นานมาแล้วในปี 2487 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เกิดเหตุใหญ่ ลูกระเบิดตกใส่ร้านหนังสือกรุงเทพบรรณาคาร
ทำให้สองสามีภรรยาต้นสกุล "วิจิตรานนท์" คือพระยานิพนธ์พจนาตถ์หรือสันตติ์
นิพนธ์ พจนาตถ์ วิจิตรานนท์ (ส.น. วิจิตรานนท์) ถึงแก่กรรมทันทีพร้อมกับคู่ชีวิต
ม.ร.ว. หญิง เลื่อนอรนพ วิจิตรานนท์
พระยานิพนธ์ฯ เป็นบุตรของพระยารักษาสมบัติ (เทศเปรียญ) และคุณหญิงเป้า
ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษและอัสสัมชัญ เคยได้รับทุนไปเรียนต่อระดับมัธยมในประเทศฝรั่งเศส
เมื่อจบการศึกษาก็เข้ารับราชการกระทรวงต่างประเทศตามรอยบิดา ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อทำงานกับองรีปองโสต์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเสนาบดีมหาดไทย
ในรัชการที่ 6 พระยานิพนธ์ฯ ได้สมัครไปอยู่ในกองเสือป่าอาสาสมัคร ได้รับพระราชทานเป็นเสือเอก
และนายหมู่ตรีชีวิต ข้าราชสำนักที่รุ่งโรจน์ได้ส่งเสริมให้พระยานิพนธ์ ได้ทำงานที่ตนเองรักในตำแหน่งบรรณารักษ์กรมราชเลขานุการในพระองค์
สังกัดมหาดเล็กและได้เป็นเจ้ากรมราชเลขาธิการตลอดมา จนกระทั่งมีการยุบเลิกกรมราชเลขาธิการภายหลังการปฏิวัติการปกครองปี
2475 พระยานิพนธ์ฯ ก็ได้ลาออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ ภายหลังไม่มีการเรียกบรรดาศักดิ์กัน
พระยานิพนธ์ฯ ได้ใช้ชื่อว่า "สันตติ์ นิพนธ์ พจนาตถ์ วิจิตรานนท์"
พระยานิพนธ์ฯ ได้สมรสกับ ม.ร.ว. เลื่อนอรนพ เมื่อปี 2453 และมีบุตรีคนเดียวคือ
สุเนตรา วิจิตรานนท์ ซึ่งเป็นภรรยาของ พลเรือโท สวัสดิ์ คงศิริ ปัจจุบันสุเนตราเป็นเจ้าของกิจการร้านหนังสือนิพนธ์
สี่แยกพระยาศรี ซึ่งก่อตั้งบริษัทขึ้นโดยนำเอาราชทินนามของพระยานิพนธ์มาตั้งชื่อเป็นศิริมงคล
นอกจากนี้พระยานิพนธ์ฯ ยังมีบุตรธิดากับภรรยาอื่น ๆ อีก 21 คน แบ่งได้เป็น
4 สาย บุตรธิดาสายแรกคือ สุดารา เชาวน์ปรีชา วิจิตร และมนูญ วิจิตรานนท์
สำหรับสายที่สองของพระยานิพนธ์ซึ่งถือว่าเป็นสายสำคัญที่มีบทบาทลือลั่นในวงการธุรกิจ
ได้แก่บุตรสาวคนที่สองในสายนี้ของพระยานิพนธ์ฯ ที่ชื่อ ส่องศรี วิจิตรานนท์
(ชื่อเล่นว่า "ตุ้ม") ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยน ชื่อเป็นคุณหญิงลลิลทิพย์
ธารวณิชกุล สมรสกับวัลลภ ธารวณิชกุล (จอห์นนี่ มา) เจ้าของธนาคารเอเชียทรัสต์และบริษัทชลประทานซีเมนต์
ปัจจุบันถือได้ว่าคุณหญิงเป็นเสาหลักของตระกูลวิจิตรานนท์ในสายที่สองนี้
ที่มีอุปนิสัยเข้มงวด เจ้าระเบียบและหยิ่งในความเป็นผู้ดีเก่าของตนเอง
คุณหญิงมีพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันอีก 8 คนได้แก่ สุสุทธ์ สุพรรณี ศิริ
แต๋ว ติ๋ว นิรันดร์ ต้อย และแอ๊ว
พี่ชายคนโตชื่อสุสุทธิ์ วิจิตรานนท์เคยมีบทบาทเป็นกรรมการและผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของธนาคารเอเชียทรัสต์หรือธนาคารสยามซึ่งหยุดดำเนินการไปแล้ว
สุสุทธิ์เป็นลูกคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ใกล้เหตุการณ์วิปโยคในวันที่ลูกระเบิดคร่าชีวิตบิดาบังเกิดเกล้าไป
ตัวสุสุทธ์เองก็แทบเอาชีวิตไม่รอด
"ก่อนที่เหตุการณ์อันร้ายแรงจะเกิดขึ้นเพียงชั่ว 2-3 นาที คุณพ่อยังได้
พูดว่า "แอ๊ด-ลูกรักของพ่อ-ช่วยตัวเองเถอะ" จากนั้นลูกระเบิดลงใกล้
ๆ ร้าน กระจกภายในร้านแตกเปรื่องปร่าง ทุก ๆ คนขวัญเสีย แต่คุณป้ายังคุมสติได้มั่นพอและได้พูดอย่างปกติ
"หนูแอ๊ดมาอยู่ใกล้ ๆ แม่อยู่ที่ไหนก็ไม่ประเสริฐเท่าอยู่ใกล้พ่อใกล้แม่"
สิ้นเสียงสั่ง มัจจุราชได้พรากชีวิตอันเป็นที่รักและเคารพไปเสียแล้วนี่คือความสูญเสียที่สุสุทธ์บันทึกคำไว้อาลัยไว้ในอนุสรณ์งานศพเมื่อปี
2487
ต่อมาสุสุทธ์ได้กลายเป็นทายาทที่รับช่วงกิจการร้านหนังสือกรุงเทพบรรณาคารแต่ดำเนินการไปได้พักหนึ่งก็ต้องยุติขณะที่ร้านหนังสือนิพนธ์ของสุเนตรายังคงทำอยู่
ส่วนน้อง ๆ รองจากคุณหญิงลลิลทิพย์ลงมา เป็นน้องชายชื่อ ศิริ วิจิตรานนท์
ชื่อเล่นว่า "ถึก" ที่เคยทำงานธนาคารอเมริกาและธนาคารศรีอยุธยา
เคยมีบทบาทในฐานะกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในธนาคารเอเชียทรัสต์
นิรันดร์ วิจิตรานนท์เป็นน้องชายคุณหญิงอีกคนที่มีบทบาทปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารในกิจการโทรทัศน์ช่อง
3 ร่วมกับตระกูลมาลีนนท์ ในอดีตนิรันดร์ได้ดึงเพื่อนสนิทอย่างณรงค์ จุลชาติเข้ามาเป็นกุนซือสำคัญในการฮุบกิจการบริษัทชลประทานซีเมนต์จนสำเร็จ
สามารถโค่นล้มผู้บริหารมืออาชีพอย่างหมอสมภพ สุสังกรกาญจน์และ ดร. รชฎ กาญจนวณิชย์ได้
นอกจากสายคุณหญิงลลิลทิพย์แล้ว ตระกูลวิจิตรานนท์ที่เป็นสายที่ 3 ยังมีอยู่อีก
6 คนคือ สุรีย์ สุนี สุพัตรา สุกันยา สุธีราและสุธัญญะ ส่วนสายที่ 4 ได้แก่สุธรรม
วิจิตรานนท์และอนงค์พันธุ์
ครอบครัวใหญ่อย่างตระกูลวิจิตรานนท์นี้มีพระยานิพนธ์ เป็นผู้นำและวางรากฐานธุรกิจตั้งแต่กาลก่อน
หลังจากที่พระยานิพนธ์ฯ ออกจากราชการ ก็ได้ริเริ่มทำร้านหนังสือและเครื่องเขียนที่ใหญ่ที่สุดชื่อร้านกรุงเทพบรรณาคาร
และได้ซื้อโรงพิมพ์สยามบรรณากิจเพื่อจัดพิมพ์หนังสือตำราพจนานุกรม ประมวลศัพท์วิทยาการและพิมพ์ปทานุกรมของสอ
เศรษฐบุตร
มรดกชิ้นใหญ่และสำคัญที่พระยานิพนธ์ฯ ได้สั่งสมเอาไว้มาก ๆ ก็คือที่ดินแถบสุขุมวิทและบางกะปิ
ซึ่งได้กลายเป็นสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลในปัจจุบันสำหรับลูกหลานตระกูล วิจิตรานนท์
"เมื่อนายสันตติ์ได้ลาออกจากราชการแล้ว มีเวลาเป็นของตนมากขึ้น ได้คิดทำมาหากินทางซื้อขายและเปิดทำเลที่ดินขึ้นอีกเป็นงานใหญ่กว้างขวางทางบางกะปิ
เริ่มต้นด้วยการซื้อที่นาตัดถนนมาดีไปดี ด้วยความมุ่งหมายจะให้เชื่อมถนนหลวงที่ไปสมุทรปราการกับคลองแสนแสบ
แต่ยังมิทันสำเร็จตลอด ถึงกระนั้นก็ดีโดยเหตุที่นายสันตติ์มีความคิดไกลจึงได้ตบแต่งถนนสายนี้ให้สมบูรณ์ด้วยความสะดวก
อาทิคือ มีไฟฟ้า และประปา จนเป็นที่นิยมของคหบดีทั่วไป" พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรได้เขียนประทานไว้ในอนุสรณ์งานศพพระยานิพนธ์ฯ
เมื่อเริ่มต้นบุกเบิกพัฒนาที่ดินอย่างแข็งขันแล้วประสบความสำเร็จพระยานิพนธ์ฯ
ก็ได้ตัดซอยอีก 4 ซอยจากถนนมาดีไปดีเชื่อมถนนทองหล่อและได้กว้านซื้อที่ดินในถนนทองหล่อจำนวนมาก
นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตระกูลวิจิตรานนท์ได้กลายเป็นราชาที่ดินแถบสุขุมวิทรายใหญ่รายหนึ่ง
งานชิ้นสุดท้ายก่อนพระยานิพนธ์ฯ เสียชีวิตเพียงเดือนเดียวก็คือการจัดการขุดคลองระบายน้ำขนานกับถนนทองหล่อนี้จนสำเร็จ
ทุกวันนี้ตระกูลผู้ดีเก่าอย่าง "วิจิตรานนท์" ได้กลายเป็นเศรษฐีผู้ดีเก่าที่ร่ำรวยอยู่เงียบ
ๆ ไม่นิยมเปิดตัวในวงสังคมธุรกิจ แต่ยังหยิ่งในเกียรติภูมิแห่งสายเลือดสีน้ำเงินที่บรรพบุรุษเฉกเช่นพระยานิพนธ์ได้สั่งสมบุญบารมีไว้