"20 ปีของมหพันธ์ โตแบบเงียบ ๆ ในตลาดกระเบื้อง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อเสียงเรียงนามของกลุ่มมหพันธ์ ไม่เป็นที่รู้จักเหมือนกลุ่มผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องโอลิมปิคตราห้าห่วง หรือตราแมกม่าที่เป็นเจ้าของส่วนแบ่งจำนวนไม่น้อยในตลาดกระเบื้องมุงหลังคาที่มีบริษัทในเครือผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 2-3 แห่งเป็นเจ้าตลาดอยู่

กล่าวคือ ในตลาดกระเบื้องมุงหลังคาประเภทกระเบื้องใยหิน กระเบื้องห้าห่วงตราโอลิมปิค สามารถที่จะแชร์ตลาดได้ประมาณ 16% ซึ่งเป็นอันดับสามรองจากกระเบื้องตราช้างของปูนใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 56% และกระเบื้องโอฬาร 18%

ส่วนในตลาดกระเบื้องมุงหลังคาประเภทกระเบื้องคอนกรีตนั้น แมกม่าสามารถที่จะเข้ามาดึงส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10% ซึ่งใกล้เคียงกับกระเบื้องตราเพชรของค่ายปูนกลาง ขณะที่ผู้นำตลาดกระเบื้องประเภทนี้อยู่ก็คือกระเบื้องซีแพคโมเนียของปูนใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% รองมาก็เป็นกระเบื้องวีคอนที่มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 25% ของตลาดที่มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท

มองกันตรงนี้ ต้องยอมรับว่า กลุ่มมหพันธ์ทำตัว LOW-PROFILE-HIGH PROFIT ได้ดีจริง ๆ!!

"เรายังหน้าใหม่อยู่ในวงการธุรกิจนี้" องเอก เตชะมหพันธ์ กรรมการบริหารคนหนึ่งของกลุ่มมหพันธ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลของความไม่ดังของมหพันธ์ทั้ง ๆ ที่ตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้ว

มหพันธ์ เริ่มด้วยการเป็นผู้ขายกระเบื้องมุงหลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ ก่อนที่จะหันมาลงทุนผลิตเองในเวลาต่อมา ด้วยการตั้งบริษัทโอลิมปิคกระเบื้องไทยขึ้นในปี 2517 เพื่อผลิตกระเบื้องประเภทดังกล่าว

ปี 2533 โอลิมปิคกระเบื้องไทยกู้เงิน 461 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพ เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงงานที่บริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 5 และสร้างโรงงานใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่อ้อมน้อย

ถือเป็นการก้าวกระโดดก้าวใหญ่ของมหพันธ์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลที่คนในวงการก่อสร้างคอมเมนต์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เพราะสินค้าคือกระเบื้องตราห้าห่วงยังคงอยู่ในวงจำกัดคือ เหมาะสำหรับอาคารขนาดใหญ่อย่างโรงเรียน โรงงาน ไม่ใช่งานก่อสร้างบ้านเรือนที่เป็นตลาดแบบ MASS ทั้ง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ได้รับรางวัลในต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่น รางวัล PRODUCT AWARD รางวัล ASIA HIGH TECH

ปัจจุบันกลุ่มมหพันธ์ประกอบด้วย 4 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัทโอลิมปิคกระเบื้องไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ดูเรื่องการตลาดของกลุ่ม 2. บริษัทมหพันธ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ ผู้ผลิตกระเบื้องกระดาษตราห้าห่วง 3. บริษัทมหพันธ์กระเบื้องคอนกรีต ผู้ผลิตกระเบื้องแมกม่า และ 4. บริษัทมหพันธ์อินเตอร์โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้งคัมปะนีดูแลเรื่องการลงทุนของกลุ่มในอนาคต

"ปัจจุบันเราก็มีหุ้นในบริษัทที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานเราอยู่บ้าง" บริษัทที่องเอกพูดถึงก็คือปูนซีเมนต์ ซึ่งกำลังประเมินตัวเองอยู่ว่าจะลงมือทำปูนซีเมนต์ออกมาขายดีหรือไม่ เพราะอาจจะไม่คุ้มกับอายุสัมปทานที่ได้รับ แต่การเข้าไปถือหุ้นในปูนซีเมนต์นี้เป็นการถือเพื่อการลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มหพันธ์ยังไม่คิดไปไกลถึงขั้นมีโรงปูนของตัวเอง เพราะด้วยกำลังการผลิตในปัจจุบัน คือวันละประมาณ 100 ตันหรือปีละ 4,800,000 ตารางเมตรต่อปี ดูจะยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นต้องลงทุนสร้างโรงงานปูนซีเมนต์เอง

"เราซื้อจากทุกโรงงานที่มีให้เรา ไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ไทย หรือกระทั่งชลประทานซีเมนต์" กรรมการบริหารกลุ่มมหพันธ์กล่าวพร้อมทั้งชี้เหตุผลว่า การซื้อจากหลาย ๆ บริษัท เป็นแนวทางที่ฝ่ายบริหารของมหพันธ์มองว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ดังจะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งช่วงที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนปูนซีเมนต์ในประเทศ กลุ่มมหพันธ์ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน

ทั้งนี้ องอาจ เตชะมหพันธ์ กรรมการบริหารกลุ่มมหพันธ์อีกคน ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทโอลิมปิคกระเบื้องไทย ซึ่งดูแลเรื่องการตลาดของกลุ่มมหพันธ์เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า มหพันธ์เตรียมที่จะขยายไปตลาดต่างประเทศมากขึ้น อันหมายความว่าในอนาคต จะต้องมีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ในกลุ่มมหพันธ์ โดยมีการเตรียมที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 3 เท่าตัวในปีสองปีนี้

"ปัจจุบัน เราส่งออกไปยังเพื่อนบ้านอย่างลาว จีน เวียดนาม แต่ในอนาคตเรามองที่จะส่งออกถึงฮ่องกงหรือญี่ปุ่น" องอาจกล่าวเสริมถึงเหตุผลที่มีการเตรียมขยายกำลังการผลิตเอาไว้ และเมื่อมีการวาดแผนที่จะบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ก็แน่นอนว่าจะต้องมีการเตรียมพร้อมด้านกลไกการตลาด ด้วยการตั้งบริษัทสำหรับทำตลาดด้านต่างประเทศโดยเฉพาะขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง

ยิ่งเมื่อบวกกับแผนเตรียมนำบางบริษัทในเครือเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของมหพันธ์ทั้งสองเชื่อว่า ถึงตอนนั้น มหพันธ์ไม่ได้เป็น "คนแปลกหน้า" ในวงการธุรกิจเหมือนทุกวันนี้แน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.