"เครดิตบูโร"ล้างภาพหน่วยขึ้นบัญชีดำ หนุน"จัดเรทติ้งผู้กู้"แต้มต่อขอสินเชื่อ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือ "เครดิต บูโร" เร่งผลักดันกฎหมาย เครดิตสกอริ่ง ชำระล้างภาพ "หน่วยขึ้นบัญชีดำ" หลังเวลาเกือบทศวรรษ ได้กำหนดนิยามตัวเองเป็น "หน่วยเฝ้าระวังภัย" แต่กลับถูกมองจากสังคมภายนอกเป็นเหมือน "สายตรวจ" คอยตรวจจับประวัติผู้ขอสินเชื่อ จนหลายต่อหลายคน "สอบตก" ถูกขึ้นป้าย "แบล็คลิสต์" ทำให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้ว "เครดิต บูโร" จะอยู่ข้างฝ่ายไหน ระหว่างผู้พิพากษาโทษความผิดทางวินัยจากการขาดส่งค่างวดหรือ หน่วยกู้ภัยที่คอยช่วยเหลือผู้กู้ให้มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินได้โดยไม่กระอักกระอ่วนใจ...

การผลักดันกฎหมายให้มีการจัดเรทติ้งหรือเครดิต สกอริ่งสำหรับผู้ขอสินเชื่อสถาบันการเงิน อย่างเอาจริงเอาจังในรอบทศวรรษ คือสิ่งที่กำลังอธิบายว่า บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือ "เครดิต บูโร" ต้องการจะเลือกข้างว่า อยู่ในสถานะเป็นเพียงผู้เก็บรวบรวมข้อมูล และต้องการสร้างโอกาสให้กับผู้ขอสินเชื่อสถาบันการเงิน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยมีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินได้บ้าง

สำหรับเมืองไทย การจัดเรทติ้งหรือ เครดิตสกอริ่งผู้ยื่นขอสินเชื่อสถาบันการเงินเป็นรายบุคคล อาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศกลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วและค่อนข้างมีผลในด้านบวก หากมองในแง่อำนาจการต่อรอง หรือพูดง่ายๆก็คือ ในสนามรบที่แข่งขันรุนแรง สถาบันการเงินหลายแห่งต่างก็ต้องการลูกค้าประวัติดีเพื่อลดทอนความเสียหาย ดังนั้นถ้าผู้กู้รายใดมี แต้ม ต่อรองที่มากพอ ก็จะถูกมะรุมมะตุ้มจากสถาบันการเงิน หรือถ้าหากถูกปฏิเสธก็ยังไปกู้ที่อื่นได้โดยไม่เสียโอกาส

ว่ากันว่า ในแถบเอเชีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ จัดตั้งเครดิตสกอริ่งไปล่วงหน้านานแล้ว ในขณะที่ อินเดียและจีนก็ตามหลังมาติดๆ ส่วนอินโดนีเซียก็กำลังจะจัดตั้งบริษัทข้อมูลเครดิต

นิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ยอมรับว่า นับจากเริ่มก่อตั้งเป็น 2 บริษัท หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 คือ บริษัทข้อมูลเครดิตไทย และบริษัทข้อมูลเครดิตกลาง กระทั่งหลังการควบรวม และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ แต่เวลาเกือบทศวรรษ บริษัทก็ยังถูกมองเป็น "หน่วยขึ้นบัญชีดำ" ทั้งๆที่บทบาทและหน้าที่จริงๆก็คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้กู้ให้กับบริษัทสมาชิกใช้ในการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น

" เราเก็บข้อมูลสินเชื่อทุกสถาบันการเงิน ไม่ใช่แค่คนผิดนัดชำระ ทำให้เห็นสถิติว่าในเวลา 10 ปี จากที่เคยขอสินเชื่อต้องใช้เวลานาน ก็เปลี่ยนมาเป็นอนุมัติเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็จะไม่เห็นการถือบัตรเครดิต 1 คน 10 กว่าใบเหมือนในอดีตแล้ว หรือถ้าไม่มีการจัดตั้งเครดิตบูโร ขึ้นมาก็คงจะมีเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียมากกว่านี้"

ปัจจุบันมีผู้บริโภคใช้บริการขอสินเชื่อถึง 46 ล้านบัญชี หรือ 13 ล้านราย เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต 11 ล้านบัญชี สินเชื่อบุคคล 9 ล้านบัญชี สินเชื่อรถยนต์ 3.4 ล้านบัญชี และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 2.6 ล้านบัญชี และมีผู้เข้ามาขอรายงานข้อมูลเครดิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 50% คิดเป็น 4 พันกว่าราย

อย่างไรก็ตาม การผลักดันกฎหมาย เชื่อว่าจะทำให้ลูกค้ามีคะแนนหรือ แต้ม เพื่อนำไปเป็นอำนาจต่อรองเวลาไปขอสินเชื่อได้เหมือนที่เคยเกิดในต่างประเทศ นั่นก็คือ ถ้าลูกค้าประวัติดี สถาบันการเงินก็ควรจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ารายอื่น แต่ถึงอย่างนั้นการจัดเรทติ้งรายตัวของผู้กู้ก็ยังต้องผ่านด่านสุดท้ายคือ การพิจารณาจากสถาบันการเงินอยู่ดี

นั่นก็หมายความว่า การจัดทำเครดิต สกอริ่ง สำหรับผู้กู้ ไม่ได้การรันตีการขอสินเชื่อได้ทั้ง 100% เพราะสถานภาพของแบงก์ก็ยังถือไพ่เหนือกว่า...

ในขณะที่ตามปรกติ ลูกค้าจะไม่มี "เครดิต สกอริ่ง" เพราะในความเป็นจริงจะถูกกำหนดโดยสถาบันการเงิน ดังนั้นลูกค้าจึงไม่มีหลักเกณฑ์อ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลตัวเองกับผู้อื่น นอกจากนั้นการจะตรวจสอบข้อมูลตัวเองก็ต้องผ่านช่องทางของสถาบันการเงินเหมือนเช่นทุกวันนี้

" ทุกวันนี้เราถูกกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบตายตัว เช่นบัตรเครดิตก็ 20% แต่ถ้ามีการจัดเรทติ้งเป็นรายบุคคล ในสภาพการแข่งขันรุนแรง อัตราดอกเบี้ยก็คงไม่ถูกกำหนดตายตัว หรือใช้อัตราเดียวกันทั้งหมด ทั้งที่ประวัติการผ่อนงวดชำระต่างกัน"

นิวัฒน์ บอกว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จะมีข้อมูล 2 ส่วนคือ ประวัติทั่วไป และประวัติการกู้สินเชื่อ โดยมีวงเงินกู้ และวงเงินค้างค่างวดปรากฏอยู่ จุดนี้จึงทำให้สถาบันการเงินใช้เป็นหลักในการพิจารณาสินเชื่อ ทำให้รายที่ค้างค่างวดมักจะสอบไม่ผ่าน หรือขอสินเชื่ออื่นไม่ได้ แถมชื่อยังติดยาวอยู่นานถึง 3 ปี เพราะเครดิตบูโรจะจัดเก็บข้อมูลในช่วงเวลากำหนดเท่านั้น

ดังนั้นรายที่ติดค้างชำระนานหลายงวด ก็จะถูกตรวจจับโดยผู้ให้กู้ ดีไม่ดีก็อาจถูกมองเป็นกลุ่มชนที่ไม่น่าคบหา เพราะเริ่มจะมองเห็นอาการอ่อนแรงทางการเงินมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้น ยังมองว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นหรือลง ก็มักจะมีผลต่ออำนาจการใช้จ่าย หรือเป็นภาระผู้กู้ค่อนข้างมาก เช่น ดอกเบี้ยปรับตัวลงเพียง 1% ก็สามารถลดภาระผู้กู้ได้มาก ทั้งวงเงินผ่อนต่อเดือนและภาระดอกเบี้ย

นิวัฒน์ บอกว่า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลง ทุกคนก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพราะความสามารถผ่นชำระมีมากขึ้น ภาครัฐก็พยายามหามาตรการแก้ไขโดยลดหนี้เอ็นพีแอลลง ขณะเดียวกันแบงก์รัฐอย่างกรุงไทยก็เริ่มนำร่องลดดอกเบี้ย จนแบงก์อื่นลดตาม

" เครดิต บูโร จึงช่วยให้เห็นภาพรวมสินเชื่อทั้งหมด ที่สะท้อนความสามารถในการผ่อนชำระ และสะท้อนศักยภาพผู้กู้ว่าควรจะได้รับอนุมัติสินเชื่อเพิ่มหรือไม่"

1 ทศวรรษ "เครดิต บูโร" จึงยังไม่ทิ้งภาพลักษณ์ทั้ง "หน่วยขึ้นบัญชีดำ" และ "หน่วยกู้ภัย" ในคราวเดียวกัน ถึงแม้จะมีการแก้กฎหมายเพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้กู้ แต่โอกาสก็มักจะนำมาซึ่งหายนะได้ทุกเมื่อ หากผู้กู้ขาดวินัย และแบงก์บริหารความเสี่ยงไม่ได้ผล...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.