คลังเงื้อง่าแผนอุ้มอสังหาฯหวั่นภาษีตกเป้า-โฆสิตเร่งเบิกงบมิ.ย.


ผู้จัดการรายวัน(17 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คลังไร้วี่แว่วมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เหตุฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลังไม่ตัดสินใจเด็ดขาด ขณะที่บิ๊กสศค.ลั่นแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจเตรียมพร้อมแล้ว เผยชงลดทั้งค่าธรรมเนียมและภาษีอสังหาฯ ขณะที่ รมช.คลังอิดออด ห่วงจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า อ้างอุ้มอสังหาฯ ได้ผลแค่ระยะสั้น สนช. 4 คณะถก "โฆสิต" เร่งอัดฉีดงบประมาณภายในเดือน มิ.ย.

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมที่ปรึกษารมว.คลังวานนี้(16 พ.ค.) ยังไม่สามารถสรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ออกมาได้ แต่ยืนยันว่า มาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะไม่มีการลดหย่อนให้แน่นอน ส่วนมาตรการอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยให้ทราบได้ในขณะนี้

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ จะยังไม่นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ทันในวันอังคารหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม จะรีบดำเนินการให้ได้โดยเร็วที่สุด” นายฉลองภพกล่าว

ขณะที่นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ที่ปรึกษารมว.คลัง กล่าวเช่นเดียวกันว่า มาตรการที่จะออกมายังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากนายวรพล โสคติยานุรักษ์ ที่ปรึกษารมว.คลัง ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวไม่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ต้องรอให้มีการประชุมในต้นสัปดาห์หน้า จึงจะสามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องนี้ออกมา คาดว่าอีก 2 สัปดาน่าจะมีความชัดเจนและเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้

ทั้งนี้ มีการหารือกันว่า หากมีการลดภาษีการโอนและจดจำนอง ประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง แต่หากลดภาษีธุรกิจเฉพาะจะเปรียบเสมือนให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดภาพที่ไม่ดีออกมาได้ รมว.คลังได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้

“ หากมีการลดภาษีให้แก่ผู้ประกอบการ อาจเกิดประโยชน์ขึ้นได้ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการลดสต็อกบ้านลงและลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนนี้ผู้ประกอบการเองอาจนำมาเป็นส่วนลดราคาบ้านทำให้ผู้ซื้อบ้านได้ประโยชน์จากการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ” นายขรรค์กล่าว

ด้านนางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า แผนที่สศค.เสนอเป็นมาตรการภาษี และการลดค่าธรรมเนียม ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม และด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยแนะนำให้ใช้เป็นมาตรการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปีครึ่ง หรือ สิ้นสุดภายในสิ้นปี 2551

มาตรการที่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม คือ การเพิ่มหักค่าลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากไม่เกิน 60,000 บาท เป็น ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในส่วนนี้ลดลงได้ในหลักหมื่นล้านบาท แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลดลงกี่หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมเกิดผลได้โดยเร็วก็จำเป็นต้องทำ

“สำหรับมาตรการที่จะมีผลกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ จะมีการลดค่าธรรมเนียมเงินโอนเหลือ 0.01% จากเดิม 2% ค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% จากเดิม 1.0% และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ เหลือ 0.11% จากเดิม 3.3% ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ สศค.มีการศึกษาไว้แล้ว หากตัดสินใจทำก็จะสามารถดำเนินการก็สามารถทำได้ทันที" นางพรรณีกล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงการประกาศมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ว่า หาก รมว.คลังเห็นว่าเหมาะสมก็ควรประกาศใช้ทันที อย่างน้อยเพื่อให้ทันงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ด้านนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งต้องใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะบางมาตรการอาจมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล และช่วยกระตุ้นในเพียงระยะสั้นเท่านั้น

“ เท่าที่ผ่านมาเมื่อใดที่เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจขึ้นมาสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงและนำมาใช้ก็คือมาตรการกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น แต่เท่าที่เห็นมาทุกครั้งก็สามารถช่วยเหลือได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้นเป็นการบรรเทาทางด้านจิตใจเท่านั้นส่วนระยะยาวต้องมีมาตรการที่ได้ผลได้ดีกว่านี้” นายสมหมายกล่าว

โฆสิตเร่งอัดฉีดงบภายใน มิ.ย.

วานนี้ (16 พ.ค.) ที่อาคารรัฐสภามีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภานิติบัญญัตติ (สนช.) จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการเงิน การธนาคาร การคลัง และสถาบันการเงิน คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม และคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สนช. โดยได้เชิญนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม มาร่วมประชุมด้วย

ภายหลังการประชุมนาน 2 ชั่วโมง นายโฆสิตกล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยมีการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเข้ามาดูภาพรวม เพื่อทำให้เศรษฐกิจเกิดความเข้มแข็ง ก่อนส่งมอบให้กับรัฐบาลชุดใหม่มาดำเนินการต่อ ซึ่งขณะนี้ได้ขับเคลื่อนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล การลงทุน ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ พยายามกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ดังนั้นต้องหามาตรากระตุ้นการลงทุน ให้เศรษฐกิจเคลื่อนไปได้ในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลแก้ไข โดยเฉพาะหากมีปัญหาจุดใด ก็ให้รีบเข้าไปแก้

สำหรับการดำเนินนโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของหน่วยราชการ รัฐบาลจะเร่งให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณที่ส่งออกมาแล้ว แต่อาจจะยังไม่ถึงมือของผู้ที่ประสงค์ต้องการใช้ หรือที่เรียกกันว่า การล้างท่อ โดยเฉพาะในภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ หน่วยราชการที่มีความสำคัญในแง่การใช้งบประมาณขนาดใหญ่ แต่กลับยังไม่มีการใช้จ่ายงบตามแผนงาน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขโดยเฉพาะขณะนี้มีผู้รับเหมาร้องเรียนว่า หน่วยงานยังไม่ได้จ่ายค่าเค และที่สำคัญคือ จะต้องเร่งรัดให้เกิดสัญญา เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้เงิน ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินฯ กล่าวว่า กรรมาธิการฯ มีความมั่นใจในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล และการบริหารงบประมาณ ว่ามีประสิทธิภาพ สามารถที่จะกระจายงบประมาณลงมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ที่มีข้อจำกัดในปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยกรรมาธิการฯ เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการพิเศษลงไปในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสนใจในการลงทุนมากกว่าภาคอื่น ร่วมทั้งส่งเสริมให้มีอาชีพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.