ในหลาย ๆ บริษัทในฐานะ "ที่ปรึกษากฎหมาย" ในหลาย ๆ วงการ ทั้งการเงิน อุตสาหกรรม

แต่คราวนี้ "ผู้จัดการ" จะเขียนถึง สุนทร ในฐานะนักพัฒนาที่ดิน!!!

"ผมยังเป็นทนายความ เป็นนักกฎหมายอยู่ครับ" สุนทรกล่าวเมื่อถูกถามว่า เขาถือว่าเขาเป็นนักพัฒนาที่ดิน หรือ นักกฎหมายกันแน่ หลังจากที่เขาเริ่มปรากฏตัวในฐานะกรรมการผู้จัดการ "ชัยพัฒน์กรุ๊ป" ที่มีโครงการบ้านจัดสรรหลายโครงการ อย่างเช่น โครงการเมืองประชา ที่เชิงสะพานนวลฉวี

ความจริงแล้ว ชัยพัฒน์กรุ๊ป ไม่ได้เป็นกลุ่มพัฒนาที่ดินหน้าใหม่ทีเดียว เพราะมาจากการจับมือกันของผู้เชี่ยวชาญคนละวงการกัน ไม่ว่าจะเป็น ประชา มาลีนนท์ ผู้มีประสบการณ์ด้านธุรกิจบันเทิง จากช่อง 3 สุนทร โภคาชัยพัฒน์ ทนายความมืออาชีพ หรือ เสรี วิริยะศิริกุล เจ้าของโครงการ "ปากเกร็ดวิลเล็จ" และ "อภิญญาวิลล่า" (โครงการนี้ เสรีร่วมทุนกับประชาท่ามกลางข่าวลือว่าชื่อของโครงการมาจากชื่อของคนสนิทคนหนึ่งของประชาที่ช่อง 3)

ชัยพัฒน์กรุ๊ปที่เกิดจากการร่วมทุนกันนั้น ตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2533 ด้วยทุนจดทะเบียนในขั้นต้น 80 ล้านบาทในชื่อ "บริษัทชัยพัฒน์สากล" ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น ชัยพัฒน์กรุ๊ป เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2535 พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท

"ผมมีประสบการณ์ด้านนี้ เพราะมีลูกค้าให้ดูแลเรื่องที่ดินหลายราย ไม่ว่าจะเป็นตึกแถว ห้องเช่า ก็เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งในฐานะทนายความและช่วยขายด้วย" สุนทรกล่าวถึงประสบการณ์ในด้านธุรกิจพัฒนาที่ดินในอดีตของตนให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม แรงจูงใจที่ทำให้สุนทรตัดสินใจเบนเข็มมาพัฒนาที่ดินนอกเหนือจากการเป็นนักกฎหมายที่ทำให้เขาสัมผัสกับกฎหมายที่ดินมากว่า 30 ปีแล้ว ก็มาจากเหตุผล 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก สุนทรยอมรับว่า สำนักงานกฎหมายของเขาที่ถนนตะนาว คือสำนักงานชัยพัฒน์นั้น คงจะไม่มีลูกรับช่วงต่อเพราะไม่มีใครเรียนกฎหมาย (ในตอนนั้น-แต่ล่าสุดลูกชายคนเล็กตัดสินใจเรียนกฎหมายและสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว) จึงเตรียมที่จะหาธุรกิจมั่นคงให้กับลูก ๆ และอีกประการก็คือ มาจากการที่เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักพัฒนาที่ดิน มีปัญหาในเรื่องการทำโครงการ เขาจึงต้องเข้ามาช่วย "เมื่อช่วยสำเร็จแล้ว ก็เลยคิดจะทำเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา"
การเป็นนักพัฒนาที่ดินของสุนทร จึงเริ่มที่ตรงนั้น

ขณะเดียวกัน การค่อย ๆ ถอนตัวออกมาจากไทยทีวีสีช่อง 3 ของประชา ทำให้เจ้าตัวสนใจอย่างจริงจังที่จะทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน การเข้ามาร่วมทุนจึงเกิดขึ้น

"ความจริงแล้ว ผมไม่ได้คุ้นเคยกับทางคุณประชาตั้งแต่ต้น แต่เป็นเพราะผมทำงานให้กับคุณวิชัย (มาลีนนท์ - บิดาของประชา) มานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่พวกคุณประชายังเรียนอยู่เมืองนอก" สุนทรตอบคำถามเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับประชาที่มารับตำแหน่งประธานบริษัทชัยพัฒน์กรุ๊ป

กล่าวกันว่า คนที่แนะนำสุนทรให้รู้จักและร่วมทุนกันในการทำโครงการเมืองประชาก็คือ สนธิญาณ หนูแก้ว ที่เคยร่วมงานกับประชาในฐานะหัวหน้าข่าวช่อง 3 ในยุคที่ประชายังดูแลช่อง 3 อยู่ และรู้จักกับสุนทรที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับหลาย ๆ บริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่สนธิญาณร่วมงานด้วยในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ในเครือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

และตัวของสนธิญาณเอง วันนี้ก็เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทชัยพัฒน์กรุ๊ปด้วย

แต่ถ้าพูดกัน ประชาก็ไม่ได้หน้าใหม่ในวงการพัฒนาที่ดินมากนัก เพราะครั้งหนึ่งในอดีต ตระกูล "มาลีนนท์" เคยร่วมมือกับตระกูล "ธารวณิชกุล" ร่วมกันทำโครงการหมู่บ้านทิพวัลย์ ที่ถนนเทพารักษ์ สมุทรปราการมาแล้ว มิหนำซ้ำ ประชาเองก็เคยมีการร่วมทุนในการพัฒนาที่ดินในโครงการ "อภิญญาวิลลา" ที่ถนนฉิมพลี ตลิ่งชัน

ยิ่งเมื่อบวกกับเสรี วิริยะศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการที่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจบ้านจัดสรรมานานกว่า 20 ปีด้วยแล้ว ชัยพัฒน์กรุ๊ปในวันนี้ จึงไม่ได้เป็นหน้าใหม่ในวงการแต่อย่างใด แม้ชื่อของกลุ่มนี้ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

สุนทรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ชัยพัฒน์กรุ๊ป จะเริ่มด้วยการพัฒนาที่ดินในนาม "เมืองประชา" บริเวณเชิงสะพานนวลฉวี อันเป็นโครงการสำหรับผู้ซื้อระดับล่างก่อน จึงจะมีการปรับทิศทางของกลุ่มมาเป็นระดับกลางถึงสูง ในทำเลอื่น ๆ

นอกจากนั้น สุนทรเองก็มีที่ดินอยู่บ้าง ที่เจ้าตัวซื้อไว้ตั้งแต่ยังไม่ลงมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินในนนทบุรีบริเวณใกล้ห้าแยกปากเกร็ด ที่ดินที่รามอินทรากิโลเมตรที่ 9 หรือที่ดินต่างจังหวัดในเชียงใหม่ อุดรธานี ดังนั้น อนาคตของกลุ่มชัยพัฒน์กรุ๊ปในเรื่องการพัฒนาที่ดิน จึงยังมีอีกต่อไป แม้ในส่วนของเมืองประชา เพิ่งจะเริ่มต้นก็ตาม

ขณะเดียวกัน สุนทรยังมีตำแหน่งในบริษัทพัฒนาที่ดินอื่น ๆ อีก อย่างเช่น กรรมการผู้จัดการ บริษัทที่ดินเมืองเหนือ ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่ดินอยู่ที่ตำบลสันทราย อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ เป็นกรรมการบริษัท เอส. เจ. บ้านและที่ดินปากเกร็ด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชัยพัฒน์กรุ๊ป เป็นกรรมการบริหารบริษัท ศรีราชานคร เจ้าของโครงการ "ศรีราชานคร" (ศรีราชาคอมเพล็กซ์เดิม) เป็นกรรมการบริษัทเชียงใหม่แลนด์ เจ้าของโครงการ "เชียงใหม่แลนด์"

วันนี้ของสุนทร จึงไม่อาจที่จะไม่รับความเป็น "นักพัฒนาที่ดิน" ได้ แม้เขาจะยังคงยืนยันว่า เขาเป็นนักกฎหมายอยู่เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.