ลดหย่อนดบ.ทำยอดวูบกว่า2.5พันล. สั่งคุมเข้มเอกสารหวั่นตุกติกโกงภาษี


ผู้จัดการรายวัน(23 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อธิบดีกรมสรรพากรเผยหลังคลังประกาศเพิ่มวงเงินลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านทำให้ยอดลดหย่อนรวมจากเดิม 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3–5 พันล้านบาท พร้อมล้อมคอกคนหัวใสแจ้งหลักฐานลดหย่อนเท็จสั่งเจ้าหน้าที่ตรวจละเอียดยิบ ส่วนมาตรการลดภาษี 3 จังหวัดชายแดนใต้ทำยอดภาษีวูบ 2.5 หมื่นล้านบาท พร้อมป้องกันการยื่นใบกำกับภาษีปลอมหลังเศรษฐกิจซบคนเริ่มหาทางตุกติกเลี่ยงภาษี ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯระบุมาตรการลดหย่อนภาษีไม่ช่วยกระตุ้นตลาด

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยผ่อนชำระค่าซื้อที่อยู่อาศัยที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอจากเดิมปีละ 50,000 บาทเป็น 100,000 บาทนั้น จะส่งผลให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บในส่วนนี้ไปจากเดิมที่มีผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ 2,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ วงเงินในการลดหย่อนจากเดิมที่มีผู้ใช้ 2,500 ล้านบาทนั้น หากมีผู้ใช้สิทธิเต็ม 100% ตามที่กระทรวงการคลังลดหย่อนให้ถึง 100,000 บาทนั้นจะทำให้มีผู้ลดหย่อนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3,000–5,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนผู้เสียภาษีจะยื่นใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนนี้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตาม การสูญเสียรายได้ในส่วนนี้จะทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าสำหรับจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ในส่วนอื่นชดเชยได้

"รายได้ของกรมสรรพากรที่คาดว่าจะสูญเสียไปในส่วนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนเท่าไร เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่าคนที่ผ่อนบ้านใช้สิทธิในการลดหย่อนมากน้อยเพียงใด ซึ่งเดิมที่ลดหย่อนให้ 5 แสนบาทมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 2.5 พันล้านบาท"นายศานิตกล่าว

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมีมาตรการที่เข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจสอบการยื่นเอกสารการลดหย่อนภาษีที่ยื่นเข้ามา ซึ่งในเบื้องต้นตรวจสอบพบว่าในเขตกรุงเทพมหานครมีผู้ยื่นเอกสารเป็นเท็จเข้ามาทั้งการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยซื้อที่อยู่อาศัยและการลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยรับจากเงินฝากประเภทต่างๆ โดยมีการยื่นเท็จเข้ามาแล้ว 100 กว่ารายจึงต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น

นายศานิตกล่าวว่า สำหรับภาษีนิติบุคคลที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้มีการลดจาก 30% เหลือ 1% ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น เดิมในเขตพื้นที่ดังกล่าวมีการจ่ายภาษีเข้ามาปีละประมาณ 25,000 ล้านบาท ก็จะทำให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในพิ้นที่จังหวัดดังกล่าวลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดภาษีลง

"ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเสียภาษีเข้ามาปีละประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท หากต้องลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 1% ตามมติครม.ก็จะทำให้ยอดการจัดเก็บลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดหย่อน แต่ในเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ถึงแม้จะไม่มีการลดหย่อนภาษีให้กับเขาเขาก็แทบจะไม่มีให้เก็บอยู่แล้วจึงต้องมีความเห็นใจและต้องลดภาษีให้" นายศานิตกล่าว

นายศานิตกล่าวว่า ส่วนเรื่องการสร้างเอกสารใบกำกับภาษีปลอมเพื่อให้มีการเสียภาษีลดลงนั้น ทางกรมสรรพากรได้สั่งการให้สรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่ามีการปลอบเอกสารใบกำกับภาษีปลอมเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่เท่าที่มีการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่ามีจำนวนไม่มากนักยังไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ อย่างไรก็ตามกรมสรรพากรก็มีความจำเป็นต้องหามาตรการป้องกันไว้ก่อน

"เท่าที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนโกงภาษีในรูปแบบการทำใบกำกับภาษีปลอมมากนักแต่แนวโน้มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่าเริ่มมีการทำกันมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่ในปัจจุบันอาจมีส่วนให้คนต้องการจ่ายภาษีน้อยลงเลยทำให้เกิดการโกงภาษีในรูปแบบการทำใบกำกับภาษีปลอมกันมากขึ้นจึงต้องหาทางป้องกันและแก้ไขไว้" นายศานิตกล่าว

ระบุลดหย่อนภาษี1แสนไม่มีผล

นายชายนิดโง้ว ศิริมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ 7 มาตรการ ที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคในตลาด ที่จะมีการนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณา ในวันที่ 22 พ.ค. นั้น ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่าจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะในเรื่องของการหักลดหย่อนภาษีของผู้ซื้อบ้านจาก 50,000 บาท เพิ่มเป็น100,00บาทต่อราย ส่วนมาตรการอื่นฯจะไม่มีการนำไปพิจารณานั้นหากรัฐบาลช่วยเหลือเฉพาะในเรื่องของการหักลดหย่อนภาษีอย่างเดียว ก็ไม่ช่วยกระตุ้นตลาดได้แต่อย่างใดเพราะเมื่อคำนวณแล้ว สามารถลดหย่อนได้เพียง4,000 -5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถึงว่าเป็นวงเงินเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับวงเงินในการซื้อบ้าน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.