งบปี51ขาดดุลเกิน1.2แสนล.


ผู้จัดการรายวัน(23 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง เปิดเผยว่า งบประมาณรายจ่ายปี 2551 จะขาดดุลเกินเป้าหมาย 120,000 ล้านบาท เพราะวงเงินขาดดุลงบประมาณดังกล่าวน้อยไปเมื่อเทียบกับความต้องการใช้เงินที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มอบหมายให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีแล รมว.อุตสาหกรรม นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง และสำนักงบประมาณ ไปหารือเพื่อหาข้อสรุปตัวเลขในวันที่ 28 พ.ค.นี้

“ไม่มั่นใจว่า เศรษฐกิจจะดี แต่ความต้องการใช้เงินกลับมีมากขึ้นขณะที่ เมื่อเราตั้งกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2551 ยังไม่ได้อยู่บนสมมติฐานข้อเท็จจริงเหล่านี้” นายสมหมายกล่าว

ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 2551 ได้ผ่านการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 โดยเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1,635,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณจำนวน 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การกำหนดกรอบวงเงินประมาณดังกล่าว ดำเนินการภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหักอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 3.0 ขณะที่ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน แรงกระตุ้นจากการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2550 และอัตราเงินเฟ้อลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กล่าวถึงยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 3,214,866 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 38.10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยเป็นส่วนของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,056,327 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 888,580 ล้านบาท หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 224,243 ล้านบาท และหนี้องค์กรของรัฐอื่น 45,716 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 43,124 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 64,122 ล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และหนี้องค์กรของรัฐอื่นลดลง 14,158 ล้านบาท 3,341 ล้านบาท และ 3,500 ล้านบาท ตามลำดับ

โดยหนี้สาธารณะจำแนกได้เป็นหนี้ต่างประเทศ 447,209 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.91 และหนี้ในประเทศ 2,767,657 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.09 และเป็นหนี้ระยะยาว 2,752,781 ล้านบาท หรือร้อยละ 85.63 และหนี้ระยะสั้น 462,085 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.37 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

นายพงษ์ภาณุ กล่าวอีกว่า ในเดือนเมษายน 2550 ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ของภาครัฐ โดยด้านต่างประเทศกระทรวงการคลังได้บริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ Samurai Bond โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าระยะยาว(Long Dated Forward) วงเงิน 48,000 ล้านเยน ขณะที่ด้านในประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้โดยการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตร 12,000 ล้านบาท และ Roll over ตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตร เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF1) 10,000 ล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ Roll over หนี้เดิม 836 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 ในด้านต่างประเทศกระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศ โดยชำระคืนก่อนครบกำหนด 18,707 ล้านบาท และ Refinance เงินกู้ต่างประเทศด้วยเงินบาท 17,200 นอกจากนี้ได้บริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ FRNs โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า และหนี้เงินกู้ Samurai Bond วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 48,000 ล้านเยน ตามลำดับ และผลจากการดำเนินการดังกล่าวทำให้สามารถลดยอดหนี้คงค้างได้รวม 18,707 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยได้รวม 897 ล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศวงเงินรวม 9,451 ล้านบาท

ส่วนด้านในประเทศ กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ โดยการแปลงตั๋วเงินคลังที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 44,000 ล้านบาท เป็นพันธบัตร และปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรและตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ FIDF1 วงเงิน 45,000 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจได้ Roll over หนี้เดิม 15,701 ล้านบาท

สำหรับการกู้เงินของภาครัฐ ในเดือนเมษายน 2550 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศ โดยการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงิน 12,395 ล้านบาท และได้จำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง (FIDF3) 500 ล้านบาท นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวงได้กู้เงินบาทสมทบการดำเนินโครงการเงินกู้ต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท

ส่วนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 152,913 ล้านบาท เป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 135,895 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 17,018 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินจากต่างประเทศ 31,803 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้นอกแผนการก่อหนี้ต่างประเทศ

ขณะที่การชำระหนี้ของภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ 15,327 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 8,792 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 6,534 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2550 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ 15,327 ล้านบาท เป็นการชำระคืนเงินต้น 8,792 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 6,534 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.