|
เปิดแผน อสมท สู้ศึกฟรีทีวียกใหม่ ชูโมเดิร์นไนน์ เป็น CSR TV พร้อมตั้งทีวีสาธารณะ MCOT 1-2
ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
อสมท เดินหน้าสานต่อสังคมอุดมปัญญา สู่โมเดิร์นไนน์ CSR TV วางเป้าผลิตรายการสาระคุณภาพ 17 ชั่วโมง ชิงเรตติ้งจากละคร เกมโชว์ ตัดหน้า TITV ตั้งช่อง MCOT 1-2 เป็นทีวีสาธารณะสถานีแรก ชงเรื่อง "วสันต์" เสริมศักยภาพทีมขาย สร้างรายได้ตีคู่เรตติ้ง
แม้วันนี้ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท จะไม่ใช่ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้ซึ่งนำแนวคิด การสร้างสังคมอุดมปัญญาบนจอทีวี มานำเสนอสู่สายตาคนไทย ที่ต้องลุกออกจากตำแหน่งไปด้วยปัญหาทางการเมือง แต่แสงแห่งปัญญาอันมีอยู่น้อยนิดในวงการโทรทัศน์เมืองไทย ก็ไม่ได้ดับลงตาม หากแต่กลับได้รับการสานต่อทั้งจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ และพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รองประธานกรรมการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ขยายบทบาทของสื่อโทรทัศน์ของ อสมท ตั้งเป้าให้เป็น CSR TV (Corporate Social Responsibility Television)
"หากมององค์กรที่พูดเรื่อง CSR อย่างเชฟรอน ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ ปตท. ทำ CSR ก็เป็นเพียงแค่แผนกหนึ่ง หรือกิจกรรมหนึ่ง แต่ อสมท มีโปรดักส์ CSR ที่เป็นผังรายการทั้งหมดคืนกำไรให้กับสังคม เป็น CSR ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย" เขมทัตต์ พลเดช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
แนวคิด CSR TV เกิดจากแนวคิดสังคมอุดมปัญญา ที่ถูกต่อเติมด้วยคุณธรรม และจริยธรรม ที่ต้องมีอยู่คู่กัน ตลอด 4 ปีที่มิ่งขวัญนั่งบริหาร อสมท อยู่ โมเดิร์นไนน์ถูกบรรจุด้วยรายการความรู้ สารคดีจากต่างประเทศ มาเสริมปัญญาให้กับผู้ชมตามเจตนารมณ์ของผู้บริหารสถานี แต่ในปัจจุบัน รายการที่เข้ามาอยู่ในผัง นอกจากสาระที่จะเสริมสร้างปัญญาแล้ว สิ่งที่ถูกเติมเข้าไปคือการแสดงให้เห็นถึงคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไป
เขมทัตต์กล่าวว่า CSR TV ไม่ใช่เป็นแค่การวางแนวคิดให้กับสถานี แต่ตัวโปรดักส์ซึ่งหมายถึงรายการที่อยู่ในผังรายการแต่ละส่วนจะเป็น CSR ที่เข้าไปถึงคนในแต่ละกลุ่ม ตั้งแต่ช่วงเช้า รายการสโมสรสุขภาพ พูดถึงสุขภาพ กีฬากับคนกลุ่มหนึ่ง ช่วงสายรายการจับเงินชนทอง เป็นรายการที่พูดถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจ กับผู้สนใจในอีกกลุ่มต่างจากรายการภัยรายวัน ที่ออกอากาศต่อมา ช่วงบ่าย รายการบ่ายนี้มีคำตอบ ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนของหน่วยงานราชการ รายการแดนสนธยา ช่วงเย็น เป็นเรื่องของความรู้ เช่นเดียวกับ เกมทศกัณฐ์ ที่จะมีการยกเครื่องใหม่ เพื่อเพิ่มการให้ความรู้อย่างเต็มที่ รองรับกลุ่มครอบครัว ช่วงดึก สำหรับผู้ที่ต้องการเสพข่าวที่ลึกกว่าการชมข่าวประจำวัน รายการจันทร์ชวนคิด คนคมคิด จุดชนวนความคิด ปมเด่นประเด็นร้อน สามารถตอบสนองความต้องการได้ นอกจากนั้นรายการคุณภาพอย่างปราชญ์เดินดิน โลกมหัศจรรย์ ขบวนการแก้โกง ก็เป็นรายการที่ตอบโจทย์การตอบแทนสังคมในรูปแบบเนื้อหาที่ต่างกันไป และขณะนี้ได้ติดต่อพูดคุยกับ อ.สุจิต วงศ์เทศ มูลนิธิหมอชาวบ้าน แพทยสมาคม ร่วมทำรายการที่เป็น CSR ป้อนให้กับโมเดิร์นไนน์ ในช่วงนอกเวลาไพร์มไทม์อีกด้วย
"ผู้ผลิตคอนเทนต์ดี ๆ ของผู้ผลิตหน้าใหม่ ๆ อยู่มากมาย แต่ไม่มีโอกาสได้เกิด เพราะเส้นสายไม่มี เงินน้อย หรือบางครั้งก็นำเสนอไม่เป็น วันนี้จึงมีแต่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่อยู่กับสถานีมานาน รายการไม่เวิร์ค ไม่ตรงกับแนวคิด CSR ที่กระทบไปถึงวิชั่นของสถานีในอนาคต ผมก็ต้องพูดคุยให้ปรับปรุง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตบางรายก็ยอมรับถอนตัวออกไป บางรายก็ยินดีปรับปรุงรายการให้ตรงกับแนวคิดของเรา"
วางยุทธศาสตร์ 17 ชั่วโมงเด่นสร้างความแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดของการวางตำแหน่งโมเดิร์นไนน์ ให้เป็น CSR TV ที่แข็งแกร่ง เขมทัตต์มองว่า ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนารายการอย่างชัดเจน โดยนอกจากเนื้อหารายการที่ตรงกับแนวคิดแล้ว อสมท จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตรายการเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจุบัน โมเดิร์นไนน์ มีรายการที่ผลิตขึ้นเองเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเวลาส่วนใหญ่เป็นรายการข่าว ทั้งช่วงข่าวหลัก 3 ช่วงต่อวัน และข่าวต้นชั่วโมง 14 ช่วงต่อวัน วันนี้ อสมท เริ่มนำช่วงเวลาที่ผู้ผลิตภายนอกคืนเวลา และรายการนอกเวลาไพร์มไทม์บางรายการมาผลิตรายการตามแนวคิด CSR เองเพิ่มขึ้น อาทิ สโมสรสุขภาพ จับเงินชนทอง ภัยรายวัน จันทร์ชวนคิด ปมเด่นประเด็นร้อน ฯลฯ จนปัจจุบันมีเพิ่มเป็น 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
เขมทัตต์กล่าวว่า โดยปกติรายการโทรทัศน์ที่แข็งแรง ควรมีรายการที่แข็งแกร่งมีเรตติ้งที่ดีอยู่ราว 17 รายการ ใน 17 ชั่วโมง อสมท ตั้งเป้าหมายที่จะทำหน้าที่ผลิตรายการเองให้ได้ราว 50% ซึ่งตนวางโครงสร้างรายการของโมเดิร์นไนน์ ที่แข็งแกร่ง จะประกอบด้วย รายการคุณภาพในช่วงไพร์มไทม์ 4-5 ชั่วโมง รวมช่วงข่าวหลัก และข่าวต้นชั่วโมงทั้งหมด เป็น 8 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือจะคัดเลือกผู้ผลิตที่มีคอนเทนต์คุณภาพเข้ามาร่วมผลิตให้ครบ 17 ชั่วโมง ส่วนช่วงดึกก็ปล่อยให้เป็นการเช่าเวลา
MCOT 1-2 ตั้งเป้าทีวีสาธารณะตัวจริง
แนวคิดการตั้งทีวีสาธารณะที่ภาครัฐตัดสินใจใช้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี มาสวมบท ได้รับเสียงค้านจากรอบด้านถึงโครงสร้างการจัดตั้งที่นำสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี ที่เคยบริหารงานในรูปของธุรกิจ มาทำหน้าที่นี้ว่าคงลงเอยไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 ที่หาคุณภาพของรายการไม่ค่อยเจอ เพราะเจ้าของสถานีคือรัฐบาล ไม่มีการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาสถานีอย่างจริงจัง แต่แนวคิดในการตั้งทีวีสาธารณะ MCOT 1 และ MCOT 2 ของ อสมท ต่างออกไป
MCOT 1 และ MCOT 2 เป็นอีกแนวคิดที่เกิดจากมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท คนก่อน ที่ต้องการเปิดช่องทีวีดาวเทียมแต่เขาต้องการให้เป็นสถานีโทรทัศน์จากประเทศไทยที่ทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารไปทั่วโลก เช่นเดียวกับ CNN BBC หรือ NHK โดยมีการใช้เงินลงทุนกว่า 1,170 ล้านบาท ชิงพื้นที่ 50 ไร่ข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มาจากแลนด์แอนด์เฮ้าส์ วางแผนเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ พร้อมดึงสำนักข่าวจากต่างประเทศมาตั้งสำนักงานร่วมกันที่นี่ ตั้งเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารระดับภูมิภาค แต่เมื่อพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ก้าวเข้ามา แผนงานของโทรทัศน์ดาวเทียม MCOT ก็เปลี่ยนไป
พงษ์ศักดิ์ ลดขอบข่ายการออกอากาศของโทรทัศน์ดาวเทียม MCOT เหลือเพียงการส่งสัญญาณภายในประเทศ และพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยออกอากาศ 2 ช่อง คือ MCOT 1 เป็นช่องรายการสาระ ความรู้ ข่าวสาร การถ่ายทอดประเด็นสำคัญของประเทศ ข่าวต้นชั่วโมง และ MCOT 2 มีเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม สาระบันเทิง ละคร เยาวชน ดนตรี กีฬา
เขมทัตต์ กล่าวเสริมรายละเอียดของโทรทัศน์ดาวเทียม MCOT ว่า ช่วงแรกของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนนี้ รายการส่วนใหญ่จะเป็นรายการที่ อสมท ผลิตขึ้นเองเพื่อออกอากาศในช่องนี้โดยเฉพาะ และบางรายการคุณภาพจากโมเดิร์นไนน์ ที่จะมาออกอากาศรีรันวันต่อวัน รวมถึงรายการข่าว
"รายการที่ออกอากาศบน MCOT 1 และ 2 มีทั้งส่วนที่ออกอากาศเฉพาะช่องนี้ โดย อสมท เป็นผู้ผลิตเอง เช่น รายการเวทีความคิด ที่เปิดโอกาสให้คนในข่าวฝ่ายใดก็ได้ มีโอกาสพูด อาจเป็นสุริยะใส หรือพีทีวี ก็มาร่วมรายการได้ มีรายการของดร.เสรี วงศ์มณฑา ข่าวภาคภาษาไทยที่จะให้รายละเอียดมากกว่า และข่าวภาษาอังกฤษ เป็นต้น รวมถึงรายการที่รีรันวันต่อวันจากการออกอากาศที่โมเดิร์นไนน์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรายการนั้น ๆ สามารถขยายกลุ่มผู้ชมออกไป นอกจากนั้นยังมีรายการที่เป็นคอนเทนต์ดี ๆ เคยออกอากาศมานานแล้ว แต่ยังเป็นที่สนใจอยู่ เช่นรายการของแม่ชีศันศนีย์"
เขมทัตต์กล่าวว่า งบประมาณการเปิดช่อง MCOT 1 และ 2 ไม่ได้มากมายตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย เพราะรายการที่ผลิตขึ้น ก็ใช้ห้องส่งเดิมของ อสมท ที่มีศักยภาพรองรับงานได้อยู่แล้ว ช่องสัญญาณดาวเทียมก็มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกอาจให้หน่วยงานที่ดูแลช่องทีวีดาวเทียมนี้เป็นเหมือนบิสิเนสยูนิตหนึ่งใน อสมท แต่เมื่อแข็งแรงแล้ว ต้องแยกออกยืนบนขาตัวเอง แผนงานต่อไปจะเปิดให้เป็นเหมือนกึ่งช่องทีวีสาธารณะ ที่ผู้ใดที่มีคอนเทนต์รายการน่าสนใจก็สามารถเข้ามาเช่าสถานีออกอากาศได้ ในอัตราชั่วโมงละ 1 หมื่นบาท หรือหากองค์กร มูลนิธิ ที่มีคอนเทนต์ที่ดี แต่ไม่มีงบประมาณในการออกอากาศ อสมท ก็จะนำรายได้จากรายการใหญ่ ๆ ในโมเดิร์นไนน์ ที่สนใจจะมารีรันใน MCOT เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรายการของตนทั้งในส่วนของผู้ชม และการหาสปอนเซอร์สนับสนุนรายการที่มีช่องทางออกอากาศมากขึ้น ก็จะนำมาแบ่งปันให้กับองค์กรเหล่านี้
เมื่อกล่าวถึงรูปแบบทีวีสาธารณะซึ่งอาจคล้ายคลึงกับ TITV เขมทัตต์กล่าวว่า คงต่างกัน เนื่องจาก อสมท เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องสร้างรายได้ จึงต้องวางรูปแบบที่จะประสานการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์กับแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ทั้งผู้บริโภค และผู้ถือหุ้นพึงพอใจพร้อม ๆ กัน
"รายการที่เข้ามาต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับสังคมอุดมปัญญา ที่แฝงด้วยคุณธรรม จริยธรรม อาจเป็นเรื่องความรู้ หรือ SMEs โดยสามารถหาสปอนเซอร์สนับสนุน โชว์ตราสินค้า หรือไทน์อินในรายการได้ แต่ห้ามมีสปอตโฆษณา รายได้ค่าเช่าชั่วโมงละ 10,000 บาท 17 ชั่วโมงต่อวัน สร้างรายได้วันละ 1.7 แสนบาท เดือนละกว่า 5 ล้านบาท 1 ปี จะมีรายได้ราว 61 ล้านบาทต่อ 1 ช่อง หรือรวม 2 ช่อง มีรายได้ 122 ล้านบาท ก็น่าเป็นแนวทางการสร้างทีวีสาธารณะที่มีรายการดีที่ผู้ชมต้องการ และมีรายได้ตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น"
MCOT 1 และ MCOT 2 ออกอากาศผ่านเคเบิลทีวีทรูวิชั่นส์ ช่อง 26 และ 27 นอกจากนั้นผู้ที่มีจานดาวเทียมระบบ C-Band หรือผู้ชมรายการของเคเบิลทีวีท้องถิ่นในระบบจานดาวเทียมก็สามารถรับชมรายการได้
แนะ "วสันต์" เสริมศักยภาพทีมขาย"
ปัญหาหนึ่งของ อสมท ที่มองเห็นได้จากรีเสิร์ชที่บริษัทวิจัยได้สำรวจธุรกิจโทรทัศน์ พบว่า หลังจากโมเดิร์นไนน์ เกิดขึ้นบนแนวคิดสังคมอุดมปัญญา นำรายการสาระคุณภาพเข้ามานำเสนอ พร้อมดึงผู้ผลิตรายการชั้นนำเข้ามาร่วมผลิตรายการ สร้างความนิยมในหมู่ผู้ชมให้เติบโตจนขึ้นมาเป็นอันดับ 3 รองจากช่อง 7 และช่อง 3 ได้ หากแต่ในส่วนความนิยมของเจ้าของสินค้าที่มาลงโฆษณากลับไม่ได้ขยับตามขึ้นมา โมเดิร์นไนน์ยังมีส่วนแบ่งจากการโฆษณาเป็นอันดับ 4 ถึง 5 ตามหลังแม้กระทั่งช่อง 5
เมื่อถามว่า รายการ CSR สามารถสร้างรายได้ให้กับโมเดิร์นไนน์ แข่งขันกับฟรีทีวีอื่นที่มีรายการบันเทิงเป็นหัวหอกได้หรือไม่ เขมทัตต์กล่าวมั่นใจว่า แข่งขันได้ เพราะเรตติ้งของโมเดิร์นไนน์ที่สูงขึ้นใกล้เคียงกับช่อง 7 และช่อง 3 แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันประชาชนเริ่มหันมาให้ความสนใจรายการสาระประโยชน์มากขึ้น มีเพียงการเพิ่มศักยภาพทีมขายให้สามารถแข่งขันกับทีมขายของช่องต่าง ๆ ให้ได้
แหล่งข่าวจากธุรกิจมีเดียเอเยนซี่ กล่าวว่า โมเดิร์นไนน์มีจุดเด่นอยู่ที่รายการในช่วงไพร์มไทม์ หรือรายการภาคค่ำ ที่ผ่านมาฝ่ายขายของ อสมท ก็มุ่งที่จะขายเฉพาะรายการในช่วงนี้ ซึ่งมีเวลาเพียง 4-5 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือซึ่งสถานีอื่นสามารถสร้างรายได้ดีไม่แพ้ไพร์มไทม์ เช่น รายการเรื่องเล่าเช้านี้ หรือผู้หญิงถึงผู้หญิง ของช่อง 3 รายการจมูกมด ของช่อง 7 แต่โมเดิร์นไนน์กลับไม่ค่อยมีการนำเสนอรายการช่วงนอกไพร์มไทม์ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งที่บางรายการก็เริ่มได้รับความนิยมจากผู้ชม เช่น รายการภาคกลางวัน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ ควรจะลงมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้บ้าง มิใช่มุ่งแต่จะปรับปรุงเนื้อหารายการเพียงอย่างเดียว
แผนสู้ศึกฟรีทีวียกใหม่ของ อสมท ที่มีการแต่งตัว วางตำแหน่งที่ชัดเจนเพื่อรองรับการแข่งขันแล้ว เหลือเพียงทีมรุกที่จะหารายได้ให้จากเส้นทางที่วางไว้ เป็นโจทย์ที่ต้องรอให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ วสันต์ ภัยหลีกลี้ เข้ามาแก้ไข
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|