"เจาะใจคลินตันผ่านทีมเศรษฐกิจ เปิดโฉมใหม่อเมริกันยุค "เปลี่ยนแปลง"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อครั้งที่บิลล์ คลินตันประกาศนำประเทศสู่ "การเปลี่ยนแปลง" ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีก่อน ชาวอเมริกันส่วนใหญ่พากันปลาบปลื้มกับท่าทีของอัศวินผู้เป็นความหวังใหม่ให้กับมหาเศรษฐีตกยากเช่นสหรัฐฯ อเมริกา ถึงวันนี้อดีตผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอส์วัย 44 ปี กำลังจะพิสูจน์ฝีมือการบริหารงานของเขาเสียทีว่า "การเปลี่ยนแปลง" ในความหมายของเขา จะมีความหมายอย่างเดียวกันที่ชาวอเมริกันต้องการหรือไม่และทางหนึ่งที่จะอ่านแนวคิดของเขาได้ในชั้นต้นก็คือ การพิจารณาจากทีมบริหารที่เขาแต่งตั้งขึ้นนั่นเอง โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่จะเป็นกลจักรสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าสหรัฐฯ ในขณะนี้

ในที่สุดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของบิลล์ คลินตัน เมื่อวันที่ 20 มกราคมก็ผ่านพ้นไป และนับเนื่องจากนี้ก็คือห้วงเวลาแห่งการพิสูจน์ฝีมือการบริหารงานของคลินตัน และทีมงานจากการคัดสรรของเขาว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นตามคำมั่นสัญญา หรือไม่หากพิจารณาตัวบุคคลในทีมบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ปรากฏออกมานั้น จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สนใจในประเด็นเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค อาทิ การจัดเก็บภาษีและดุลงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นลอยด์เบนต์เซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตวุฒิสมาชิกผู้เคี่ยวกรำอยู่กับงานด้านการคลังนานถึง 6 ปี หรือลีออง พาเนตตา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณผู้ประกาศว่าจะทำให้งบประมาณของประเทศอยู่ในภาวะสมดุลภายใน 5 ปี เป็นต้น กระนั้นก็ใช่ว่าทีมเศรษฐกิจดังกล่าวจะละเลยประเด็นในเชิงเศรษฐศาสตร์จุลภาคไป เห็นได้จากการให้ความสนใจด้านการฝึกอบรมแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการวิจัยและพัฒนา ที่คลิตันย้ำและจัดวางผู้ใกล้ชิดให้รับผิดชอบงานเหล่านี้ด้วยตนเอง แต่คำถามที่ตามมาก็คือว่า ความแตกต่างของแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์ของทีมเศรษฐกิจของเขาจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ลุล่วงด้วยดี หรือสร้างความแตกแยกในคณะทำงานที่ต้องปะทะกันทางความคิดกันแน่

อย่างไรก็ตาม มีนักธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ยังมองในแง่ดี อย่างเคนท์ ฮิวจ์ ประธานสภาด้านการแข่งขัน ผู้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนภาคธุรกิจมากขึ้น และดำเนินมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดซึ่งกล่าวว่า "ผู้ให้การสนับสนุนคลินตัน ไม่ได้ตื่นเต้นกับความกระตือรือร้นของรัฐบาลอีกแล้ว แต่พวกเขาต่างมองดูประเทศคู่แข่งกำลังกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในประเทศอยู่ และแทนที่จะคอยขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล พวกเขากลับมุ่งไปในประเด็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด"

แต่ความเคลือบแคลงใจต่อทีมบริหารด้านเศรษฐกิจก็ยังรอการสะสางอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของโรเบิร์ต ไรซ์ผู้ต้องรับบทหนักในด้านการฝึกอบรมแรงงานสหรัฐฯ รวมทั้งปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์หรือการที่แครอล บราวเนอร์ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมกำลังเตรียมการออกกฎระเบียบควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดซึ่งหมายถึงภาระต้นทุนที่จะสูงตาม

กระนั้น สจ๊วต ไอเซน สต๊าท อดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายภายในประเทศสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ได้ให้ความเห็นในเชิงย้ำความมั่นใจว่า "ทีมงานของคลินตันนั้นเกือบจะเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่คุณจะนึกได้แล้ว เพราะเป็นทีมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโดยไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น" ขณะที่ดรูว์ เลวิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ "ยูเนียน แปซิฟิก" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนชี้ว่า "สิ่งที่ดีที่สุดที่คลินตันทำไปก็คือ การตั้งทีมเศรษฐกิจที่ดูเหมือนว่าจะทำงานเข้ากันได้ดี ซึ่งบุชทำไม่ได้"

เปิดตัวขุนคลังสหรัฐฯ

ลอยด์ เบนต์เซน รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของสหรัฐฯ วัย71 ปี มีภาระกับการแก้ไขปัญหาในตลาดการเงินเป็นประการแรก แต่ที่คลินตันให้ความไว้วางใจเขามากเป็นพิเศษ และเชื่อมั่นว่าเขาจะเป็นผู้ผลักดันให้รัฐบาลสามารถโน้มน้าวคองเกรสให้ผ่านกฎหมายต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น ก็เนื่องจากประสบการณ์การทำงานของเบนต์เซนที่เคี่ยวกรำอยู่กับงานด้านการคลังมานาน โดยเขาเคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการคลังของวุฒิสภาสหรัฐฯ นานถึง 6 ปี และในสมัยที่เป็นกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจมหาเศรษฐีจากเท็กซัสผู้สร้างฐานะของตนเองขึ้นจากธุรกิจประกันภัย ยังเคยฝากฝีมือไว้หลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีด้านการลงทุน การผ่อนคลายข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดค่าเงิน และการลดภาษีกำไรจากภาคธุรกิจ

แต่เบนต์เซนยังกล่าวยืนยันด้วยว่า เป้าหมายหลักในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่คือการหาทางลดยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลของประเทศ ซึ่งหมายความว่า ในท้ายที่สุดแล้วเขาอาจต้องพิจารณาแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการขึ้นภาษี แม้ว่าในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นคลินตันจะเคยให้คำมั่นว่าจะลดภาษีชนชั้นกลางลงก็ตาม

ส่วนโรเจอร์ อัลต์แมน วาณิชธนกรวัย 46 ปี ผู้หอบหิ้วดีกรีจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์และมหาวิทยาลัยชิคาโก และเข้ามารับตำแหน่งมือสองของกระทรวงการคลังนั้น เคยดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่สมัยของคาร์เตอร์มาแล้ว ผลงานเด่นของอัลต์แมนคือการผลักดันให้รัฐบาลระดมเงินทุนช่วงเหลือกิจการผลิตรถยนต์ไครส์เลอร์จนประสบความสำเร็จ แต่เขาก็เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงภาคธุรกิจ "บ่อยครั้งนัก" ในครั้งนี้ ภาระรับผิดชอบของเขาอยู่ที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของคลินตันซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ โครงการที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที การเพิ่มการลงทุนภาครัฐบาล และการลดยอดขาดดุลงบประมาณโดยเร่งด่วนเพื่อเปิดทางให้เกิดการกระจายเงินทุนไปสู่ภาคเอกชน อีกทั้งเป้าหมายหลักของแผนการดังกล่าวยังอยู่ที่การสร้างงานเพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านตำแหน่งภายใน 4 ปีข้างหน้าด้วย

ทีมงานสำนักงบประมาณ

กลุ่มที่สนับสนุนนโยบายเข้มงวดเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณต่างขานรับการเข้ามาของลีออง พาเจตตา วัย 54 ปีในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ พร้อมด้วยอลิส ริฟลิน อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณประจำวุฒิสภาวัย 61 ปี ในฐานะรองผู้อำนวยการฯ โดยบทบาทแล้ว พาเนตตาคงต้องเป็นนักปฏิเสธ แต่เขาได้รับการยอมรับในแง่ของความขยันขันแข็งและอารมณ์ขัน

พาเนตตามีความเห็นว่า มาตรการที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ได้อย่างดีก็คือการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพนั่นเอง พาเนตตายังมีแผนที่จะทำให้งบประมาณของประเทศอยู่ในภาวะสมดุลภายใน 5 ปี โดยการจำกัดสิทธิพิเศษแก่ชนชั้นกลาง ทั้งทางด้านการประกันสังคมและด้านสุขภาพ รวมทั้งการเพิ่มภาษี

ส่วนริฟลินนั้นเป็นอีกผู้หนึ่งที่เชื่อว่าแนวทางงบประมาณแบบสมดุลจะช่วยลดการขาดดุลงบประมาณได้ในที่สุด โดยวิธีการที่จะบรรลุได้ก็คือการขึ้นภาษี หรือเพิ่มการบริโภค ควบคู่ไปกับการชะลออัตราเติบโตของค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมลง

สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ : มือประสานนโยบาย

ตำแหน่งที่มีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากันอีกตำแหน่งหนึ่งก็คือ ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติที่ได้โรเบิร์ต รูบิน วัย 54 ปี กุมบังเหียนในตำแหน่งประธาน หน่วยงานแห่งนี้เป็นหน่วยงานใหม่ของทำเนียบขาวก็จริง แต่มีหน้าที่หลักที่สำคัญในการประสานงานนโยบายด้านเศรษฐกิจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในลักษณะคล้ายคลึงกับงานของสภาความมั่นคงแห่งชาตินั่นเอง และการที่รูบินเป็นประธานกรรมการร่วมของบริษัทค้าหลักทรัพย์โกลด์ แมน ซาคส์ ทำให้เขามีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์แก่คลินตันนั่นเอง

สิ่งที่รูบินเห็นว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของคลินตันก็คือ "เขาจะสามารถลดการขาดดุลลงจนถึงขั้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยและค่าเงินดอลลาร์ได้หรือไม่"

แต่ขณะที่คลินตันมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการเลือกตัวผู้รับผิดชอบด้านการกำหนดงบประมาณ ในการเลือกสรรผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ก็สะท้อนถึงการพยายามแทรกแซงของเขาอย่างเห็นได้ชัดเช่นกันโดยเฉพาะการตั้งลอรา ไทสัน ศาสตราจารย์วัย 45 ปี จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมขึ้นเป็นประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ทั้งที่โดยประเพณีปฏิบัติแล้ว ตำแหน่งนี้ควรจะเป็นของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคมากกว่าและก่อนหน้านี้ หลายคนคาดคิดว่าคลินตันจะมอบตำแหน่งนี้ให้กับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ของพรรคเดโมแครต เช่น ลอว์เรนส์ ซัมเมอร์จากธนาคารโลก พอล ครูกแมนแห่งเอ็มไอทีหรืออลัน ไบลเดอร์ แห่งมหาวิทยาลัยปริ้นส์ตันมากกว่า คลินตันถึงกับเอ่ยปากว่าสภาที่ปรึกษาฯ ชุดนี้ "จะมีความสำคัญและขึ้นตรงกับคณะรัฐบาลของผมมากกว่าชุดของรัฐบาลใดๆ นับแต่สมัยประธานาธิบดีเคนเนดี"

แนวคิดหลักของไทสันสะท้อนให้เห็นได้ชัดดเจนจากหนังสือที่เธอเขียนล่าสุดชื่อ "WHO'S BASHING WHOM? TRADE CONFLICT IN HIGH TECHONOLOGY INDUSTRIES" โดยเฉพาะในประเด็นการค้าเสรีนั้น เธอเห็นว่า "การค้าเสรีไม่จำเป็นจะต้องเป็น และไม่ใช่นโยบายที่ดีที่สุดโดยตัวเอง" กระนั้นก็ไม่อาจกล่าวว่าไทสันเป็นนักกีดกันทางการค้าเช่นกัน เธอคัดค้านการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้า โดยอ้างว่าเป็นการเสียประโยชน์และปิดกั้นการแข่งขันทางธุรกิจ ไทสันต้องการให้มีการอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมหลักที่ประเทศคู่แข่งมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิตเช่นกัน นอกจากนั้นเธอยังเสนอมาตรการขั้นสุดท้ายที่เธอเรียกว่า "การบริหารการค้า" กล่าวคือให้เปิดการเจรจาระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อรับประกันส่วนแบ่งตลาดที่แน่นอน ที่ประเทศคู่แข่งต้องเปิดตลาดแก่ต่างชาติ

พาณิชย์-แรงงาน...กระทรวงหลักในสายตาคลินตัน

ท่าทีความเอาใจใส่ต่อปัญหาเศรษฐกิจในระดับจุลภาคของคลินตันนั้นยังสะท้อนให้เห็นได้จากการแต่งตั้งโรเบิร์ต ไรช์ เพื่อนรักวัย 46 ปีของเขา ขึ้นเป็นเจ้ากระทรวงแรงงาน ทั้งนี้เพราะคลินตันเชื่อเช่นเดียวกับไรช์ผู้แต่งหนังสือ "THE WORK OF NATION" ว่า การลงทุนทางด้านการศึกษาและการฝึกอบรมแรงงานถือเป็นปัจจัยประการสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพอัตราเติบโต และมาตรฐานการครองชีพให้กับสหรัฐฯ

แต่แม้ว่าแนวคิดของไรช์จะมีลักษณะสร้างสรรค์และได้รับการชมเชยจากหลายฝ่าย ข้อสงสัยประการหนึ่งที่เขาจะต้องลบล้างให้ได้ก็คือ เขาจะทำตามที่คิดได้หรือไม่

กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักอีกหน่วยหนึ่ง ที่คลินตันฝากความหวังไว้มากว่าจะสานแผนการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมุ่งให้ความสำคัญกับงานวิจัย และพัฒนามากขึ้นและเขาได้มอบหมายให้รอน บราวน์รับผิดชอบงานส่วนนี้โดยตรง ในการแถลงต่อคณะกรรมาธิการค้าของคองเกรสเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา บราวน์เผยทัศนะของเขาว่า "ผมคิดว่าโลกควรจะมีรูปแบบการค้าเสรี แต่ก็ต้องเป็นการค้าที่ยุติธรรมด้วยผมจึงตัดสินใจว่าจะนำกฎหมายการค้ามาใช้อย่างแข็งกร้าว"

แม้ว่าบราวน์จะถูกค่อนแคะว่าเคยเป็นล็อบบี้ยิสต์ให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านกฏหมายแพตตอนบอกส์ แอนด์โบลว์แห่งวอชิงตัน และบริษัทเครื่องไฟฟ้าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เขากลับย้อนว่าประสบการณ์ดังกล่าวช่วยทำให้เขาแข็งแกร่ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และกรณีที่ญี่ปุ่นอาจไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่จะซื้อสินค้าเซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 20% ในปี 1992 ซึ่งต้องรอดูผลรายงานในเดือนมีนาคมนี้นั้น เขากล่าวว่า สหรัฐฯ ต้องแข็งกร้าวขึ้นและเข้มงวดขึ้นกว่าเก่า

บราวน์ยังสนับสนุนแนวทางการเจรจาแบบเร่งด่วนหรือ FAST TRACK ซึ่งกำลังจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน 1993 แต่คาดกันว่าอาจมีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ใหม่เพื่อรับรองข้อตกลงเสรีการค้าโลกอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และข้อตกลงการค้าโลก (แกตต์) การเจรจาดังกล่าวเป็นวิธีการเจรจาโดยรัฐบาลต้องปรึกษาร่วมกับคองเกรสตลอดการเจรจา โดยที่คองเกรสอาจรับรองหรือคัดค้านข้อตกลงนั้น ๆ ได้แต่ไม่มีสิทธิแปรญัตติ

นอกจากนั้น บราวน์ยังสนับสนุนความคิดที่จะนำระบบแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้า หรือ BARTER มาใช้เพื่อขยายการค้าด้วย โดยเฉพาะกับรัสเซียซึ่งขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ แต่เขาไม่สนับสนุนให้กระทรวงพาณิชย์เปลี่ยนโฉมเป็นหน่วยงานคล้าย ๆ กับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (มิติ) ของญี่ปุ่น โดยอ้างว่า "เราไม่จำเป็นตะต้องไปไกลถึงขนาดนั้น แต่ระหว่างภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกับภาครัฐบาลควรจะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบใหม่ ถ้าเราต้องการแข่งขันกับต่างชาติ"

สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข..งานเสริมแต่ท้าทาย

ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่คลินตันมอบให้กับแครอล บราวเนอร์ วัย 37 ปีนั้น สร้างความอึดอัดใจให้กับนักธุรกิจอยู่ไม่น้อยเนื่องจากบราวน์ได้ชื่อว่าเป็นนักสิ่งแวดล้อมตัวยง ไม่แพ้อัล กอร์ อดีตหัวหน้าผู้กลายมาเป็นรองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน บราวเนอร์ได้รับการยกย่องชื่นชมจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแง่ของการพยายามแก้ปัยหามลพิษที่เอเวอร์เกลดส์ แต่ในทัศนะของนักธุรกิจแล้ว เธอออกจะแข็งกร้าวเกินไป แต่เธอให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เสียใหม่และเน้นการสร้างแรงจูงใจ เช่น การเสนอลดหย่อนภาษี แทนการบังคับควบคุม แต่หากมาตรการดังกล่าวล้มเหลว ภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และกระเทือนต่อแผนการสร้างงานของคลินตันอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับกระทรวงสาธารณสุขและบริการชุมชนได้ดอนนา ชาเลลา วัย 51 ปี เป็นผู้รับผิดชอบ กระทรวงนี้ได้รับงบประมาณสูงสุดในปี 1993 คือ 299,000 ล้านดอลลาร์ (เทียบกับงบประมาณเพนตากอนหรือกระทรวงกลาโหมที่ 274,000 ล้านดอลลาร์) เนื่องจากต้องรับภาระงานสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่หลายต่อหลายโครงการด้วยกัน และยังเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญสำหรับคลินตันเป็นอย่างมาก เพราะเขามีนโยบายที่จะลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่เป็นภาระหนักที่สุดของสหรัฐฯ ในขณะนี้ลง โดยโอนให้เป็นความรับผิดชอบของบริษัทหรือหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงาน และรัฐจะรับผิดชอบเฉพาะกรณีผู้ที่ไม่มีงานทำเท่านั้น ภาระอันยิ่งใหญ่นี้จึงนับเป็นการพิสูจน์ฝีมือของชาเลลาอย่างมากแม้ว่าจะมีฐานะในอดีตถึงขั้นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และเคยสร้างชื่อไว้จากการเป็นนักบริหารและผู้อุทิศตนเพื่อเยาวชนอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.