ตระกูลกิติบุตร เป็นตระกูลเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ตระกูลหนึ่งเช่นเดียวกับตระกูลนิมมานเหมินทร์
ชุติมา ศักดาทร ฯลฯ ที่มีความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยมีต้นตระกูลคือพระนายกคุณากร ผู้รับราชการเป็นเลขาเจ้าเมืองเชียงใหม่
สินทรัพย์หลักของตระกูลใหญ่ ๆ ที่มีอายุหลายชั่วคน ไม่ว่าที่ไหน ๆ ในโลกนี้หนีไม่พ้นที่ดิน
"กิติบุตร" ก็เช่นเดียวกันที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของที่ดินใหญ่รายหนึ่งของเชียงใหม่
เฉพาะในเขตตัวเมืองที่เป็นที่รับรู้กันก็คือที่ดินอันเป็นที่ตั้งของตลาดสดประตูเชียงใหม่
โรงแรมเชียงอินทร์ และศูนย์การค้าเชียงอินทร์เดิม โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนา
รวมทั้งที่ดินผืนใหญ่ริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ตรงข้ามโรงพยาบาลลานนา ซึ่งล้วนแต่เป็นที่ดินในทำเลทองทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้ถ้าจะไม่ถึง 100 ไร่ก็คงจะลดหย่อนลงมาไม่มากนัก
"บอกตรง ๆ ว่า ผมเองก็ไม่รู้ว่าตระกูลของเรามีที่ดินอยู่ทั้งหมดเท่าไร
เพราะว่ากระจัดกระจายและไม่เคยมีการสำรวจรวบรวมกันอย่างเป็นกิจลักษณะ"
เจนกิจ สวัสดิโอ กรรมการบริหารบริษัทกิติทิพย์ พร็อพเพอร์ตี้กล่าว
เจนกิจ นับเป็นรุ่นที่ 5 ของกิติบุตรแต่สืบสายเลือดมาทางแม่ เขาเป็นลูกชายของอาจารย์เบญจาแห่งคณะรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกำจัด สวัสดิโอ เบญจา เป็นลูกสาวคนเดียวในบรรดาลูก
ๆ ทั้งหมด 6 คนของ จรัล กิติบุตรและบู่ทอง ทิพยมณฑล
จรัลซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของกิติบุตร เป็นผู้ที่นำพาธุรกิจของตระกูลเข้ามาสู่การพัฒนาที่ดินเมื่อประมาณ
25 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยการก่อสร้างตลาดประตูเชียงใหม่ เมื่อปี 2510 ศูนย์การค้าเชียงอินทร์
และให้กลุ่มว่องกุศลกิจเช่าที่ดินในบริเวณเดียวกับศูนย์การค้าก่อสร้างโรงแรมเชียงอินทร์
ทั้งหมดนี้อยู่บนที่ดินของตระกูลซึ่งสั่งสมกันมาตั้งแต่รุ่นต้น ๆ
ธุรกิจหลักในรุ่นที่ 1 และ 2 ของกิติบุตรคือการเดินเรือค้าขายสินค้าระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพ
และโรงสีข้าว โดยมีที่นาของตัวเองอยู่จำนวนหนึ่งที่จะป้อนข้าวเข้าสู่โรงสี
ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นที่มาของการสะสมที่ดิน จนกลายเป็นทุนราคาถูกสำหรับลูกหลานในรุ่นต่อ
ๆ มา
กิติบุตรรุ่นที่ 4 ซึ่งได้แก่บรรดาลุง ๆ น้า ๆ ของเจนกิจ เริ่มขยายเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งร้านอาหาร รีสอร์ท โรงเรียนโปลิเทคนิคลานนา และอพาร์ทเม้นท์ให้เช่น กำลังหลักที่สำคัญในรุ่นนี้คือ
จุลทรรศน์ จุลพันธ์ และจุลเทพ
รายได้หลักของตระกูลไม่ว่าจะอยู่ในรุ่นไหน ยังคงมาจากค่าเช่า ตกทอดมาถึงรุ่นของเจนกิจ
โครงการ "เชียงอินทร์พลาซ่า" ที่เขารับผิดชอบอยู่ในขณะนี้ก็ยังคงเป็นการพัฒนาที่ดินเพื่อเก็บค่าเช่าในรูปแบบของศูนย์การค้า
โครงการมูลค่า 500 ล้านบาทซึ่งดำเนินการในนามของกิติทิพย์ พร็อพเพอร์ตี้
ตั้งอยู่บนที่ดินประมาณ 2 ไร่ ด้านหน้าของโรงแรมเชียงอินทร์เดิมคือที่ตั้งของศูนย์การค้าเชียงอินทร์ที่เป็นห้องแถว
เมื่อหมดอายุการเช่าตระกูลกิติบุตร ตัดสินใจรื้อตึกแถวทั้งหมดทิ้งเพื่อทำเป็นศูนย์การค้าสมัยใหม่สูง
4 ชั้น สำหรับร้านค้าที่กำหนดพื้นที่ไว้จำนวน 60 ห้อง โดยมีอายุการให้เช่าประมาณ
5-25 ปี ในราคาตารางเมตรละ 45,000-80,000 บาท" ตอนนี้ขายไปแล้วประมาณ
90% ของพื้นที่" เจนกิจซึ่งเข้ามารับผิดชอบโครงการนี้เป็นโครงการแรกกล่าว
เชียงใหม่ในปี 2535 มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ผุดขึ้นมา แม้จะเพียง 2 แห่งคือกาดสวนแก้ว
ของสุชัย เก่งการค้าแห่งกลุ่มหินสวยน้ำใส และแอร์พอร์ตพลาซ่าของกลุ่มตันตราภัณฑ์แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังซื้อท้องถิ่นที่มีอยู่จำกัดแล้ว
ในขณะที่ศูนย์การค้าแห่งที่ 3 คือสีสวนพลาซ่าของตระกูลเหลืองไชยรัตนก็กำลังจะเกิดขึ้นหลาย
ๆ คนรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของเชียงอินทร์พลาซ่า" เรามั่นใจในเรื่องโลเกชั่นและโพสิชั่น"
เจนกิจกล่าวสั้น ๆ โลเกชั่นนั้นชัดเจนอยู่แล้วว่าเยี่ยมยอดที่สุดสำหรับธุรกิจการค้าของเชียงใหม
่คือถนนช้างคลานส่วนโพสิชั่น ก็คือการจัดตำแหน่งของเชียงอินทร์พลาซ่าในระดับบนเช่นเดียวกับเพน
นินซูล่าพลาซ่าของกรุงเทพที่มุ่งจับลูกค้าประมาณ 70% จากกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับ
บีบวก ขึ้นไปทั้งไทยและเทศ ที่เหลือเป็นคนท้องถิ่นที่ให้ความสนใจเรื่องคุณภาพมากกว่าราคา
ภายใต้แนวความคิดเช่นนี้ เชียงอินทร์พลาซ่าจึงไม่ใช้วิธีโหมขายพื้นที่อย่างเปิดกว้างแต่เจนกิจและสุพจน์
กุลปรางค์ผู้จัดการฝ่ายการตลาด จะเลือกสรรเฉพาะร้านค้าที่เข้ากันได้กับแนวความคิดเท่านั้นและชักชวนให้มาเช่าพื้นที่
นอกเหนือจากกลุ่มร้านค้าที่ขายบริการและสินค้าสำหรับชีวิตสมัยใหม่อย่างเช่นฟาสต์ฟูดส์
เครื่องแต่งกาย ร้านเสริมสวยแล้ว กลุ่มร้านค้าหลักที่คาดหวังกันว่าจะดึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้สำเร็จคือ
ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อและเป็นส่วนหนึ่งแห่งวัฒนธรรมของเชียงใหม่อย่างเช่น
ร้านเครื่องเงินจากย่านถนนวัวลาย ร้านเครื่องไม้แกะสลัก จากหางดง ร้านเสื้อผ้าม่อฮ่อมจากป่าซาง
หรือร้านขายของเก่าที่มีชื่อเสียง
เจนกิจอธิบายสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเป็นจุดเสริมความโดดเด่นของเชียงอินทร์พลาซ่าอีกจุดหนึ่งว่า
ผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ จะกระจายกันอยู่เป็นย่าน
ๆ หากสามารถรวมกันมาอยู่ในที่เดียวกันได้ ก็จะสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องเสียเวลาตระเวณซื้อของไปทั่วเมือง
ซึ่งอาจจะได้ไม่ครบตามที่ต้องการหรือไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน
เชียงอินทร์พลาซ่า เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา
เป็นความรับผิดชอบชิ้นแรกของเจนกิจ สวัสดิโอ ในฐานะหัวเรือของรุ่นที่ห้าของกิติบุตร
ที่ค่อนข้างชัดเจนในเรื่องแนวคิดของโครงการ ธุรกิจเก็บค่าเช่าที่ปรับโฉมเข้ากับยุคสมัยของกิติบุตรชิ้นนี้จะไปได้สวยแค่ไหน
เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป