"ดิโอลด์สยาม พลาซ่า บทพิสูจน์ฝีมือสยามพาณิชย์ฯ"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ดิโอลด์สยาม พลาซ่า ศูนย์การค้าล่าสุดของกรุงเทพมหานครเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา แต่ภารกิจของบริษัทสยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรม เจ้าของโครงการยังไม่เสร็จสิ้น แม้ว่าจะสามารถขายพื้นที่จำนวน 300 กว่ายูนิตไปได้หมดแล้วก็ตาม

"เราจะล้มเหลวไม่ได้สำหรับโครงการนี้ ไม่ได้แปลว่าต้องได้ตังค์ เพราะเราได้มาแล้ว แต่เป้าหมายของเราคือร้านที่อยู่ในนี้ต้องขายดี" ขจรศักดิ์ สมประเสริฐสุข กรรมการรองผู้จัดการของสยามพาณิชย์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ดิโอลด์สยาม พลาซ่า เป็นโครงการพัฒนาที่ดินในรูปช้อปปิ้ง พลาซ่า โครงการแรกของสยามพาณิชย์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บนเนื้อที่ 14 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์บริเวณหลังวังบูรพาต่อกับพาหุรัดอันเป็นที่ตั้งของตลาดมิ่งเมืองเดิม

ปัญหาของศูนย์การค้าที่ไม่มีห้างสรรพสินค้าเป็นจุดดึงคนให้คนมาใช้บริการอย่างดิโอลด์สยาม พลาซ่า คือทำอย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นตึกร้าง ให้เจ้าของร้านค้าที่เช่าพื้นที่ไปในราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 70,000 บาท ต้องชอกช้ำใจเหมือนศูนย์การค้าบางแห่ง

"หัวใจสำคัญก็คือ การเลือกร้านค้าที่จะเข้ามาอยู่" ขจรศักดิ์พูดถึงเคล็ดลับที่เขาเชื่อว่าจะสร้างความคึกคักให้กับศูนย์การค้าแห่งนี้ได้ยาวนานตลอดอายุการเช่า 30 ปี ลูกค้าที่ต้องการเช่าพื้นที่จะต้องทำ "ใบเสนอซื้อ" ให้ทางโครงการพิจารณาว่าเป็นร้านค้าประเภทใดเสียก่อน และเจ้าของโครงการจะเป็นผู้กำหนดเองว่าจะให้เช่าพื้นที่ในส่วนไหน

ในจำนวนร้านค้าทั้งหมดประมาณ 70 ราย เป็นร้านขายเพชรและร้านทองซึ่งมีกิจการอยู่ในแถบนั้นมาตั้งแต่แรกเริ่ม แน่นอนว่าร้านเหล่านี้ย่อมต้องมีลูกค้าประจำที่จะต้องหมุนเวียนเดินเข้าออกเป็นจำนวนไม่น้อย นอกเหนือไปจากร้านที่ขายสินค้าเฉพาะอย่าง เช่น ปืน เครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง ของเก่า ซึ่งก็มีลูกค้าขาประจำอยู่แล้วเช่นกัน เป็นการลดความเสี่ยง จากการต้องพึ่งพานักช้อปปิ้งขาจรไปได้ส่วนหนึ่ง

ที่จอดรถที่รองรับรถได้นับพันคัน ซึ่งกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่สุดสำหรับคนเมืองหลวงในทุกวันนี้ เป็นความหวังที่จะดึงคนให้เข้ามาเดินในดิโอลด์ สยามฯ ได้ เพราะปัญหาใหญ่ของพื้นที่บริเวณนั้นคือ ไม่มีที่จอดรถ ขจรศักดิ์เชื่อว่า เจ้าของรถจำนวนหนึ่งที่นำรถมาจอด มีโอกาสที่จะต้องเข้ามาใช้บริการของร้านค้าด้วย อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อสงวนเงิน 30 บาทต่อชั่วโมงสำหรับค่าจอดรถ

และกลยุทธ์ล่าสุด สยามพาณิชย์ฯ กำลังเจรจากับเซ็นทรัลให้เข้ามาลงทุนตั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต หากสำเร็จก็จะเป็นแม่เหล็กใหญ่ให้ดึงคนให้เข้ามาได้ไม่น้อย

สิ่งที่ขาดไม่ได้ และเป็นภารกิจในระยะยาวของสยามพาณิชย์ฯ ก็คือ กิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายและกระตุ้นความคึกคักอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นบริการและความรับผิดชอบหลังการขายของเจ้าของโครงการ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่คิดและทำกันได้อย่างง่าย ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเจ้าของร้านค้าไม่เข้าใจ และไม่ร่วมมือหรือไม่ยอมมีส่วนแบกรับค่าใช้จ่าย โอกาสที่จะเกิดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

"เรามีทั้งผู้ประกอบการรุ่นเก่าและใหม่เข้ามาอยู่ด้วยกัน มีวัฒนธรรมการทำมาค้าขายที่แตกต่างกัน เถ้าแก่ที่เคยค้าขายแบบตึกแถวคงจะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับแคมเปญเหล่านี้ ถ้าปรับแนวความคิดตรงนี้เป็นได้ ก็เหนื่อย" นี่คือ สิ่งที่กรรมการ รองผู้จัดการสยามพาณิชย์ฯ เกรงว่า จะมีผลอย่างมากต่อดิโอลด์สยาม พลาซ่า

วันนี้ดิโอลด์สยาม พลาซ่า ที่มีความสูงเพียงแค่ 3 ชั้นและโครงสร้างอาคารแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่กลมกลืนกับพื้นที่และอาคารรอบ ๆ เด่นตระหง่านกลางพื้นที่ที่นักพัฒนาฯ ที่ดินหลาย ๆ คนบอกว่าเป็นพื้นที่ที่ตายไปแล้ว ตัวอาคารจะสวยงามอย่างไร ก็เป็นเพียงวัตถุ บรรยากาศความเคลื่อนไหวภายในอาคารคือชีวิตชีวา ดิโอลด์สยาม พลาซ่าจะมีชีวิตที่คึกคัก กระฉับกระเฉง หรือเงียบเหงา ซึมเศร้า คือบทพิสูจน์ฝีไม้ลายมือการบริหารศูนย์การค้าของสยามพาณิชย์ พัฒนาอุตสาหกรรม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.