|

"N-PARK-ไทยสมุทรฯ" สู้ถึงตาย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ทันทีที่ศาลล้มละลายได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อ 25 มกราคม 2550 ที่มีคำพิพากษาเมื่อ 31 ตุลาคม 2548 ให้ยกคำสั่งและคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายกลางที่พิจารณาเมื่อ 1 กันยายน 2546 อาการของบรรดาเจ้าหนี้รายใหม่ต่างดำเนินการติดตามทวงหนี้สินที่มีกับ N-PARK ทันที เพราะไม่แน่ใจว่าสถานะของ N-PARK จากนี้ไปจะเป็นอย่างไรเนื่องจากเกรงว่าหากมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้รายนี้สู่ภาวะล้มละลายการติดตามหนี้จะยากและได้คืนไม่ครบ
เริ่มจากธนาคารยูโอบี ฮ่องกง ได้การบังคับขายหุ้นบริษัท ฟินันซ่า จำกัด(มหาชน) หรือ FNS จำนวน 8,035,200 หุ้น เมื่อ 12 เมษายน 2550 ที่บริษัทนำไปเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาชำระหนี้
ตามมาด้วยธนาคารนครหลวงไทยได้ทำหนังสือให้บริษัททำการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดย N-PARK ได้เงินกู้จากธนาคารจำนวน 2,250 ล้านบาท เมื่อ 11 ธันวาคม 2546 ปัจจุบันยอดเงินกู้คงเหลือ1,385 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าปัจจุบันรวม 1,500 ล้านบาท
ผลการเจรจาในขณะนี้ไม่มีทีท่าว่าจะยืดอายุออกไปได้ ขณะที่ N-PARK ก็ไม่สามารถหาสถาบันการเงินที่จะมีรีไฟแนนซ์หนี้จากนครหลวงไทยได้
ขณะที่หนี้อีกก้อนกับธนาคารกรุงไทยที่มียอดคงเหลือ 1,335 ล้านบาท จ่อคิวที่จะต้องชำระคืนอีก หนี้ก้อนหนี้มีหลักประกันมูลค่า 1,700 ล้านบาท
แม้บริษัทจะพยายามหาทางออกด้วยการเพิ่มทุนอีก 4 พันล้านบาทที่จะรู้ผลในวันที่ 15 มิถุนายน แต่ความหวังคงเลือนลาง เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ของบริษัท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาขายที่ 0.55 บาทนั้นเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่อยู่ที่ 0.22 บาทต่อหุ้น
เสริมสิน กล่าวว่า การจัดการกับภาระเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินนั้น บริษัทได้เตรียมทางออกไว้บ้างแล้ว กรณีเลวร้ายที่สุดคือการขายทรัพย์สินและหุ้นที่ถือออกไปทั้งหมด ที่ประกอบด้วย PA จำนวน 62.50% หุ้น SIRI จำนวน 21.90% หุ้น SYNTEC จำนวน 19.95% หุ้น FNS ในส่วนที่เหลือ และหุ้น BMCL ราว 6.8% คาดว่าเพียงพอต่อการชำระหนี้และยังมีเงินเหลืออีกราว 1 พันล้านบาท
ส่วนโครงการที่อื่นอีก 3 โครงการเช่น โรงแรมโนโวเทล พันวา ภูเก็ต ที่ได้พันธมิตรอย่างเลห์แมนเข้ามาร่วมนั้นสถานะทางการเงินไม่มีปัญหา โครงการโรงแรมสยามด้านหลังศูนย์การค้าสยามพารากอนมีกลุ่มทุนจากบาร์เรนมาเป็นพันธมิตร และโครงการร้อยชักสามได้กลุ่มอามันรีสอร์ตเข้ามาร่วมงาน ทั้ง 3 โครงการไม่มีปัญหาอะไรเดินหน้าต่อไปได้
"เราไม่รู้ว่าในอดีตนั้นผู้ถือหุ้นเดิมมีปัญหาอะไรกัน กลุ่มของเราเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนในปี 2546 แน่นอนว่าเราถือราว 2 ใน 3 ที่เหลือเป็นของผู้ถือหุ้นเดิม แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ได้พยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ขณะนี้กำลังหาทางเจรจากับกลุ่มไทยสมุทรฯ อยู่" เสริมสินกล่าว
แหล่งข่าวจากวงการหลักทรัพย์กล่าวว่า ตอนนี้ต้องรอความชัดเจนทางกฎหมายว่า N-PARK ว่าจะต้องกลับไปฟื้นฟูกิจการใหม่ หรือต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครตอบได้แม้แต่ผู้บริหารของบริษัท ไม่ว่าจะกลับไปฟื้นฟูใหม่หรือถึงขั้นล้มละลายมูลค่าหุ้นของ N-PARK ก็คงไม่เหลือค่าอีก แต่ถ้าชัดเจนว่าไม่ต้องกลับไปเริ่มใหม่ เดินหน้าธุรกิจได้ต่อ N-PARK ก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
"นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยต้องตัดสินใจเองว่าจะถือต่อหรือลดความเสี่ยง เพราะไม่มีใครทราบว่าทุกอย่างจะชัดเจนเมื่อไหร่ จะใช้เวลานานแค่ไหน"
หาก N-PARK ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการล้มละลายใหม่ โดยไม่นับว่าการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมานั้นเกิดขึ้นคงจะมีความวุ่นวายตามมาอีกมาก เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหนี้ทุกรายได้ให้ความเห็นชอบกับแผนไปแล้ว และในส่วนของไทยสมุทรฯ ก็ได้รับการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนไปแล้ว
แค้นฝังลึก
ด้วยมูลหนี้ 200 ล้านบาทที่บริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ฟ้อง N-PARK ในคดีล้มละลายต่อศาลฎีกาเมื่อ 28 มีนาคม 2543 และไม่ฟ้องต่อเนื่องไม่ยอมลดละนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความบาดหมางของเจ้าของ N-PARK เดิมกับตระกูลอัสสกุลได้เป็นอย่างดี
เจ้าของเดิมของ N-PARK คือทศพงศ์ จารุทวี ที่ปั้น N-PARK เข้าตลาดหุ้นขยายกิจการด้วยการรุกเทคโอเวอร์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ จนสร้างความฮือฮาให้กับผู้คนในวงการ ขณะเดียวกันก็มีพันธมิตรเก่าแก่ของทศพงศ์อย่างบริษัทไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัยของตระกูลอัสสกุลเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ใน N-PARK
นอกจากการถือหุ้นแล้วทั้งทศพงศ์และกลุ่มของไทยสมุทร ยังเข้ามาร่วมกันในการดำเนินโครงการบางกอกการ์เด้นท์ในนามบริษัทแนเชอรัลสแตนดาร์ด จำกัด เป็นคอนโดมิเนียมย่านสาธุประดิษฐ์ โดยซื้อต่อมาจากกลุ่มของธนาคารกรุงเทพบางส่วน ทั้งหมด 7 อาคาร จำนวน 700 ยูนิต
กระทั่งเหตุการณ์ลดค่าเงินบาทในปี 2540 ธุรกิจหลายแห่งประสบปัญหาทางด้านด้านการเงินและ N-PARK ก็เช่นเดียวกัน ระหว่างนั้นได้เกิดความขัดแย้งระหว่างทศพงศ์กับกลุ่มไทยสมุทร ธุรกิจหลายด้านของไทยสมุทรก็ประสบปัญหาเช่นกันต้องขายออกไปเช่นธุรกิจด้านหลักทรัพย์
ไม่มีใครทราบความขัดแย้งที่ชัดเจน แต่จากการฟ้อง N-PARK ในคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายได้เป็นอย่างดี
แม้ N-PARK จะเลือกวิธีการชดใช้หนี้สินต่าง ๆ ให้กับเจ้าหนี้ด้วยการขอศาลล้มละลายกลางเพื่อฟื้นฟูกิจการในเดือนถัดมา แม้กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเดินหน้าจนผ่านมติความเห็นชอบของเจ้าหนี้ แต่กลุ่มไทยสมุทรได้ยื่นอุทธรณ์แผนต่อศาลฎีกาเมื่อ 17 มกราคม 2544
เหตุการณ์ล่วงเลยข้ามไปถึงปี 2546 ในวันที่ 5 มีนาคม ศาลฏีกามีคำพิพากษากลับคำสั่งศาลล้มละลายที่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระหว่างนั้นการฟื้นฟูกิจการของ N-PARK แล้วเสร็จจนศาลล้มลายมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ N-PARK ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546
ไทยสมุทรฯ ยังยื่นเรื่องต่อศาลฎีกาที่ศาลล้มละลายกลางจำหน่ายคดี N-PARK ออกจากระบบ เพื่อขอให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินคดีล้มละลายที่งดพิจารณาไว้ต่อไปตลอดปี 2548 ต่อเนื่องถึงปี 2549 กระทั่ง 25 มกราคม 2550 ศาลล้มละลายกลางได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ที่มีคำพิพากษายกคำสั่งและคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายกลางที่มีคำสั่งจำหน่ายคดี N-PARK ออกจากสารบบ
ขณะนี้คดี N-PARK ยังไม่จบกลุ่มไทยสมุทรฯ ยังเอาจริงเอาจังในเรื่องการฟ้องร้องให้ N-PARK ล้มละลาย มีเพียงทศพงศ์ จารุทวีกับคนในตระกูลอัสสกุลเท่านั้น ที่จะรู้ว่าความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายนั้นเกิดขึ้นจากอะไร แต่กว่าจะได้ข้อยุติ N-PARK คงอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากคนที่ตายไปแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|