'หยวน' ขยายแบนด์ฉุดบาทแข็งค่า คาดปลายปีแตะ34/ธปท.คิดหนักเลิกสำรอง30%


ผู้จัดการรายวัน(22 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ชี้ผลกระทบจีนขยายช่วงการขึ้นลงของค่าเงินหยวนจาก 0.3% เป็น 0.5% อาจทำให้แนวโน้มเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องเมื่อรวมกับปัจจัยหนุนอื่นๆไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย คาดมีสิทธิ์แตะ 34 บาทในปลายปีนี้ ระบุทำให้การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ทำได้ลำบากยิ่งขึ้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงการขยายช่วงการขึ้นลงของค่าเงินหยวนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่ระดับ 0.3% เป็น 0.5%ว่า การดำเนินการของจีนในครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเงินบาทโดยตรง แต่จะสามารถช่วยเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคนี้เมื่อเทียบกับจีนมากกว่า เพราะการที่ค่าเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นจะทำให้เงินหยวนแข็งค่าตามพื้นฐานของจีนได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินในภูมิภาคปรับแข็งค่าขึ้นตามหยวน ส่วนค่าเงินบาทจะมีทิศทางเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งเรื่องค่าเงินดอลลาร์ และพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยเอง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลอย่างต่อเนื่อง และเงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

"ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยเอง เงินบาทจึงยังคงมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น แต่จะแข็งค่าขึ้นมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งการดูแลของแบงก์ชาติด้วย"นายเอกนิติกล่าว

นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการจัดการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวคงจะไม่ส่งผลกระทบให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากปัจจุบันเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าอยู่แล้ว เป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยเอง ทั้งเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการใช้ภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

กสิกรฯชี้ปรับค่าหยวนดันบาทแตะ34

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางจีนดังกล่าวว่า แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของทางการจีนในครั้งนี้ต่อค่าเงินหยวนและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจมีจำกัด แต่ความคาดหวังในระยะถัดไปที่ว่าทางการจีนอาจจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมมากขึ้นอีก หากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนยังคงมียอดสะสมที่สูงขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้เงินสกุลภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าเงินหยวนมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ จากแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว คงจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็น่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนสำหรับการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่การนำเงินเข้ามาลงทุนได้รับการยกเว้นไม่ต้องกันสำรอง 30% ตามมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีมาตรการกันสำรอง 30%ของเงินนำเข้าระยะสั้น และมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน(Full Hedging) แต่เงินบาทก็ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบกับเงินสกุลภูมิภาคแล้ว ในรอบปี 2550 นี้ อัตราการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯเป็นรองเพียงเงินรูปีอินเดียวและเงินเปโซฟิลิปปินส์เท่านั้น

และการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของทางการจีน แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯและปัจจัยหนุนในประเทศจากแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ของไทย อาจทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มจะเดินหน้าแข็งค่าขึ้น จากระดับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ฯในปัจจุบัน เข้าหาระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ ปลายปี นั่นอาจหมายความว่า การที่ธปท.จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%ของเงินนำเข้าระยะสั้น รวมทั้งมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน คงจะทำได้ลำบากมากขึ้น หรือไม่น่าเกิดขึ้นในระยะใกล้นี้

นอกจากนี้ แม้ประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอาจจะไม่ใช่น้ำหนักหลักสำหรับการตัดสินใจนโยบายการเงินของธปท. แต่เงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น ก็อาจมีผลช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ และทำให้ธปท.กล้าที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงและอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่น่าวิตกมากเท่าในอดีต

ทั้งนี้ โดยสรุปศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การประกาศปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม ตลอดจนการเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ของธนาคารกลางจีนในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมา อาจจะมีผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดต่อแนวโน้มค่าเงินหยวน ตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเกินดุลการค้าของจีน โดยในประเด็นค่าเงินหยวนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการในครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงการแสดงท่าทีของทางการจีนในการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความกดดันจากกระแสการเรียกร้องจากนานาชาติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เพราะเป็นจังหวะเวลาการดำเนินการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าสัปดาห์ของการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารของสองประเทศ ในขณะที่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ทางการจีนคงมีความมุ่งหวังที่จะชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และเป็นการสกัดกั้นกระแสการเก็งกำไรในตลาดหุ้นจีน หลังจากที่เศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง แม้ว่าทางการจีนจะได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มาแล้วหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

กระนั้นก็ดี ถึงแม้ว่าผลกระทบในทันทีจากการดำเนินการในครั้งนี้ของทางการจีนอาจมีจำกัด แต่ความคาดหวังในระยะถัดไปที่ว่าทางการจีนอาจจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมมากขึ้นอีก อาจจะเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่กระตุ้นให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามายังภูมิภาคเอเชีย และผลักดันให้เงินสกุลภูมิภาค รวมทั้งเงินบาท มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น เพราะตลาดคาดว่าเงินหยวนมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในอนาคต

นอกจากประเด็นเรื่องค่าเงินหยวนแล้ว แนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ และแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ของไทย อาจทำให้เงินบาทยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้น จากระดับ 34.59 บาท/ดอลลาร์ฯ ในปัจจุบัน เข้าหาระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์ฯ ณ ปลายปี นั่นอาจหมายความว่า การที่ธปท.จะยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของเงินนำเข้าระยะสั้น รวมทั้งมาตรการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน คงจะทำได้ลำบากมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นดังกล่าว ก็อาจมีผลช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศ และทำให้ธปท.กล้าที่จะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงและอัตราเงินเฟ้อที่ไม่ได้เป็นความเสี่ยงที่น่าวิตกมากเท่าในอดีต

ในส่วนของผลกระทบที่เกิดกับค่าเงินหยวน ประเมินว่า การขยายกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้เงินหยวนสามารถปรับตัวแข็งค่าได้มากขึ้น แต่โอกาสที่จะเห็นเงินหยวนแข็งค่าขึ้นในอัตราที่รวดเร็วนับจากนี้ อาจจะยังมีจำกัด หากเงินหยวนยังคงรักษาทิศทางความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับในช่วงที่ผ่านมาไว้ได้ เพราะนับจากวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 จนกระทั่งวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 เงินหยวน/ดอลลาร์ฯไม่เคยขยับถึง 0.3% จากค่ากลางที่กำหนดโดยธนาคารกลางจีนในแต่ละวันเลย โดยส่วนใหญ่เงินหยวน/ดอลลาร์ฯ จะปรับตัวต่ำกว่า 0.15% จากค่ากลางที่กำหนดขึ้น และเงินหยวน/ดอลลาร์ฯ เคยขยับมากสุดที่ 0.28% จากค่ากลางที่กำหนดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2549 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเงินหยวนแข็งค่าขึ้นประมาณ 5.7% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นอัตราการแข็งค่ารที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 19.3% และเงินสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเงินเปโซฟิลิปปินส์ที่แข็งค่าขึ้น 19.7% เงินวอนเกาหลีใต้ที่แข็งค่า 10.8% เงินรูเปียอินโดนีเซียที่แข็งค่า 10.7% และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่า 8.4%

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา ทางการจีนก็ได้มีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นทีละน้อย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนการปรับเพิ่มอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ แต่เศรษฐกิจจีนก็ยังมีอัตราการขยายตัวที่ไม่ได้ชะลอลงตามที่คาดหวังมากนัก

ดังนั้น ในการดำเนินการในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพียงการแสดงท่าทีให้นานาชาติรับรู้ว่าทางการจีนยังคงเดินหน้าปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ เงินหยวนก็จะยังคงอยู่ภายใต้การดูแลจากทางการจีนอยู่ เพราะจีนคงจะไม่ปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวผันผวนหรือแข็งค่าขึ้นรวดเร็วเกินกว่าที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะรับได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอมา ฉะนั้นแล้ว ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายในครั้งนี้ ก็คาดว่าน่าจะมีจำกัดต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเกินดุลการค้าของจีน โดยหากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศไม่เปลี่ยนแปลงมาก จีนก็น่าที่จะยังสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใต้การดูแลของทางการจีน ก็คงจะไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออก ตลอดจนฐานะการเกินดุลการค้าของจีนในระยะข้างหน้าเช่นเดียวกัน

ด้านนักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ค่าเงินบาทวานนี้แกว่งอยู่ในกรอบแคบๆโดยเปิดตลาดที่ระดับ 34.56/58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34.55-34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯตลอดวัน ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้จะเป็นไปตามปัจจัยภายในประเทศมากกว่า ส่วนการขยายช่วงการขึ้นลงของค่าเงินหยวนนั้น ตลาดได้รับรู้ไปตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่แล้วที่มีการประการออกมา โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปที่ 34.54 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

"เชื่อว่าในช่วงนี้ทางแบงก์ชาติเองก็คงจับตาดูค่าเงินบาทและเข้ามาดูแลบ้าง เพื่อให้เงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก หลังจากทางการจีนขยายช่วงการขึ้นลง"นักค้าเงินกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ตลาดกำลังจับตาดูอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในระดับเท่าใด ซึ่งก็มีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ระดับ 0.50-1.00% และคาดว่าเงินบาทน่าจะแกว่งตัวอยู่ในระดับ 34.55-34.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สำคัญดังนี้

- การปรับเพิ่มกรอบความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน จากเดิมที่อนุญาตให้ค่าเงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวในแต่ละวันได้ในกรอบ +/-ได้ในกรอบ 0.3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็นอนุญาตให้ค่าเงินหยวนสามารถจะเคลื่อนไหวในแต่ละวันได้ในกรอบ +/-0.5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป

-การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม โดยเงินฝากระยะ 1 ปี ขยับขึ้น 0.27% จาก 2.79% มาที่ 3.06% และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระยะ 1 ปี เพิ่มขึ้น 0.18% จาก 6.39%มาที่ 6.57% มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคมเช่นกัน

-การกำหนดอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นอีก 0.5% จาก 11.0%มาเป็น 11.5% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2550


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.