|
ผุดบ.ทีวีเสรีรับเงินยืดชีวิต ครม.ถอนร่างแก้ไขระเบียบอุ้มทีไอทีวี
ผู้จัดการรายวัน(23 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
พนักงานทีไอทีวีดิ้นหนีภาวะล่องลอย ลงมติก่อตั้ง บริษัท ทีวีเสรี จำกัด ปั้นหัวหอกในการบริหารจัดการ พร้อมแบกหน้ายืมเงินผู้จัดรายการ 7 ล้านบาท มาใช้จ่ายช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ฟากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตอกย้ำความมั่นใจสิ้นเดือนนี้ จ่ายเงินเดือนให้แน่นอน มั่นใจสัปดาห์หน้าเสนอรายละเอียดให้ครม.อนุมัติได้ เผยครม.ไม่พิจารณาร่างระเบียบเงินที่จะมาช่วยทีไอทีวี
นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี เปิดเผยว่า หลังจากวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา พนักงานไอทีวี ได้กลายมาเป็นพนักงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นการทำงานภายใต้ความรับผิดชอบในวิชาชีพของตัวเอง โดยไม่มีใครมาเป็นหัวหน้ากำกับดูแลแต่อย่างไร ถึงแม้ทางกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารก็ตาม แต่ก็ยังคงให้ทางทีมงานทำงานกันอย่างเต็มที่เช่นเดิม ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนี้เป็นช่วงที่พนักงานทุกคนไม่ได้รับเงินเดือน
ทำให้พนักงานทุกคนร่วมกันลงมติออกมาให้มีการก่อตั้ง บริษัท ทีวีเสรี จำกัด ขึ้นกันเองภายใน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการเป็นหลักและช่วยเหลือพร้อมทั้งเป็นตัวแทนให้กับพนักงานทุกคน โดยมีพนักงานระดับตั้งแต่ผู้จัดการขึ้นไปเข้าถือหุ้นในครั้งนี้ประมาณ 70-80 คน คนละประมาณ 100-200 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท และมีทุนจดทะเบียนที่ 2 ล้านบาท แต่ยังชำระไม่หมด ซึ่งหลังจากที่ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมานั้น กิจกรรมแรกที่ทางบริษัทฯได้ดำเนินการ คือ เป็นตัวแทนพนักงานทุกคนในการยืมเงิน 7 ล้านบาท จากผู้จัดรายการที่ได้รวบรวมเงินให้ความช่วยเหลือพนักงานในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานั้นเอง ซึ่งหากได้เงินจากภาครัฐแล้ว ก็จะนำมาชำระหนี้คืนทันที
“การก่อตั้งบริษัท ทีวีเสรีขึ้นมานั้น ถือเป็นมติของพนักงานทุกคน เพราะทุกวันนี้เราไม่ได้ทำงานอยู่ภายใต้บริษัทใด อาจทำให้การดำเนินงานบางอย่างขัดข้อง อีกทั้งยังเป็นหลักประกันและเป็นตัวแทนให้กับพนักงานทุกคนได้ต่อไปด้วย เบื้องต้นอยากให้พนักงานทุกคนได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯนี้ด้วย แต่พบว่าหากเกิน 200 หุ้นแล้ว จะต้องจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท มหาชน ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ดังนั้นจึงได้ก่อตั้งเป็น บริษัทจำกัดไปก่อน ส่วนในอนาคตบริษัทฯนี้จะยังคงอยู่ และมองว่าแผนต่อไปจะต้องให้พนักงานทุกคนได้เข้ามาถือหุ้นต่อไปได้ด้วย”
นายอัชฌา กล่าวต่อว่า บริษัท ทีวีเสรีนี้ มิได้มีจุดประสงค์ เพื่อรองรับระบบ เอสดียูแต่อย่างไร เพียงเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้เท่านั้น
สิ้นเดือนนี้จ่ายเงินเดือนแน่
ด้านนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า หลังจากทางศาลมีคำสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดำเนินการบริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานจากกรมประชาสัมพันธ์เข้าร่วมดูแล รวมไปถึงการดูแลในเรื่องของรายได้ด้วยนั้น ขณะนี้ยอมรับว่ามีรายได้ของทางทีไอทีวีที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมแล้วกว่า 130 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นยอดเงินในรูปแบบเครดิตเทรด ถึงเวลาชำระแล้วจึงได้เงินนี้มา ดังนั้นระหว่าง 3 เดือนที่ผ่านมา จึงยังมีจำนวนเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจากลูกค้าอีกหลายรายการ ทำให้ขณะนี้มีเงินเข้ามาในบัญชีเพียง 130 ล้านเท่านั้น
แต่ทางกรมฯยังไม่สามารถนำเงินนี้ออกมาได้ เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของกระบวนการรับจ่ายเงิน ที่จะต้องมีการจ่ายเงินออกมาอย่างไรให้ถูกต้องตามระเบียบราชการเสียก่อน ดังนั้นทางกรมฯได้เร่งตีความในข้อสัญญาและระเบียบทางราชการต่างๆ เพื่อให้สามารถนำเงินนี้ออกมาให้เร็วที่สุดในเวลานี้แล้ว โดยมีสำนักกฤษฏีกาสูงสุด เป็นผู้ชี้ประเด็นด้านกฏหมายให้ พร้อมกับมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกหลายฝ่ายเข้ามาร่วมตีความครั้งนี้ด้วย ขณะที่ผู้ที่เป็นเจ้าของเงินดังกล่าวคือสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี มอบให้ทางกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้บริหารจัดการต่อไป โดยในขณะนี้จำนวนเงินดังกล่าวทางกรมประชาสัมพันธ์ได้รับมอบเรียบร้อยแล้ว แต่ต้องนำเข้าบัญชีรับฝากของทางกระทรวงการคลังไว้ก่อน โดยมีกรมบัญชีกลางดูแลอยู่
ขณะที่ปัญหาในการนำเงินดังกล่าวออกมาคือ ในเรื่องของระเบียบการจ่ายเงิน เนื่องจากทางกรมฯถือเป็นหน่วยงานราชการที่ไม่สามารถจ่ายเงินย้อนหลังได้ ดังนั้นขณะนี้ทางกรมฯจึงได้เร่งดำเนินการทำเรื่องขอยกเว้นระเบียบวิธีการงบประมาณและระเบียบการพัสดุ ในเรื่องของการอนุมัติการจ่ายเงินจากทาง ครม.อยู่
โดยในวันที่ 22 พ.ค. ทางครม.ได้พิจารณาออกมาแล้วว่า กรณีขอยกเว้นระเบียบการพัสดุนั้น อาจจะยุ่งยากและส่งผลกระทบในส่วนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้นทางกรมฯจึงได้ขอยกเว้นระเบียบการพัสดุไปเพียง 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรณีทีไอทีวีเท่านั้น คือ 1. การจัดซื้อ 2. การจัดจ้าง และ3.การจัดเช่า โดยทางครม.เองขอให้ทางกรมฯนำรายละเอียดของ 3 เรื่องนี้มาให้ทาง ครม.พิจารณาอีกครั้งในอาทิตย์หน้า ซึ่งหากไม่มีอะไรติดขัด มั่นใจว่าภายในสิ้นเดือนนี้ พนักงานทีไอทีวีทุกคนจะได้รับเงินเดือนแน่นอน รวมไปถึงการชำระหนี้ต่างๆตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ทีไอทีวีดำเนินการมาด้วย
3 เดือน รายได้หายไปกว่า 50 %
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน ที่ไอทีวีเปลี่ยนมาเป็นทีไอทีวีนั้น เป็นช่วงเวลาที่สร้างความไม่แน่ใจให้กับเอเจนซี่ เป็นอย่างมาก จนทำให้ขณะนี้ทีไอทีวี มีรายได้หายไปกว่า 50% เฉพาะเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 80-90 ล้านบาทเท่านั้น
นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากรายได้จะหายไปแล้ว ด้านผู้จัดเองก็เริ่มถอนตัวออกไปแล้วเช่นกัน เช่น รายการยุทธการบันเทิง ซึ่งทางสถานีฯได้นำรายการก๊อกก๊อกก๊อก เข้ามาแทน ส่วนด้านพนักงานฝ่ายข่าวก็มีออกไปแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สายสวรรค์ ขยันยิ่ง หรือ ประวีณมัย บ่ายคล้อย ทั้งนี้เกิดจากความไม่แน่ใจในทิศทางของสถานีฯนั้นเอง
อย่างไรก็ตามทางอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ให้ความมั่นใจแก่พนักงานทีไอทีวีแล้วว่า จะเข้ามาดูแลทีไอทีวี โดยไม่มีการแทรกแซงสื่อทั้งจากนายทุนและภาครัฐแต่อย่างไร พร้อมทั้งยังจะบริหารผังเพื่อพัฒนาคุณภาพรายการ และยังคงขายโฆษณาได้ตามปกติต่อไปอีกด้วย จนกว่าทางทีวีสาธารณะจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งคาดว่าเร็วสุดคือประมาณ 6 เดือนข้างหน้านี้
“ช่วง6 เดือนต่อจากนี้ ทีไอทีวีต้องการให้ทางเอเจนซี่และผู้จัดมั่นใจว่า สถานีทีไอทีวียังคงมีอิสระในการทำงานต่อไปแน่นอน พร้อมทั้งจะยังคงนำเสนอรายการต่างๆในสัดส่วนข่าวสารสาระ 70% และ บันเทิง 30% พร้อมเน้นให้ช่วงไพร์มไทม์ เวลา 19.00-22.00 ฯ เป็นรายการข่าวและสาระประโยชน์มากขึ้น เช่น ช่วงเวลารายการ คืนนี้ กับสายสวรรค์นั้น จะนำรายการ “ตัวจริง/ชัดเจน” เป็นรายการประเภท นิวส์ทอล์ค มานำเสนอแทน”
ครม.ปัดพิจารณาร่างระเบียบเงินอุ้มทีไอทีวี
นางเนตรปรียา ชุมไชโย ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 พ.ค.) ครม.ไม่ได้พิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขระเบียบพัสดุการนำเงินมาหมุนเวียนในสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ หรือทีไอทีวี ที่กรมประชาสัมพันธ์ ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา เนื่องจากการประชุมในวันนี้ มีวาระจำนวนมากดังนั้นและ ครม.ซึ่งหลายคนอายุมากก็ได้ยุติการประชุมเมื่อเวลา 14.00น. จึงมีมติให้ถอนเรื่องนี้ที่เป็นวาระจรเรื่องสุดท้ายออกไปก่อนและจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
แหล่งข่าวในทำเนียบฯ เปิดเผยว่า ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขระเบียบพัสดุการนำเงินมาหมุนเวียนในสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ หรือทีไอทีวี ถือเป็นร่างที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ร่างขึ้นไว้แล้วภายหลังที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความกลับมาว่า กรมประชาสัมพันธ์ถือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้จากรายการ รวมทั้งค่าโฆษณา ของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี จำนวน 93 ล้านบาท จากรายได้ทั้ง 2 เดือน ซึ่งรายได้ดังกล่าวเมื่อมีมติครม.ว่าด้วยพัสดุมาเห็นชอบแล้ว กรมประชาสัมพันธ์ก็จะสามารถนำเงิน 93 ล้านบาท มาจัดสรรเงินเดือนและหมุนเวียนในสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้ทันที
“แต่การที่ ครม. ยังไม่อนุมัติร่างดังกล่าวทำให้พนักงานทีไอทีวี กว่า 1,000 คนที่ยังไม่ได้ลาออก ก็ยังไม่แน่ว่าจะได้รับเงินเดือนในเดือน พ.ค. ตามที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อ้างไว้หรือไม่”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|