"เอนไก VS สยามอัลลอยวีลศึกเจ้ายุทธจักรล้อแม็ก"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

ศึกล้อแม็กอันดุเดือดเลือดพล่านกำลังอุบัติขึ้นในยุทธจักรการค้ามูลค่านับพันล้านบาทแห่งนี้ ที่ซึ่งมีเอนไกเป็นผู้นำตลาดอันแข็งแกร่ง แต่ในปี 1993 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ได้รับการคาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20%ในปีนี้ ความร้อนระอุของสมรภูมิรบทางการค้าล้อแม็กได้พัฒนาไปอีกขั้นสู่การต่อสู้กันด้วยคุณภาพ เมื่อยักษ์ใหญ่ค่ายปูนซิเมนต์ไทยได้ก้าวเข้าเป็นผู้ผลิตล้อแม็กรายใหม่ ด้วยเทคโนโลยีอันทรงประสิทธิภาพจากเยอรมันเข้าต่อสู้โรมรันกับคู่แข่งอย่างเอนไก !!

ในยุคที่รถยนต์เปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ที่มากด้วยกิเลสและหลากหลายความต้องการ ล้อแม็กเป็นสินค้าประดับยนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตามแฟชั่นบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่อย่างเช่น เอนไก ยาชิโยดา หรือรายใหม่อย่างสยามอัลลอยวีล อุตสาหกรรมในเครือปูนซิเมนต์ไทยต้องกระโจนลงยุทธภูมิการตลาดพัฒนาสินค้าล้อแม็กขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของผู้บริโภค

สภาพการแข่งขันในตลาดล้อแม็กไทยที่มีมูลค่ามหาศาลไม่ต่ำกว่าสองพันล้านบาทได้บีบคั้นให้ผู้ผลิตล้อแม็กใหญ่น้อย ต่างแสวงหาแนวความคิดที่ปรุงแต่งความสวยงามบนล้อแม็กตามแฟชั่น เน้นวิธีการลดต้นทุนการผลิตและดำเนินการผลิตด้วยคุณภาพระดับกลาง ๆ แต่บางทีคุณภาพถึงขั้นเลวในผู้ผลิตรายที่นึกถึงแต่การลดต้นทุนที่มีผลผลิตที่ฟ้องคุณภาพเนื้อโลหะ และความไม่เรียบร้อยในชิ้นงานที่ฉาบความสวยงามเพียงเปลือกมากกว่าคำนึงถึงชีวิตที่มีค่าและความปลอดภัยบนล้อแม็กที่ต้องรองรับการขับขี่ตลอด ทุกวินาที

ล้อแม็กหรือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า "ล้อแม็กนีเซียม" ถูกผลิต ขึ้นจากแนวความคิดพัฒนายานยนต์ ที่ต้องการลดภาระการรับน้ำหนักของระบบช่วงล่าง ให้รถยนต์ได้มีโอกาสใช้ล้อ หรือกระทะล้อที่มีน้ำหนักเบากว่าล้อหรือกระทะล้อเหล็ก ทำให้ระบบช่วงล่างทนทานและมีแรงต้านการหมุนน้อยลง จะส่งผลให้ขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวและประหยัดน้ำมัน ล้อแม็กจึงกลายเป็นอุปกรณ์ประดับยนต์ที่เกิดจากประดิษฐกรรมทางอุตสาหกรรม ที่ปลุกเร้าเจ้าของรถยนต์ส่วนมากให้พึงพอใจไม่สิ้นสุดที่จะแต่งโฉมรถคันโปรดให้แตกต่างตามรสนิยมและเงินตรา

บนชั้นสองที่เป็นโกดังเก็บของเอเย่นต์ร้านค้ายางย่านรังสิตกล่องกระดาษสีขาวสะอาดภายในบรรจุล้อแม็ก "เอนไก" (ENKEI) วางตั้งสูงดูแยกออกจากล้อแม็กสารพัดยี่ห้อของแท้ของเทียม ปะปนกันชนิดครึ่งต่อครึ่งที่ถูกทิ้งเปื้อนฝุ่นเกือบครึ่งพื้นที่ "เฮียเหลียง" พาเดินชมและชี้ให้ดูว่าโรงงานเอนไก เพิ่งจะส่งล้อแม็กลายใหม่เข้ามาให้ยิ่งปลายปีนี้รถยนต์ขายดีเฮียยิ่งขายได้คล่อง เพราะลูกค้าชอบหาซื้อลายใหม่ ๆ ที่พึงพอใจตามกำลังซื้อที่มีเงินอยู่ในกระเป๋า

ยอดขายล้อแม็กเอนไกเดือนละล้านบาทสำหรับเอเยนต์ร้านเฮียเหลียงย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดถึงความนิยมในตลาดผู้ใช้ล้อแม็กอย่างดี ขณะที่ล้อแม็กของ SP หรือทรัพย์ไพศาลตกอยู่แค่เดือนละสองแสนบาทส่วนลดของล้อแม็กที่เฮียเหลียงกินเปอร์เซนต์จากเอนไกตกประมาณ 3-5% ขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ อย่างเช่น SP ของทรัพย์ไพศาลอุตสาหกรรมหรือ VANTAGE ของซิตี้คอร์พอัลลอยส์เสนอให้กับเฮียเหลียงสูงถึง 12% เพื่อจูงใจให้เฮียเอาไปปล่อยให้ร้านค้าปลีก 7% ส่วนต่าง 5% ที่เฮียเหลียงได้ย่อมเป็นกอบเป็นกำมากกว่า

ล้อแม็กเอนไกที่นิยมใส่กันหนาตาส่วนใหญ่เป็นตลาดลูกค้ารถกระบะยอดขายที่เฮียเหลียงเล่าให้ฟังมีถึง 70-80% ที่เปลี่ยนใส่ล้อแม็ก ที่เหลือเป็นของรถเก๋งซึ่งส่วนใหญ่จะมีล้อแม็กติดมาแล้วจากโรงงานแล้วไม่ชอบใจจึงอยากเปลี่ยนเป็นลายล้อแม็กใหม่ ๆ

ถึงแม้ว่าเอนไกอาจจะประสบความสำเร็จในตลาดชั้นกลางและชั้นล่างของไทย แต่สำหรับนักเล่นหรือผู้บริโภคระดับสูงเอนไกในสายตาของพวกเขาติดอันดับเชยและไม่มีรสนิยม

เอนไกจึงกลายเป็นผู้นำในตลาดรถเก๋งชั้นกลาง-ชั้นล่างและรถกระบะญี่ปุ่นโดยรุกเข้าไปในตลาดผ่านทางบริษัทการตลาดที่มีชื่อว่า "เลนโซ่" ซึ่งมีตระกูลวีระพร (เดิมใช้นามสกุลวีระผดุงสกุล) เป็นเจ้าของและดำเนินการค้า สมัยยังเป็น หจก. ลีแอนด์ซันส์ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จนกระทั่งรุ่นลูกซึ่งมีพิเชษฐ์ วีระพร ลูกชายคนโตซึ่งมีแนวความคิดพัฒนายกฐานะจากผู้นำเข้ายาง RIKKEN และล้อแม็กเอนไก ให้กลายเป็นผู้ร่วมลงทุนกับเอนไกญี่ปุ่น ตั้งโรงงานผลิตล้อแม็กในไทยตั้งแต่ปี 2530 และเลนโซ่มีหน้าที่บริหารเครือข่ายการตลาดที่แบ่งได้สามส่วนดังนี้

ส่วนแรกคือ ส่วน OEM หรือโรงงานประกอบรถยนต์ที่ล้อแม็กเอนไกสามารถสร้างการยอมรับและเข้าโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายญี่ปุ่นได้ทุกยี่ห้อ ได้แก่ โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า มิตซูบิชิ

ส่วนที่สองคือ AFTER MARKET เอนไกยังขายแก่ผู้ใช้รถทั่วไป โดยใช้ช่องทางกระจายสินค้าล้อแม็กผ่านเอเย่นต์ไม่ต่ำกว่า 400 แห่งไปยังลูกค้าทั่วประเทศ และส่วนสุดท้ายคือตลาดการส่งออกที่เอนไกส่งออกญี่ปุ่นเป็นหลัก

"ปัจจุบันเอนไกผลิตได้เดือนละ 70,000 วง ซึ่งต้องมีทั้งส่งออกและ OEM ด้วย แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วบางคนคุยว่ากำลังผลิตของเขา 60,000 วงซึ่งผมคิดว่าสภาพตลาดขณะนั้นไม่มีทางเป็นจริงเลย" ประสบ วีระพร ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทเลนโซ่ ซึ่งเป็น บริษัททางการตลาดของโรงงานเอนไกไทยเล่าให้ฟัง

ในวงการล้อแม็ก ตัวเลขที่แท้จริงของการผลิตและยอดขายดูจะเป็นสิ่งเลื่อนลอยไม่สามารถอ้างอิงได้ บ้างก็ว่าไม่ต่ำกว่าสองพันล้านบาท เนื่องจากผู้ผลิตบางรายปกปิดและหลีกเลี่ยงที่จะเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการออกบิลแก่ร้านค้า เป็นเพียงวางใบรับของชั่วคราว

พิจารณายอดขายที่ผู้ผลิตแต่ละรายแจ้งกับกรมทะเบียนการค้า บริษัทเอนไกเป็นอันดับหนึ่งที่มียอดขายสูงสุด 401.83 ล้านบาท SP ของทรัพย์ไพศาลอุตสาหกรรมทำรายได้อันดับสอง 202.81 ล้านบาท ส่วนของยาชิโยดา 106.33 ล้านบาท ซุปเปอร์สเตทที่รับจ้างผลิตล้อแม็ก 9.77 ล้านบาท ซิตี้คอร์พอัลลอยส์ 17.99 ล้านบาท เอ ออโตโมทีฟที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีความฐานละเมิดการใช้เครื่องหมายการค้าภายใต้ชื่อล้อแม็ก BRABUS มีรายได้เพียง 8.67 ล้านบาท และเทอร์โบอินดัสทรีซึ่งขายล้อแม็กรถกระบะเป็นหลักและระยะหลังเปิดตัวบ่อย ๆ ในงานมอเตอร์โชว์มียอดขายทั้งปีเพียง 2.44 ล้านบาทนั้น

ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพและมาตรฐานสินค้าล้อแม็กรายอื่น ๆ ที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ยังไม่เข้ามากำหนด ทำให้ล้อแม็กที่บรรดาอาเฮียอาตี๋ทั้งหลายขายให้แก่ลูกค้า ก็มีหลายหลากตั้งแต่มาตรฐานชั้นเลวถึงชั้นดีที่สุดแล้วแต่เงินในกระเป๋าลูกค้า และพ่อค้าจะมีคุณธรรมแนะนำลูกค้าหรือยัดเยียดของคุณภาพต่ำให้แต่ฟันกำไรมาก ๆ

"ล้อแม็กที่ขายในต่างจังหวัด เขาเอาราคาถูกเป็นหลักและพ่อค้าบางคนก็เอาเปรียบผู้บริโภค ขณะที่ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง เราก็ได้รับเสียงบ่นจากลูกค้าที่ซื้อไปว่าขับรถวิ่ง ๆ ไปหรือสูบลมยาง ล้อแม็กแตก ถึงขนาดแขนขาหัก เราก็ตอบว่าถ้าเป็นของเรา เรารับผิดชอบ เมื่อเขาส่งรูปมาให้ดู ก็ไม่ใช่ของเราเลยที่เกิดเหตุเพราะพ่อค้าต้องการกำไรมากก็เอาล้อปลอมของเอนไกใส่ให้" ประสบเล่าให้ฟัง

ในตลาดล้อแม็กรถระดับชั้นล่างถึงระดับชั้นสูง การโรมรันฟันแทงทางธุรกิจนับตั้งแต่ตัดราคาปลอมแปลงลายล้อแม็ก ละเมิดสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้าหรือแม้กระทั่งนำเข้าอย่างผิดกฎหมายหรือยัดใส่สินค้านำเข้าอย่างอื่นแทน การต่อสู้ของเอนไกและรายอื่น ๆ ที่ทำตามครรลองคลองธรรมต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากคู่แข่งนอกระบบเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องน่าลำบากใจ

ความเจ็บปวดขมขื่นย่อมเป็นประสบการณ์ที่ผู้ผลิตและผู้ค้าเคยผ่านพบมา เลนโซ่ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้านจัดจำหน่าย และร่วมลงทุนในโรงงานผลิตล้อแม็กเอนไกเองก็เช่นกันที่กว่าจะมีวันนี้ได้ก็มีตำนานแห่งทศวรรษที่ต้องจารจารึกไว้เช่นกัน

เมื่อ 17 ปีที่แล้วพี่น้องตระกูลวีระผดุงสกุล (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็นวีระพร) นำโดยพี่ใหญ่ พิเชษฐ์ ซึ่งมีแนวความคิดที่จะขยายกิจการรุ่นพ่อแม่ที่ชื่อ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลีแอนด์ซันส์" ซึ่งตั้งในปี 2514 เพื่อค้ายางและอะไหล่รถยนต์บนถนนพระราม 4 ให้กลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศหลากหลายยี่ห้อไม่ใช่เฉพาะเอนไกในนามของบริษัทเลนโซ่ ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2520 โดยมีน้อง ๆ ร่วมทำงานด้วยคือ เจษฎา มานะ มุกดา ประสบและนพพร แต่การค้าในระยะแรก เลนโซ่ยังต้องพึ่งจมูกคนอื่นหายใจเนื่องจากต้องสั่งของผ่านผู้นำเข้าในไทยมาขายต่อหน้าร้าน

"ในช่วง 5 ปีแรกอัตราการขายของเราไม่มากนักสำหรับการนำเข้าล้อแม็กเพราะยอดยายรถยนต์ยังต่ำมาก และสมัยนั้นราคาล้อแม็กซ์ชุดหนึ่งเมื่อเทียบกับราคารถยนต์คันหนึ่งก็ค่อนข้างแพงมากประมาณ 7-10% ของราคารถ" ประสบ วีระพร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเลนโซ่เล่าให้ฟัง

แต่กว่าจะหาช่องทางนำเข้าได้เอง พี่น้องตระกูลวีระพรก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการ เร่งสร้างผลงานให้เข้าตากรรมการ และรอจังหวะเวลาอีกนับ 10 ปีต่อมาที่ทางสำนักงานใหญ่เอนไกเริ่มมีนโยบายส่งออก

ในที่สุดโอกาสที่รอคอยก็มาถึง…เลนโซ่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้นำเข้ารายเดียวในไทยที่มียอดขายสูงสุดชนะคู่แข่งอื่นอีก 3 ราย

ก้าวต่อมาของเลนโซ่คือการเป็นผู้ร่วมลงทุนกับเอนไก โดยชักชวนให้เอนไกญี่ปุ่นเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ฝ่ายพิเชษฐ์ได้ให้เหตุผลจูงใจสองประการคือ การลดต้นทุนให้ต่ำลง แทนที่จะนำเข้าล้อแม็กเอนไกจากญี่ปุ่นซึ่งต้องเสียภาษีนำเข้าสูงมาก และปริมาณการเติบโตของยอดขายรถยนต์ไทยในอนาคตที่จะทำให้การตั้งโรงงานถึงจุดคุ้มทุน

"พอเราเริ่มเป็นผู้แทนจำหน่ายของเขาระยะหนึ่งไม่กี่ปี เราก็เริ่มเจรจาให้เขาเข้ามาตั้งโรงงานในไทย แต่ว่าในช่วงแรก ๆ เขาไม่มาเพราะไม่คุ้มกับการลงทุนเนื่องจากปริมาณขายล้อแม็กในไทยยังน้อยมาก โดยดูจากยอดขายรถยนต์ แต่การเจรจาก็ทำมาเรื่อยเป็นเวลา 7-8 ปี จนกระทั่งปี 2530 การเติบโตของยอดขายรถยนต์สูงเอามาก ๆ โรงงานเอนไกไทยจึงเปิดในปี 2530-31" ประสบเล่าให้ฟัง

บริษัทเอนไกไทยเริ่มก่อตั้งในปี 2531 โดยมียักษ์ใหญ่ด้านล้อแม็กอย่าง บริษัทเอน-บิชิ อลูมินั่ม วีลส์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเทคโนโลยีการผลิตล้อแม็ก "เอนไก" เป็นผู้ถือหุ้นสำคัญ ได้จัดส่งกรรมการผู้จัดการชาวญี่ปุ่นคือ ทาดาชิ โอโมริ เข้ามาวางรากฐานการบริหารโรงงานเอนไกไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีสองพี่น้องคือ พิเชษฐ์ วีระพรดำรงตำแหน่งเป็นประธานบริษัท และประสบ วีระพรเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดของเลนโซ่

ปรากฏว่าตั้งปี 2530 ยอดขายรถยนต์นั่งมีเพียง 27,084 คัน รถกะบะ 59,398 คัน แต่ในระยะเวลาอีก 5 ปีต่อมายอดขายได้พุ่งทะยานไปสู่ดวงดาว เมื่อสถิติล่าสุดยอดขายรถยนต์นั่งในปี 2535 ทำลายสถิติในประวัติศาสตร์ที่ยอดขายรถยนต์นั่งทะลุหลักแสน 121,488 คัน ขณะที่รถกระบะขายได้ 182,958 คัน

ดังนั้นจังหวะเวลาที่โรงงานเอนไกเริ่มเดินเครื่องผลิตล้อแม็กในไทยจึงเป็นโอกาสทอง เพราะชีพจรตลาดรถยนต์และพฤติกรรมผู้บริโภคไทยตื่นตัวเต็มที่ในสินค้าประดับยนต์ โดยเฉพาะล้อแม็ก

นี่คือก้าวกระโดดที่สำคัญของเลนโซ่โดยมีเอนไกไทยเป็นสปริงบอร์ด

"ภายในห้าปี เราสามารถขยายได้เป็น 3 โรงงานแรก ๆ เราไม่คิดว่าจะใหญ่ขนาดนี้ทั้ง ๆ ที่เราซื้อที่ดินเผื่อไว้เท่าตัวก็ยังไม่พอ คือเนื้อที่โรงงานเก่า 9 ไร่ถึงเวลานี้คับแคบแล้วในปีเดียวตอนนี้เราเริ่มซื้อที่ดินแปลงใหญ่ ไว้สำหรับโครงการอนาคตห่างกันแค่สองร้อยเมตรที่บริเวณเดียวกันในเมืองใหม่บางพลี" ประสบกล่าว

ด้วยทุนที่สั่งสมมาจากธุรกิจค้าล้อแม็กเอนไกในช่วงต่อมาตระกูลวีระพรได้แตกกิจการออกไปอีกมากมายได้แก่บริษัทเลนโซ่เคมีที่พระประแดง บริษัทแมทริกซ์(ประเทศไทย) กิจการค้าสินค้าโทรคมนาคมเช่นเพจเจอร์ยี่อห้อ "EASYCALL" สินค้าโอเอยี่ห้อ ซัมซุง ฮิตาชิ และธุรกิจด้านพัฒนาที่ดินทำเป็นอาคารสำนักงานสูงที่ซอยสายลมขณะที่กิจการดั้งเดิมในนามของ หจก. ลีแอนด์ซันส์ก็ยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน

เอนไกไทยได้พาเลนโซ่ติดลมบนเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันเพื่อเปิดตัวสู่ตลาดต่างประเทศในโครงการลงทุน 300 ล้านบาทตั้งโรงงานผลิตล้อแม็กและเสื้อสูบที่ตอนเหนือกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียโดยมีกำลังการผลิต 20,000 วงต่อเดือนประสบได้เล่าให้ฟังว่า

"ช่วงปีจากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นการแตกตัวไปสู่ต่างประเทศของเลนโซ่ซึ่งเกาะกลุ่มไปกับเอนไก อันนี้เป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่เขาต้องการให้เราไปร่วมลงทุนในโรงงานที่มาเลเซียซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ เราถือหุ้นในนามเลนโซ่ส่วนโรงงานผลิตเสื้ออสูบมอเตอร์ไซด์ที่เซียงไฮ้จะเปิดดำเนินการปี 2537 ที่จีนแดงโรงงานล้อแม็กมีอยู่เยอะแยะเป็นโรงงานของพวกไต้หวัน แต่ต่อไปเราคงจะขยายไปผลิตล้อแม็ก" ประสบเล่าถึงแผนการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลนับพันล้านที่ทอฝันนี้ให้เป็นจริง

ในขณะที่เอนไกไทยกับหุ้นส่วนอย่างเลนโซ่กำลังเริ่มต้นอย่างสวยงามการรุกก้าวเข้ามาของบริษัทสยามอัลลอยวีลอุตสาหกรรมหรือเรียกย่อ ๆ ว่า "SAW" ของค่ายยักษ์ใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยได้สร้างแรงสั่นสะเทือนที่คนในวงการนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากศึกษาโครงการนี้มานานแรมปี ก็เพิ่งตัดสินใจทำในช่วงเศรษฐกิจดีโดยดำเนินการก่อตั้งบริษัท SAW ในปี 2535 ด้วยทุนจดทะเบียน 180 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัทยางสยามถือหุ้น 99.99%

สยามอัลลอยวีลฯ มีกำลังผลิตล้อแม็กยี่ห้อ LAMMERZ ปีแรก 20,000 วง ภายใต้การบริหารของอาทิตย์ ประทุมสุวรรณที่ย้ายจากบริษัทไทย ซีอาร์ที เข้ามารับเป็นแม่ทัพสำคัญ ที่จะบุกเบิกตลาดล้อแม็กนี้

ทั้งนี้เพราะความเป็นยักษ์ใหญ่ของปูนซิเมนต์ไทยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรบุคคล เงินทุน เทคโนโลยีและอำนาจการบริหารการจัดการเครือข่ายด้านการตลาด ได้ส่งเสริมการเกิดของสยามอัลลอยวีลฯ อย่างมีแบบแผนและยุทธวิธีอันทรงพลัง

แนวความคิดของการเกิดบริษัทสยามอัลลอยวีลฯ เกิดขึ้นจากการมองเห็นอัตราเติบโตอย่างมหาศาลของตลาดรถยนต์ และอุปกรณ์ประดับยนต์ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้ ชลาลักษณ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการบริษัทยางสยามเล็งเห็นถึงศักยภาพของการลงทุนครบวงจรที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายตลาดยางรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ถ้าจะสังเกตให้ดีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทิศทางการเติบโตในสายอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เกิดขึ้นในเครือปูนซิเมนต์ไทยมากขึ้น ๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีบริษัทสยามมิชลินและยางสยามผู้ผลิตและจำหน่ายยางมิชลินและยางสยาม บริษัทนวโลหะไทยกับบริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทย ผลิตชิ้นส่วนโลหะยานยนต์ บริษัทนวโลหะอุตสาหกรรมผลิตเสื้อสูบและฝาสูบ บริษัท เอส. บี. แบตเตอรี่ และสยาม ฟูรูกาว่าทำแบตเตอรี่ บริษัทสยามคอมเพรสเซอร์อุตสาหกรรมผลิตคอมเพรสเซอร์สำหรับแอร์รถยนต์สยามคูโบต้าดีเซลผลิตเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับเครื่องจักรการเกษตร สยามโตโยต้าอุตสาหกรรมผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน

เมื่อบริษัทสยามอัลลอยวีลฯ เกิดขึ้นมีการระดมศักยภาพของบุคลากรจากบริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทยที่เชี่ยวชาญในงานหล่อโลหะไปเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตของ LAMMERZ (แลมเมิร์ต) ที่ประเทศเยอรมนี เพื่อนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้ในโรงงานผลิตล้อแม็กซึ่งตั้งอยู่ที่สระบุรีแต่สำนักงานใหญ่จะอยู่ที่เดียวกับบริษัทยางสยามที่วิภาวดีรังสิต ขณะเดียวกันทีมการตลาดของยางสยามก็ประสานงานกับทีมงานใหม่ของสยามอัลลอยวีลฯ หาข้อมูลของคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด

การเลือกเอาบริษัทต้นแบบเทคโนโลยีของเยอรมนีผู้ผลิตล้อแม็ก LAMMERZ เพื่อป้อนให้กับรถมหาเศรษฐีอย่างเมอร์เซเดสเบนซ์ได้กลายเป็นจุดสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เพื่อต่อสู้ด้านคุณภาพกับคู่แข่งขัน ทั้งนี้เพราะกรรมวิธีการผลิตระบบกำลังอัดต่ำ (LOW PRESSURE) ของเยอรมนีเป็นที่ยอมรับว่าสร้างชิ้นของงานที่มีคุณภาพที่ดีกว่าระบบตักเท (GRAVITY)

ระบบกำลังอัดต่ำที่บริษัทสยามอัลลอยวีลฯ จะนำเอามาใช้นั้น โดยหลักการผลิตใช้แม่แบบที่สามารถซีลอากาศ เป็นระบบปิดจนภายในแม่แบบเป็นสูญญากาศโลหะที่หลอมละลายแล้วจะถูกดูดเข้าแม่พิมพ์ด้วยแรงดูดสูญญากาศจนเต็ม เป็นกรรมวิธีการผลิตที่ต้องลงทุนเครื่องมือราคาแพงและสลับซับซ้อน แต่ให้คุณภาพงานสูง

ที่โรงงานล้อแม็กเอนไกไทย ใช้กรรมวิธีการผลิตรพบบตักเทผลิตล้อแม็กชิ้นเดียววิธีนี้มีความสะดวกง่ายที่สุดและต้นทุนไม่สูงเพราะเครื่องมือไม่สลับซับซ้อนผลิตโดยหลอมก้อนอะลูมิเนียม (INGOT) รวมกับล้อเสียและเศษล้อเสียและเศษล้อ (RETURNED MATERIAL) ด้วยความร้อนสูงประมาณ 700 องศาเซลเซียส เทใส่แม่พิมพ์แบบตักเทที่จะดึงดูดให้โมเลกุลของสารละลายเกาะติดกัน เมื่อแข็งตัวจึงนำออกมาจากแม่พิมพ์แล้วกลึงให้เรียบร้อยด้วยเครื่องอัตโนมัติซึ่งมีอยู่ 10 เครื่อง จากนั้นจะมีการ "ชุบแข็ง" เพิ่มความแข็งแรง แล้วจึงผ่านขั้นตอนเสริมความงามแบ่งเป็นสองแบบคือแบบพ่นและแบบปัดเงาล้อแม็กแบบพ่นสีด้วยสี SIVER คุณภาพสูงและอบด้วยความร้อน 500 องศาเซลเซียสให้ความสวยงามและทนทาน ส่วนล้อแม็กแบบปัดเงาที่นิยมกัน จะเกิดการปัดเงาเนื้อโลหะให้เกิดความมันวาว แล้วจึงเคลือบแลคเกอร์หรือบางแบบไม่เคลือบ ซึ่งจะบำรุงรักษายากกว่าเพราะมักเกิด "ขี้เกลือ" หรือสนิมอะลูมิเนียมได้จากปัสสาวะสุนัข

"ระหว่างทำงานเราต้องเช็คคุณภาพทุกขั้นตอนนับตั้งแต่ส่วนผสมอะลูมิเนียมว่าเป็นไปตามสเปคหรือไม่ โดยใช้เครื่องสเปคโตมิเตอร์ยิงรังสีเข้าไป เมื่อแกะจากแท่นหล่อมีตามดหรือรูกลวงหรือไม่ผ่านการอบก็ต้องตรวจสอบความแข็งแกร่งและยืดหยุ่น เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนคุณสมบัติโลหะก็เปลี่ยนไปด้วย ถ้าล้อเสียเราจะไม่ปล่อยจากเอนไก เราขายสินค้าเกรดเอเกรดเดียว ผิดกับโรงงานเล็กที่เขาขายราคาถูกได้เพราะเขาปล่อยทุกล้อที่ผลิตได้ออกขายหมด" ประเสริฐ อินประเสริฐ วิศวกรประจำโรงงานเล่าให้ฟังขณะพาเดินชมโรงงาน

ยุทธวิธีการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดของน้องใหม่สยามอัลลอยวีลฯ ที่จะรุกเข้าไปในตลาดล้อแม็กที่มีเอนไกเป็นผู้นำนั้น เป็นที่คาดว่าส่วนของตลาด OEM หรือโรงงานประกอบรถยนต์ต่าง ๆ เป็นเป้าหมายแรกที่สยามอัลลอยวีลฯ หวังจะสร้างชื่อเสียงและการยอมรับชิ้นงาน เพราะว่าการเจาะเข้าไปได้ใน OEM ย่อมหมายถึงว่ามาตรฐานคุณภาพ ต้องสูงเป็นที่ยอมรับของโรงงานและปริมาณความต้องการของตลาดส่วนนี้มีความแน่นอนสัมพันธ์กับการเติบโตของยอดขายรถยนต์แท้จริง

แต่เจ้าตลาดอย่างเอนไกหรือจะยินยอมให้สยามอัลลอยวีลฯ รุกเข้ามายึดครองได้เพราะว่าปัจจุบัน 40% ของกำลังผลิต 60,000 วงจะป้อนตลาด OEM โดยเฉพาะรถญี่ปุ่นที่มีสายสัมพันธ์ธุรกิจทางการค้าแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีความเป็นชาตินิยม

บริษัทเอนไกญี่ปุ่นหรือเอนบิชิอะลูมินั่ม วีลส์นั่นถือหุ้นส่วนหนึ่งโดยบริษัทมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่น จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เอนไกไทยจะได้ลูกค้าเป็นบริษัทเอ็มเอ็มซีสิทธิผลกับอีซูซุของบริษัทตรีเพชรอีซูซุฯ ขณะที่ฮอนด้าและมาสด้ามีพันธะสัญญาที่สนับสนุนการใช้ล้อแม็กเอนไกรายเดียว นอกจากนี้ยังมีบริษัทพระนครยนตรการที่ประกอบรถไดฮัทสุและโอเปิลก็เลือกให้เอนไกเป็นผู้ป้อนล้อแม็ก

"ความเป็น WORLD WORLDWIDE ของเอนไกก็มีส่วนทำให้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเองใช้เอนไกมาก ตอนนี้รถญี่ปุ่นเราไม่ได้ซัพพลายล้อแม็กมีเพียงนิสสันรุ่นเซฟิโรรุ่นเดียว เพราะช่วงนั้นที่กำลังผลิตของเราไม่เพียงพอเลยไม่ได้รับงานนี้มาทำ เพราะในการรับงานแต่ละชิ้น เรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญห้ามส่งขาดจำนวนหรือผิดเวลา" ประสบเล่าให้ฟัง

สำหรับรถยนต์ในค่ายยุโรปอย่างรถยนต์บีเอ็มดับบลิว เปอโยต์ ค่ายยนตรกิจได้ผลิตและออกแบบล้อแม็กเองโดยผลิตที่โรงงาน เอ. ที. พี. อินดัสทรี ขณะที่รถยนต์วอลโว่จะนำเข้าล้อแม็กจากต่างประเทศเพราะ PCD ของรถยนต์วอลโว่ จะแตกต่างกับรถยนต์ค่ายอื่น ๆ

เหนือสิ่งอื่นใด ลูกค้ารายใหญ่ที่ทั้งเอนไกและสยามอัลลอยวีลฯ ต่างมุ่งหวังเป็นหลักคือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่ทำยอดขายรถยนต์ทุกประเภทสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง 95,910 คันในปีที่แล้วมีส่วนแบ่งตลาด 26.4% ได้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของเอนไกไทยที่ผลิตล้อแม็กป้อนรถยนต์นั่งบางรุ่นเช่น รุ่นโคโรล่า 1600 รุ่นโคโรนา 2000 รุ่น คราวน์เป็นต้น

ดังนั้นในระยะเริ่มต้น สยามอัลลอยวีลฯ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตประมาณ 20,000 วงต่อปี เป้าหมายแรกที่ต้องเจาะตลาด OEM ให้ได้ จึงน่าจะเป็นการเข้าเป็น OEM ของโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าโดยใช้สายสัมพันธ์ในฐานะผู้ถือหุ้นหนึ่งในโตโยต้าและใช้กลวิธีการขายล้อแม็กแลมเมิร์ต" คู่กับยางมิชลินเพื่อให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของโตโยต้า ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ต้องขึ้นอยู่กับเอนไกแต่เพียงผู้เดียว

"เขาขายแลมเมิร์ตคู่กับยางมิชลิน เราก็ป้องล้อแม็กให้บริจสโตนและกู๊ดเยียร์ ซึ่งเป็นคู่แข่งกับมิชลินได้ แต่จริง ๆ แล้วการขายล้อแม็กเป็นการขายอิมเมจและปัจจุบันนี้บริษัทรถยนต์ก็จะดีไซน์แบบที่เขาต้องการมาให้เลย โดยบริษัทรถยนต์จะรับผิดชอบค่าแม่พิมพ์เอง" ประสบเล่าให้ฟัง

ดังนั้นนโยบายสำคัญที่ทีมบริหารบริษัทสยามอัลลอยวีลฯ เน้นตลอดเวลาก็คือ "คุณภาพต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง" เพื่อสร้างความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนกับคู่แข่งไม่ว่าจะต้องลงทุนมหาศาลเพียงใดกับภาพพจน์สินค้าตัวใหม่ปรัชญาการทำธุรกิจของสยามอัลลอยวีลฯ จึงสอดคล้องกับนโยบายหลักของปูนชิเมนต์ไทย

ขณะที่การเจรจาเพื่อเจาะตลาด OEM ของสยามอัลลอยวีลฯ มีทีท่าว่าจะได้รับผลสำเร็จตามที่คาดไว้ช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญที่จะปล่อยล้อแม็กลงสู่ตลาด AFTER MARKET ซึ่งมีเอนไกเป็นเจ้าตลาดอันแข็งแกร่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายทีมบริหาร SAW ในช่องทางการจัดจำหน่ายนี้

ทั้งนี้เพราะตลาด AFTER MARKET ที่มีรถกระบะเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพนี้เอนไกได้เจาะเข้าทุกเอเยนต์ร้านค้ายางและล้อจำนวนไม่ต่ำกว่า 400 แห่ง ทิ้งคู่แข่งในอดีตอย่าง ยาชิโยดาของ "เฮียเกียง" หรือบัณฑิต ชาญคณิตแบบไม่เห็นฝุ่น เนื่องจากระยะหลังคนในวงการกล่าวกันว่าเฮียเกียงแห่งจันทรเกษมอินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นกลไกทางการตลาดของยาชิโยดาได้หันไป สนใจด้านการค้าอาวุธมาก ทำให้อันดับสองในตลาดล้อแม็กรถกระบะขณะนี้ตกอยู่กับทรัพย์ไพศาลอุตสาหกรรมที่ใช้ยี่ห้อ "SP" ตามติดด้วยยี่ห้อ "เทอร์โบ" ที่ช่วงหลังทำโปรโมชั่นทางการตลาดมากด้วยการออกบูธโชว์ผลิตภัณฑ์ล้อแม็กและฝาครอบล้อในงานมอเตอร์โชว์ต่าง ๆ และมีการลงโฆษณาในนิตยสารรถยนต์ด้วยยอดขายของเทอร์โบล่าสุดประมาณ 20% ของรถกระบะป้ายแดงที่อ้างอิงจากกรมทะเบียนการค้า

"รสนิยมของผู้เล่นล้อแม็กกระบะจะมีอยู่เพียง 1-2 ระดับ ขณะที่รสนิยมของรถเก๋งจะมีถึง 4-5 ระดับ ทำให้การทำตลาดล้อแม็กรถเก๋งเป็นเรื่องยากกว่าเพราะมีความหลากหลายทั้งรูน็อตหรือ PCD ขอบล้อ และออฟเซทแต่รถกระบะจะยุ่งเรื่องรูน็อตอย่างเดียว" เริง เลิศวนิชกิจกุล ผู้บริหารแห่งเทอร์โบอินดัสทรีเล่าให้ฟัง

ขณะเดียวกันยี่ห้อ VANTAGE และ ENSURE ของซิตี้คอร์พอัลลอยส์ ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ผลิตล้อแม็กในยุทธจักรนี้ ต่อมาเมื่อได้มีการร่วมทุนกับไต้หวันซึ่งได้ย้ายฐานการผลิตล้อแม็กมาอยู่ที่ไทยเนื่องจากต้นทุนและค่าแรงต่ำกว่า ทำให้โนว์ฮาวที่ผลิตสินค้าล้อแม็กของซิตี้คอร์พอัลลอยส์มีคุณภาพมากกว่ารุ่นแรก ๆ

การต่อสู้กันเรื่องราคาของล้อแม็กในตลาดระดับล่างนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจซื้อสินค้าของลูกค้านักเลงกระบะและรถยนต์นั่งทั้งหลาย ควบคู่กับดีไซน์ที่ออกแบบสวยงามตามแฟชั่นโดยมากราคาของล้อแม็กชุดหนึ่งซึ่งมี 4 ล้อจะมีราคาระหว่าง 5,000-12,000 บาท ยกตัวอย่างเช่นล้อแม็กของเอนไกรุ่น RC 1465 ขอบ 14 นิ้วจะมีราคาวงล้อละ 2,000 บาท ถ้าเป็นรุ่น BSI ขอบ 15 นิ้ว มีราคาประมาณ 3,000 บาท

สำหรับตลาดระดับบน ราคาล้อแม็กที่แพงมาก ๆ มักจะเป็นล้อแม็กที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสนนราคาแพงระยับตั้งแต่ชุดละ 50,000-200,000 บาท ผลงานล้อแม็กนี้ได้ถูกดีไซน์โดยบริษัทจูนนิ่งระดับโลกที่มีสไตล์ความสวยงามที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่ใคร ๆ อยากเลียนแบบ ล้อแม็กสำหรับรถเมอร์ซิเดสเบนซ์ได้แก่ BRABUS LORENZER AMG ราคาของล้อแม็กขอบ 8/17 นิ้วราคาเฉลี่ยวงละ 12,000 บาทหรือชุดละ 48,000 บาทหรือ 81/1 17 ราคาวงละ 20,000 บาทหรือชุดละ 80,000 บาทใช้กับรถเบนซ์รุ่น 500 SEL และ 500 SEC เช่นเดียวกันกับรถยนต์ BMW มักจะแต่งได้สวยงามที่ยอมรับความเป็นสากลด้วยล้อแม็กของ SCHNITZER ALPINA BBS RACING DYNAMIC

เมื่อพิจารณาสภาพตลาดโดยทั่วไปของล้อแม็กที่จำหน่ายไทยดังกล่าวทำให้สยามอัลลอยวีลฯ ได้วางจุดยืนอยู่ที่ MASS MARKET ซึ่งให้ผลที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า เนื่องจากปริมาณการผลิตจำนวนมาก และมีตลาดรถยนต์ที่สดใสจากการคาดการณ์ของโตโยต้าที่กล่าวจะโตปีละไม่ต่ำกว่า 20%

แผนรุกเข้าเจาะตลาดที่สยามอัลลอยวีลฯ วางไว้ หลังจากทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานจนน่าพอใจแล้ว จะมีการวางสินค้าใน AFTER MARKET ประมาณไตรมาสที่สองของปีนี้ราวเดือนมีนาคมอย่างเร็วที่สุด เพื่อกระจายสินค้าตามช่องทางจัดจำหน่ายเอเยนต์ ร้านค้ายางและล้อของมิชลินและสยามไทร์ไม่ต่ำกว่า 500 แห้ง

ศึกล้อแม็กที่ยักษ์ใหญ่อย่างเอนไกกำลังถูกท้าทายโดยผู้มาใหม่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งสถานการณ์สู้รบทุกรูปแบบในตลาดที่มีเอนไกเป็นเจ้าตลาดอันแข็งแกร่ง เมื่อสยามอัลลอยวีลฯ ต้องการเกิดในยุทธจักรการค้านี้อย่างมีศักดิ์ศรี !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.