อะโคเนติค ยกทัพขึ้นพารากอน ดันอิมเมจเทียบชั้นอินเตอร์แบรนด์


ผู้จัดการรายวัน(7 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อะโคเนติค เปิด ชอปอินชอป ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Inspiration Life แรงบันดาลใจของชีวิต ที่ เพาเวอร์ มอลล์ สยามพารากอน หวังเปลี่ยนเพอร์เซ็ปชั่นจากโลคัลแบรนด์สู่แบรนด์ที่มีไลฟ์สไตล์ ผนึกพันธมิตรบัตรเครดิตขยายฐานลูกค้า อัดโปรโมชั่น 0% 10 เดือน กระตุ้นกำลังซื้อ พร้อมแผนซีอาร์เอ็มผุด อะโคเนติค โซไซตี้ สานกิจกรรมสร้างแบรนด์ลอยัลตี้

การแข่งขันในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านมาบรรดาแบรนด์เนมพยายามยกระดับแบรนด์และเทคโนโลยีให้สูงขึ้นไปเพื่อหนีสงครามราคาจากแบรนด์จีนและโลคัลแบรนด์ แต่ก็มีแบรนด์จีนและโลคัลแบรนด์บางรายที่พยายามสร้างความแตกต่างจากสินค้าในกลุ่มเดียวกันด้วยการสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์และยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพเหนือขึ้นไปไม่ว่าจะเป็น โซเคน แฟมิลี่

นอกจากนี้ยังมี อะโคเนติค ที่พยายามสื่อสารให้ผู้บริโภคได้เห็นถึงการยกระดับแบรนด์ตัวเองผ่านช่องทางจำหน่ายโดยเฉพาะการตั้งศูนย์บริการที่ใช้ชื่อว่า อะโคเนติค ที่เซ็นทรัล พระราม 2 และเซ็นทรัล บางนา เพื่อเป็นอิมเมจชอปที่จะแนะนำสินค้ารุ่นใหม่ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสก่อนวางตลาดจริง รวมถึงการสร้างประสบการณ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นความคุ้มค่าคุ้มราคาของสินค้าอะโคเนติคแต่นั่นยังไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพราะจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือการขายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีการผุด "เดอะ บูติค ดิจิตอล" ที่พันธ์ทิพย์ งามวงศ์วาน เพื่อรวบรวมสินค้าทุกแบรนด์ที่บริษัทจำหน่ายมาไว้ในร้านเดียวกันซึ่งได้แก่แบรนด์ อะโคเนติค เพลย์ฟูล เวิร์ลพูล เลเบลสตีล และเพนโซนิค ทั้งนี้ เดอะ บูติค ดิจิตอลจะไม่ใช่เพียงศูนย์บริการเท่านั้น หากยังจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าด้วยโดยมีสินค้าที่แตกต่างจากดีลเลอร์เพื่อลดความขัดแย้งในการบริหารช่องทางจำหน่าย

แต่เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนมากเลือกที่จะซื้อแต่แบรนด์ที่คุ้นเคย ดังนั้นการเปิดชอปที่มีจำหน่ายเพียงแบรนด์เดียวหรือมีหลายแบรนด์แต่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคก็อาจจะไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากเท่าที่ควร ดังนั้นอะโคเนติคจึงพยายามเปิดคอร์เนอร์ในลักษณะชอปอินชอปในศูนย์การค้าอย่างเพาเวอร์มอลล์ สยามพารากอนโดยทุ่มงบในการตกแต่งไป 1.5 ล้านบาท และคาดว่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับแบรนด์ของอะโคเนติค ตลอดจนการทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบผิลตภัณฑ์และราคาของอะโคเนติคเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่เปิดคอร์เนอร์ในสยามพารากอนได้ ซึ่งปัจจุบันนอกจากอะโคเนติคแล้วก็มีแต่แบรนด์เนมชั้นนำไม่ว่าจะเป็นโซนี่ พานาโซนิค ฟิลิปส์ เจวีซี ซัมซุง แอลจี โตชิบา

นอกจากนี้อะโคเนติคยังคงเดินหน้าเพื่อพัฒนาช่องทางจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันอะโคเนติคมีจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดหลายแห่ง ส่วนดีลเลอร์มี 300 แห่ง ซึ่งมีเพียง 100 แห่งเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพโดยอะโคเนติคมีการทำโครงการ Exclusive Zone ในร้านค้าดีลเลอร์ชั้นนำ และโกลเดนเมมเบอร์ในร้านค้าระดับรอง ซึ่งจะมีการทำดิสเพลย์ในร้านให้โดดเด่น การกิจกรรมร่วมกับร้านค้า รวมถึงการทำโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน นอกจากนี้ยังมีการทำ CRM โดยใช้ฐานข้อมูลของร้านค้าและฐานลูกค้าเก่าของอะโคเนติคเพื่อให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

ทั้งนี้ในการเปิดชอปแห่งใหม่ที่สยามพารากอนได้มีการทำโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิตเคทีซีซึ่งมีฐานข้อมูลลูกค้าไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านรายซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าและสร้างการรับรู้ไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มอื่นได้จำนวนมาก ตลอดจนการทำโปรโมชั่น 0% 10 เดือนก็ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการทำโปรโมชั่นประเภทมอบรางวัลที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของกลุ่มเป้าหมายระดับไฮเอนด์เช่น ซื้อแอลซีดีทีวีได้รางวัลเครื่องเล่นดีวีดี หรือชุดโฮมเธียเตอร์ หรือ แพกเกจสปา ก็จะเป็นอีกจุดในการดึงดูดฐานลูกค้าระดับกลางขึ้นบนที่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อจากราคาสินค้า

"ปัจจุบันภาพลักษณ์แบรนด์อะโคเนติคเริ่มดีขึ้น ร้านค้าหลายแห่งยอมรับและมีการแบ่งพื้นที่ขายให้เรามากขึ้น ต่อไปเราก็ต้องทำให้ผู้บริโภคยอมรับด้วย โดยเราได้ศึกษาไลฟ์สไตล์ความต้องการของลูกค้าเพื่อพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม แม้เราไม่ใช่ผู้นำเทคโนโลยี แต่อะไรที่แบรนด์เนมมีเราก็มีเหมือนกัน พร้อมกันนี้ยังมีการทำอีโมชันนอลมาร์เก็ตติ้งเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น เช่นการใส่สีสันให้กับร้าน เดอะ บูติค ดิจิตอล โดยเราตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในกลุ่มโลคัลแบรนด์ภายในปี 2551 พร้อมกับการปรับโพสิชันนิ่งใหม่จากตลาด mid to low มาเป็น mid to high" นิภาภรณ์ พวงทอง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ไฮไฟ โอเรียนท์ (ไทย) กล่าว

อย่างไรก็ดีในการก้าวสู่ตลาดระดับกลาง-บน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับแบรนด์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค แต่ยังต้องเน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาเพื่อสร้างความแตกต่างจากสินค้าแบรนด์เนมโดยราคาเฉลี่ยของอะโคเนติคจะต่ำกว่าแบรนด์เนมประมาณ 10-15%

ภาพลักษณ์ของแบรนด์อะโคเนติคในสายตาผู้บริโภคไทยยังเป็นรองแบรนด์เนมอยู่มาก ที่ผ่านมาอะโคเนติคพยายามสร้างมุมมองใหม่ให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อที่ความคุ้มค่าคุ้มราคามากกว่าการมองเรื่องแบรนด์สินค้าซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นยุค Smart Age ที่ผู้บริโภคเริ่มหันมามองฟังก์ชั่นการใช้งานและความสมเหตุสมผลของราคามากกว่าจะมองแต่เรื่องแบรนด์ อะโคเนติคจึงพัฒนาสินค้าให้มีเหมือนที่คู่แข่งมี และวันนี้อะโคเนติคกำลังจะก้าวข้ามฟังก์ชันนอลไปสู่การใช้กลยุทธ์อีโมชันนอลมาร์เก็ตติ้ง ด้วยดีไซน์ และการปรับเปลี่ยนเพอร์เซ็ปชั่นจากโลคัลแบรนด์ไปสู่แบรนด์ที่มีไลฟ์สไตล์

สำหรับการเปิด ชอป อิน ชอป ในเพาเวอร์มอลล์ อัลตร้า ที่สยามพารากอน ทางอะโคเนติคได้วางคอนเซ็ปต์ของการเปิดร้านให้เป็น แรงบันดาลใจของชีวิต The Inspiration Life เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดระดับกลางขึ้นบนที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ชีวิต ซึ่งถือเป็นสเต็ปของการสร้างยอดขายสินค้าไฮเอนด์ หลังจากที่บริษัทได้ยกระดับแบรนด์มาตลอด 3 ปี นอกจากนี้บริษัทยังมีสเต็ปต่อไปคือการสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ด้วยการสร้างชุมชนของลูกค้าภายใต้แคมเปญ อะโคเนติค โซไซตี้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ โดยเป็นการทำกิจกรรมผ่านรูปแบบออนไลน์ พร้อมกับการทำ CRM เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.