สมชัย บุญนำศิริ "เราประเมินคู่ต่อสู้สูงเกินไป"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรยากาศอันระทึกใจวันประมูลเก้าอี้ โบรกเกอร์เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์วอลล์สตรีทได้ทำลายสถิติด้วยตัวเลขที่คู่ต่อสู้ต้องเงียบกริบด้วยเงินประมูลสูงสุดถึง 309.59 ล้านบาท ทิ้งห่างอันดับรองอีก 4 บริษัท คือ บงล.ธนพล 233 ล้านบาท บล.ยูไนเต็ด 227.77 ล้านบาท บงล.ไทยฟูจิ 226 ล้านบาท และบงล.มหาธนกิจ 223 ล้านบาท

"เราประเมินคู่ต่อสู้สูงเกินไป" ถ้อยคำจากปากของสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการที่เอ่ยถึงตัวเลขที่ทิ้งห่างจากอันดับสองถึง 70 ล้านบาท

สมชัย บุญนำศิริ เพิ่งก้าวเข้ามาบริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์วอลล์สตรีทเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วด้วยประสบการณ์มืออาชีพไม่ต่ำกว่าสิบปี สมชัยกล่าวว่าผู้มีพระคุณที่เปรียบเสมือนครูและเจ้านายของเขาคนแรกก็คือ สุนทร อรุณานนท์ชัย อดีตผู้บริหารบงล.สินเอเซียและกรรมการผู้จัดการแบงก์มหานคร

สมชัยเติบโตในสายสิบเชื่อแล้วไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฝ่ายพัฒนาและบริการการเงินของสินเอเซีย และเมื่อสุนทรได้รับการทาบทามเป็นกรรมการผู้จัดการแบงก์มหานคร สุนทรก็ได้ดึงเอาสมชัยไปช่วยดูแลในตำแหน่งผู้จัดการสำนักบริหารเงินและปริวรรตเงินตราด้วย

หลังเกิดเหตุการณ์ลาออกของสุนทรจากแบงก์มหานคร สมชัยก็ได้ติดตามมาช่วยดูแลกิจการบริษัทส่วนตัวของสุนทรโดยเป็นรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเอสแอนด์เอ เอ็นเทอร์ไพรส์ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของสุนทรและอารยา อรุณานนท์ชัย

ความรู้ที่สมชัยร่ำเรียนจบปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่ประเทศอังกฤษ ทำให้สมชัยกลายเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสุนทรดูแลการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การเข้าไปจัดการวางระบบการลงทุนในอุตสาหกรรมโรงงานรองเท้า ชื่อบริษัทโอเรียนเต็ลฟุตแวร์ที่ตั้งอยู่ถนนบางนา-ตราด และยังเข้าไปช่วยก่อร่างโรงงานผลิตรถเหล็กจำลอง "แม็ท บ็อกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล" ซึ่งทางฮ่องกงได้เข้าไปซื้อกิจการแล้ว ทางสุนทรมีหุ้นส่วนด้วย

ล่าสุดก่อนที่สมชัยจะมาบริหารบงล.วอลล์สตรีท เขาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนยูเนี่ยน ไฟแนนซ์ และผู้จัดการทั่วไปของบริษัทซีพีทาวเวอร์

"พอตึกซีพีสร้างเสร็จและเราหาผู้เช่าได้เรียบร้อยแล้ว นิพนธ์ ลีละศิธร ซึ่งเป็นลูกชายของวิสิทธิ์เจ้าของวอลล์สตรีทก็ชวนผมไปทำงานด้วย โดยให้เหตุผลว่า ทางคุณพ่ออยากหามืออาชีพเข้ามาบริหารจริง ๆ" สมชัยเล่าให้ฟังถึงความสัมพันธ์นานนับ 8 ปีกับนิพนธ์ซึ่งรู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งคู่ทำงานที่ฝ่ายวาณิชธนกิจของสินเอเซีย

นิพนธ์ ลีละศิธร เป็นลูกชายคนโตวัย 30 ปีของวิสิทธิ์ที่ช่วยบิดาดูแลกิจการอาหารสัตว์ "บริษัทลีพัฒนา" และมีน้องชายวัย 28 ปีชื่อปรีชาที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ของวอลล์สตรีทอยู่

การเข้ามาของสมชัยเมื่อมีนาคม ปี 2532 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาพพจน์ จากระบบเถ้าแก่สู่มืออาชีพมากขึ้น นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงชื่อกิจการจาก "บงล.ไทยรัฐ" เป็นชื่อใหม่ว่า "บงล.วอลล์สตรีท"

นอกจากนี้ สมชัยยังดึงทีมผู้บริหารเข้ามาเสริมมากขึ้น เช่นประสิทธิ์ เตชะจงจินตนา อดีตผู้จัดการฝ่ายที่ดูแลด้านอันเดอร์ไรติ้งของสินเอเซียและปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการวอลล์สตรีท ประสิทธิ์เป็นนักเรียนทุนจีบ้ารุ่นแรก (จีบ้าปัจจุบันชื่อ "ศศินทร์" สอนระดับปริญญาโทด้านการจัดการหรือเอ็มบีเอ) เช่นเดียวกับวิมล บุญธีรวรผู้เคยอยู่กับสมชัยในฝ่ายวาณิชธนกิจ ของสินเอเซียมาก่อนที่จะย้ายไปอยู่บริษัทวิจัยหลักทรัพย์โฮโกเว็ตประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือข่ายของธนาคารเซ็คเคียวริตี้แปซิฟิค หลังจากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่บงล.วอลล์สตรีทเป็นผู้จัดการฝ่ายพัฒนาและการเงิน ภายในระยะเวลาหนึ่งปี ซับโบรกเกอร์อย่างวอลล์สตรีทได้ส่วนแบ่งตลาดวอลุ่มการซื้อขายเมื่อปีที่แล้ว 109% ของวอลุ่ม รวมทั้งตลาดเมื่อเทียบกับโบรกเกอร์ทั้ง 35 เบอร์แล้ว วอลล์สตรีทอยู่อันดับที่ 23 ปริมาณการซื้อขายของวอลล์สตรีททั้งหมดรวมแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท

การลงทุนมหาศาลเพื่อชิงเก้าอี้โบรกเกอร์ที่ว่างอยู่ 5 อันดับโดยมีซับโบรกเกอร์คู่แข่งขันที่ได้รับการคัดเลือกขั้นต้นแล้ว 14 ราย งานนี้สี่ผู้บริหารระดับสูงของวอลล์สตรีทซึ่งประกอบด้วยสมชัย ประสิทธิ์ ปรีชา และวิมลได้ระดมสมองวางแผนเตรียมตัวลงสนามประมูลนี้

"วันที่ประมูลในตอนเช้า ผู้บริหารบริษัทเห็นว่า ตัวเลขที่จะทำให้ชนะประมูลจะอยู่ระหว่าง 270-370 ล้านบาท แต่ที่ประชุมบอกว่า 270 ล้านบาทยังไม่มั่นใจว่าจะได้ นอกจากนี้ การประมูลโบรกเกอร์ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสอีก และเราก็มีฐานลูกค้าหลักทรัพย์อยู่แล้ว จึงใส่ตัวเลขขยับขึ้นเป็น 320 ล้านบาท แต่เราก็คิดว่าน่าจะเหลือไว้ 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงใส่ตัวเลขไป 309.59 ล้านบาท" สมชัย กรรมการผู้จัดการเล่าให้ฟังถึงนาทีระทึกใจที่เก็งตัวเลขไว้

"ตอนที่เห็นชาร์เตอร์ดชินตุงรัตตเสนอ 181 ล้านบาทเศษ ก็ชักเสียว ๆ เหมือนกัน กลัวว่า ตัวเลขจะกระโดด แต่เมื่อประกาศตัวเลขของธนพลก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อยก็โด่งเหนือคนอื่นประมาณ 70 ล้านบาท เราก็ไม่ต้องคิดมากเพราะห่างประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าอัตราไม่สูงมากนัก พอที่จะรับกันไหว แต่เจเอฟฯ เสนอตัวเลขต่ำกว่าที่เราคาดไว้ คือ 215.89 ล้านบาท" นี่คือการประเมินคู่ต่อสู้สูงเกินไปในสายตาของสมชัย

"งานนี้วิสิทธิ์ ลีละศิธรบอกแล้ว แต่เราวันที่ไปประมูล ผลออกมาสูงกว่าคนอื่น ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะเรามีฐานธุรกิจอยู่แล้ว เราอยากได้ก็ต้องเอา" สมชัยกล่าวถึงความใจกว้างของวิสิทธิ์ ลีละศิธร ประธานกรรมการบริหารบริษัท

ตระกูลลีละศิธรเริ่มต้นสั่งสมทุนจากกิจการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั่วไป ต่อมาเมื่อหันมาจับกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วยการพัฒนาที่ดินสร้างตึกวอลล์สตรีททาวเวอร์แถบถนนสุริวงศ์ จนกระทั่งประสบความสำเร็จก็หันมาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์บริษัทลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์รับอนุญาตในตลาดหุ้น

นอกจากเป็นเจ้าของ บงล.วอลล์สตรีทแล้ว ตระกูลลีละศิธรยังเป็นเจ้าของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และยังได้รับโควต้านำเข้าทองคำแท่งในนามบริาทพัฒนสินด้วย

และปีนี้ตระกูลลีละศิธรได้ตัดสินใจลงทุนมหาศาลนับ 309.59 ล้านบาท เพื่อเก้าอี้โบรกเกอร์นี้ ถ้าย้อนดูอดีตเมื่อครั้ง บงล.นครหลวงเครดิตชนะประมูลเก้าอี้โบรกเกอร์ด้วยเงิน 62.29 ล้านบาทก็สามารถฟื้นคืนทุนได้สำเร็จภายใน 7 เดือนกลายเป็นโบรกเกอร์ที่ซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยวอลุ่มการซื้อขายขณะนั้นตกประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อวัน แต่สำหรับคราวนี้ สมชัย กรรมการผู้จัดการได้กล่าวถึงจุดคุ้มทุนว่า

"หากวอลุ่มตลาดภายใน 5 ปีเฉลี่ยวันละ 3,500 ล้านบาท จุดคุ้มทุนของเราจะอยู่ที่ 3 ปีครึ่งเท่านั้น ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ผมถือว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนคืนกลับในทันที ไม่เหมือนสร้างโรงงานเพราะเมื่อได้เป็นโบรกเกอร์เต็มตัว ซื้อขายเพียงวันแรกคอมมิชชั่นเราก็เพิ่มทันทีประมาณ 150% จาก 0.2% กลายเป็น 0.5% นี้มองเฉพาะด้านซื้อหรือขายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งปีที่แล้วเราได้ค่าคอมมิชชั่น 45 ล้านบาท ถ้าหาก 0.5% เราจะได้เพิ่มเป็น 13 ล้านบาท"

แต่สภาพตลาดปัจจุบันนี้ มีปัจจัยสำคัญที่จะเอื้อต่อปริมาณการซื้อขายที่สูงเพิ่มขึ้นมหาศาลก็คือ ระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่โบรกเกอร์ใหม่ทั้ง 5 บริษัทต้องพัฒนา

"ตอนนี้เรากำลังพิจารณาว่า จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของแวกซ์ หรือสตาร์ตัส หรือไอบีเอ็ม และลงทุนเพิ่มด้านอุปกรณ์ทีวี วอลล์และดิสเพลย์บอร์ดทั้งหมดนี้ใช้เงินประมาณ 30-40 ล้านบาท" สมชัยกล่าวถึงการเตรียมพร้อมด้านระบบและคนเพื่ออนาคตที่คาดว่าจะมีการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ในราวเดือนกรกฎาคมนี้

นอกจากงานด้านค้าหุ้นแล้ว นโยบายด้านอันเดอร์ไรเตอร์ที่เริ่มบุกตลาดมากขึ้น หลังจากปลายปีที่แล้วได้มีการตั้งทีมงานและเป็นแกนนำด้านการจัดจำหน่ายและรับประกันหุ้นบริษัทศรีตรงแอคโกล์

ปัจจุบันพอร์ตของบริษัทวอลล์สตรีทที่ลงทุนในตลาดหุ้นนั้น สมชัยกล่าวว่ามีน้อยมาก ในวงเงินประมาณ 74.9 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าข้อกำหนดของแบงก์ชาติที่ให้ลงทุนไม่เกิน 60% ของเงินกองทุน และในจำนวน 74 ล้านบาทนี้ไปลงทุนในกองทุนร่วมพัฒนาสองถึง 35 ล้านบาท

"นโยบายบริษัทเราไม่เน้นการลงทุนพอร์ตอยู่แล้ว" สมชัยเปิดเผยถึงฐานะด้านจริยธรรมของโบรกเกอร์ไทยที่มักตกเป็นผู้ต้องหาในเรื่องนี้ แต่การที่กรรมการบริหารบางคนของบริษัทโบรกเกอร์ไทยบางแห่ง มีการตั้งบริษัทลงทุนของตนเองในตลาดหุ้นหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครกล้าตอบ

เป้าหมายลูกค้าของบงล.วอลล์สตรีทในระยะเริ่มต้นยังคงอยุ่ที่นักลงทุนรายบุคคล เพราะกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นสถาบันนั้น สมชัยกล่าวว่าลูกค้าประเภทนี้ต้องการงานบริการด้านวิจัยควบคู่ด้วย ซึ่งทางบริษัทยังไม่พร้อมที่จะก้าวไปถึงจุดนั้น

"โบรกเกอร์ไทยยังทำรีเสิร์ชไม่กี่ราย ในอนาคตเราคงต้องพัฒนาทีมงานด้านนี้ขึ้นมาด้วย" สมชัยกล่าวถึงการขยายงาน "ต่อไปในหนึ่งปีหลังจากระบบซื้อขายไปได้ดี เราอาจจะขยายสำนักงานซื้อขายหุ้นในต่างจังหวัดด้วยเมื่อทางการอนุญาต"

จากจุดเริ่มต้นของก้าวแรกที่เข้าสู่การเป็นโบรกเกอร์หมายเลขใหม่ของวอลล์สตรีท สมชัยในฐานะผู้บริหารมืออาชีพมีสิ่งมากมายที่ต้องทำ และเป้าหมายสูงสุดของเขาก็คือการมีคุณภาพสูงสุดในการเป็นโบรกเกอร์ที่เป็นที่ยอมรับในวงการ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.