"ขบวนการล้อแม็กบราบัสปลอม"


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

คดีความข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าบนล้อแม็กที่ค้างคาอยู่ในศาลขณะนี้มีอยู่ด้วยกันสองเรื่อง เรื่องแรกเป็นดดีปลอมล้อแม็ก "BRABUS" เรื่องที่สองคือคดีปลอมล้อแม็ก "เอนไก"

กลางปี 2535 บริษัทไทยฟิวเจอร์คอนเซพท์ผู้แทนจำหน่ายสินค้าประดับยนต์ BRABUS ได้นำกำลังตำรวจบุกทลายโรงงาน "เอ ออ โตโมทีฟ (ประเทศไทย)" (A. AUTO MOTIVE) หลักฐานชิ้นสำคัญที่ยึดได้ในวันนั้นคือแม่พิมพ์ 2 ชุดที่เลียนแบบล้อแม็ก 3 แฉก ขอบ 15 และ 16 นิ้ว (ของแท้จะต้องเป็นขอบ 17 นิ้วใส่กับรถเมอร์ซิเดส-เบนซ์เท่านั้น) ซึ่งใช้ชื่อยี่ห้อว่า "BRABAS" ต่างจากของจริงเพียงแค่เปลี่ยนตัว U เป็นตัวA และยี่ห้อ "BRABA" โดยขายส่ง วงละ 4,000 บาทและราคาขายปลีกตามร้านค้ายางและล้อวงละ 6,000-6,500 บาท ปรากฏว่าก่อนจะถูกจับได้ขายออกไปแล้ว 5,000 วงมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

"วันนั้นที่ผมบุกเข้าไปจับล้อแม็กบราบัสปลอม ถ้าผมสามารถจับล้อแม็กเลียนแบบของ AC SCHNITZER ได้ตอนนั้นผมจะได้ของปลอมเกือบ 12,000 วง มากกว่าบราบัสเสียอีกเพราะตอนนี้เราเป็นตัวแทน SCHNTZER แล้ว ขายดีมากเดือนหนึ่ง ประมาณ 2,000 วง" พิยุชน์ เจียมประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยฟิวเจอร์คอนเซพท์เล่าให้ฟัง

ขณะนี้บริษัทแม่ ACSCHNITZER ได้ยื่นฟ้องตั้งแต่ต้นปีขอให้บริษัทเอ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมาย AC SCHNITER เนื่องจากไม่มีสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย

เอ ออโตโมทีฟเป็นสาขาหนึ่งของบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ที่มาเลเซีย โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวมาเลย์ถือหุ้นอยู่ 49% ของทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาทเครือข่ายของโรงงานเอ ออโตโมทีฟมีอยู่ทั้งสิ้น 4 แห่ง อยู่ในมาเลเซีย 2 แห่งและในไทย 2 แห่งที่สุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาสและที่สมุทรสาครทั้ง 4 โรงงานนี้เป็นแหล่งผลิตล้อแม็กปลอมขนาดใหญ่ที่สุด ในเอเชียเพราะมีกำลังการผลิตโดยรวมทุกยี่ห้อประมาณไม่ต่ำกว่า 780,000 วงต่อปี คิดเป็นมูลค่า 3,072 ล้านบาท

ขบวนการผลิตล้อแม็กปลอมของ เอ ออโตโมทีฟในไทย เริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำเข้าล้อแม็กปลอมจากไต้หวันเข้ามาระบายในไทย หลังจากที่ทดสอบตลาดจากจำนวนไม่มากนัก จนมองเห็นลู่ทางสดใสเนื่องจากความนิยมล้อแม็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2530 ทำให้เริ่มการขอจดทะเบียนตั้งโรงงานแห่งนี้ขึ้นมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายในปี 2531 แต่ผลิตล้อแม็กเลียนแบบหรือปลอมยี่ห้อดัง ๆ ที่ขายดี

ในระยะหลังได้มีการสั่งแม่พิมพ์หล่อล้อแม็กเข้ามาผลิตในไทย ซึ่งราคาตกตัวละประมาณ 200,000 บาท แต่ให้ผลผลิตที่เกินคุ้ม แถมกำไรมหาศาล ทำการส่งออกล้อแม็กไปขายที่สิงค์โปร์และมาเลเซีย

วัตถุดิบที่โรงงานแห่งนี้นำมาใช้พบว่าเป็นอะลูมินั่มเกรดต่ำสุด ซึ่งมีต้นทุนต่ำมากเพียงตันละ 40,000 บาทเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เกรดเอของอะลูมินั่มที่ใช้ทำล้อแม็กจะตกประมาณ 80,000-100,000 บาทขึ้นไปทำให้ต้นทุนต่ำสามารถให้กำไรร้านค้ามากเป็นข้อจูงใจที่ทำให้ทุกร้านยางและล้อแม็กปลอมปะปนอยู่ครึ่งต่อครึ่ง โดยมีกลุ่มลูกค้าที่ชอบเลือกซื้อล้อแม็กเพียงแค่ดูความสวยงามและราคาถูก

นอกเหนือจากปัญหาล้อแม็กปลอมที่ผลิตในประเทศแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็คือ ปัญหาการลักลอบนำเข้าล้อแม็กจากต่างประเทศ โดยใช้ช่องทางเลี่ยงภาษี

"เราเองพยายามสกัดทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะปิดเอเยนต์ที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ เอ ออโตโมทีฟ ไปแล้ว เพราะเดิมทีเป็นตัวที่ลักลอบนำล้อแม็กหนีภาษีหรือปะปนกับสินค้าอื่น ๆ เช่นสินค้าใช้แล้วเศษผ้า เพื่อเลี่ยงเสียภาษีน้อยลง เพราะแทนที่จะเสียภาษีวงละ 2 พันกว่าบาท ก็เสียแค่ 300-500 บาท แต่หลังจากนั้นก็มาโผล่ที่มาเลเซีย ผมบินไปดูก็ไม่เห็นรถเบนซ์มาเลเซียสักคันเดียวที่ใช้ล้อแม็ก 17 นิ้วเพราะของเขาใช้ 16 นิ้ว แต่พอผมเช็คกลับไปที่ต้นสังกัดบริษัทแม่บราบัสที่เยอรมันก็พบว่ามีการซื้อขายล้อ 17 นิ้วจำนวน 400-500 วง เข้ามาที่มาเลเซีย แต่จริง ๆ มาเข้าที่ไทย เราจึงปิดเอเยนต์ที่มาเลย์อีกแห่ง" กรรมการผู้จัดการไทยฟิวเจอร์เล่าให้ฟังอย่างเจ็บปวด

ถึงอย่างไรก็ตามแม้ปิดเอเยนต์ที่มาเลเซียแล้ว มืออาชีพเหล่านี้ก็พยายามหาหนทางที่จะนำเข้าล้อแม็กมาขายในไทยให้จงได้ จึงได้มีการติดต่อกับทางผู้นำเข้าที่เยอรมัน ซึ่งกว้านซื้อจากเอเยนต์ผู้ค้าส่งในเยอรมันจำนวนมาก แล้วนำมาขายตัดราคาเอากำไรสุทธิเพียง 5-7% โดยการลักลอบหนีภาษีเข้ามา" ปัจจุบันนี้ ธุรกิจล้อแม็กที่เราทำแบบไม่มีกำไรแต่ทุนราคาของเราในตลาดชุดหนึ่ง 60,000 บาท" ไม่รวมค่ายาง ซึ่งเท่ากับราคาขายที่เยอรมันที่ผมต้องลดราคาต่ำขนาดนี้เพื่อสู้กับของหนีภาษี นอกจากของปลอม" นี่คือหัวอกของพ่อค้าที่เสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้องแต่ต้องผจญกับขบวนการใต้ดินเช่นนี้

ดังนั้น การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดทำให้ปีนี้ไทยฟิวเจอร์คอนเซพท์วางแผนการขายตรงต่อกลุ่มเป้าหมายแทนที่จะทุ่มงบโฆษณาปีละกว่า 2-3 ล้านเพื่อส่งเสริมให้มีสินค้าปลอมแปลงเหล่านี้ได้ขายดีและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่เมื่อจับได้ปรากฏว่าโทษที่ทางการเล่นงานเพียงแค่ปรับไม่เกิน 4-5 หมื่นบาทเท่านั้น !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.