คนไทยเปลี่ยนแปลง "วิธีบอกเวลา" ตามอย่างสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี
2430 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยวิธี "ยิงปืนเที่ยง" ตามแบบที่เคยเห็นอังกฤษยิงปืนสัญญาณที่สิงคโปร์
แต่ต่อมาในปลายรัชกาลที่ 7 วิวัฒนาการส่งสัญญาณบอกเวลาผ่านทางวิทยุกระจายเสียง
หรือ สมัยก่อนเรียกว่า "หูทิพย์" ได้เกิดขึ้นในปี 2477 จึงยุติการยิงปืนเที่ยงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในยุดอธิบดีกรมโฆษณาการ วิลาศ โอสถานนท์ ปี 2484 ได้มีการปรับปรุงการเทียบเวลาให้น่าสนใจ
โดยใส่ทำนองเพลงไทยเดิม "พม่าเชิญธง" ประกอบจังหวะเสียงนาฬิกาตีบอกเวลาติ๊กต๊อก
ๆ ที่คุ้นหูทุกวันนี้ ซึ่งครูเพลง "สริยงยุทธ" แห่งวงสุนทราภรณ์ทำขึ้นมา
50 ปีแล้วที่การให้สัญญาณเทียบเวลาของกรมประชาสัมพันธ์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
!! เช่นเดียวกับการบอกเวลาทางโทรศัพท์ 181 ที่ใช้เสียงสตรีคนเดิม "น.ต.
ศิริลักษณ์ คิ้วสุวรรณสุข" (เดิมเป็นจ่า) มาตลอดถึง 20 ปี
เวลาที่บอกโดย 181 นี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือเป็นผู้รักษามาตรฐานของประเทศไทย
ซึ่งจะบอกเวลาทุก ๆ สิบวินาทีตลอด 24 ชั่วโมง เวลาที่บอกนี้ได้รับสัญญาณจากนาฬิกาพลังปรมาณู
"ซีเซียม" ซึ่งเที่ยงตรงมากที่สุดในโลก เพราะในเวลาหนึ่งหมื่นปีจะมีคลาดเคลื่อนแค่วินาทีเดียว
แต่จู่ ๆ ช่วงกุมภาพันธ์ 2536 ปีนี้ อุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็เกิดปิ๊งในไอเดียของตัวเอง
ที่จะให้มีการปรับปรุงเวลาประเทศไทยให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงด้วยเหตุผลเชิงเศรษฐกิจ
ที่จะทำให้นักธุรกิจ นักการค้าระหว่างประเทศและนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในการบริหารเวลา
เพราะเวลาที่ปรับเร็วขึ้นนี้จะใกล้เคียงประเทศฮ่องกง แต่จะเร็วกว่าสิงคโปร์
และจะช้ากว่าญี่ปุ่นเพียงหนึ่งชั่วโมงจากเดิมที่ช้าถึง 2 ชั่วโมง
รมว. อุทัยมอบหมายให้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศของกระทรวงฯ
ศึกษาความเป็นไปได้ และได้มีการเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลดีของการปรับเวลานี้
ว่าเป็นประโยชน์ต่อการติดต่อทางธุรกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียน และตะวันออกไกล
นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดไฟฟ้า
คุณชายสุขุมพันธ์ยังให้ทัศนะต่อไปว่า ปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป หากยังเป็นสังคมเกษตรเหมือนเดิมก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเวลา
แต่หากเปลี่ยนแปลงเวลาแล้วไม่กระทบต่อเกษตรกรก็ควรทำ เพราะการทำเกษตรกรรมนั้นขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์
ไม่จำเป็นต้องปลุกควายขึ้นมากินหญ้าเร็วขึ้น!
"เวลาไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์เหมือนศาสนาที่แตะต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อความสะดวก
แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ หากเปลี่ยนเวลาจริงก็ต้องเลื่อนเวลาของนักเรียนให้เหมาะสมขึ้น"
คุณชายสุขุมพันธ์แถลงข่าว
งานนี้ กรมอุทกศาสตร์ ผู้ดูแลรักษาเวลาบอกว่าเป็นเรื่อง SENSITIVE แม้จะเปลี่ยนเวลาสักวินาทีเดียว
เพราะตามข้อตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ทำไว้กับสถาบันเวลามาตรฐานสากล B.I.P.M.
และ U.S.N.O. แห่งราชนาวีสหรัฐฯ ได้มีการแบ่งโซนเวลาทั่วโลก โดยไทยนั้นถือเอาเวลาที่เห็นดวงอาทิตย์เร็วกว่าเมืองกรีนิช
ประเทศอังกฤษ 7 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ประเทศสิงคโปร์ก็เคยประสบความสำเร็จในการขอเปลี่ยนแปลงเวลาทางเศรษฐกิจเพื่อให้ใกล้เคียงกับฮ่องกงมาแล้ว
"เราไม่จำเป็นต้องทำขนาดนี้ หากอยากจะเปิดตลาดหุ้นให้ตรงกับฮ่องกง
ก็เปิดตลาดหุ้นไทยให้เร็วขึ้นก็ได้" เจ้ากรมอุทกศาสตร์ พล.ร.ท. ถนอม
เจริญลาภกล่าว
แต่ในแวดวงนักธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ
บงล. นครหลวงเครดิต กลับเห็นว่าการปรับเวลาเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงนี้จะก่อให้เกิดผลบวกมากกว่า
เพราะเมื่อเวลาทำการซื้อขายหุ้นในไทยเท่ากับเวลาเปิดตลาดหุ้นฮ่องกง ก็จะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนต่างชาติหันมาสนใจซื้อขาย
"ปกติตลาดหุ้นไทยเปิดและปิดทำการซื้อขายหุ้นช้ากว่าตลาดฮ่องกง พอนักลงทุนต่างชาติซื้อขายหุ้นฮ่องกงจนปิดตลาดก็เลิกซื้อแล้ว
โดยส่วนตัวผมจึงเห็นด้วยให้เลื่อนเวลาเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง แม้จะตื่นเร็วขึ้น
แต่ก็เลิกงานเร็วทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว" ธีรศักดิ์กล่าว
ขณะที่วิเชียร เจียกเจิม กรรมการผู้จัดการ บงล. เกียรตินาคินให้ทัศนะว่า
ไม่น่าจำเป็นที่เราจะปรับเวลาให้เร็วขึ้น เพราะภาวะซื้อขายหุ้นแต่ละประเทศ
ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้น
ยังเป็นข้อถกเถียงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารเวลาใหม่ของไทยว่า
ถ้าเวลาไทยเท่ากับสิงคโปร์ ธุรกิจบ้านเราก็ยิ่งเสียเปรียบเพราะสิงคโปร์เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนที่มีความพร้อมและแรงจูงใจมากกว่า
คุ้มหรือไม่! เมื่อมองจากปริมาณการค้ากับสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งไทยเทียบเวลาแข่งขันด้วย
ทำไมจึงไม่เปลี่ยนไปตั้งเวลาให้เท่ากับญี่ปุ่นซึ่งมีปริมาณการค้าสูงกว่า?
คำถามเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมไปถึงผลกระทบเชิงสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อทางโหราศาสตร์
ดาราศาสตร์ และอีกร้อยแปดพันประการที่น่าปวดเศียรเวียนเกล้า
แต่สำหรับอุทัย พิมพ์ใจชน รมว. พาณิชย์ ที่คิดการใหญ่จะบริหารเวลาประเทศไทยใหม่
ต้อนรับศักราชใหม่ของนโยบายอาฟต้า เขตการค้าเสรีอาเซียน ด้วยการทลายกำแพงเวลา
นอกเหนือจากการลดกำแพงภาษีการค้าในภูมิภาคนี้ทั้งหมด อาจจะเป็นไอเดียสุดเท่ของรัฐบาลชุดนี้ก็ได้
!!!