อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเพิ่มสูงขึ้น 30% เมื่อปี 2535 และเป็นที่คาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้น
20% ในปีนี้
ตัวเลขเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องประกาศ ทุกคนคงทราบดีอยู่แก่ใจจากปริมาณรถยนต์บนท้องถนนและสภาวะการจราจรติดขัดที่รุนแรงขึ้นทุก
ๆ วันและยากที่จะเยียวยาแก้ไข
เจนเนอรัลมอเตอร์ส (จีเอ็ม) ผู้จำหน่าย รถยนต์ทั่วโลกได้มากกว่าผู้ผลิตรายอื่น
ๆ คือประมาณ 17% ของตลาดโลก ซึ่งรวมแล้วมากกว่านิสสันและฮอนด้ารวมกัน ได้เข้ามาทำธุรกิจอย่างเป็นกิจจะลักษณะในไทยด้วยการก่อตั้งบริษัท
เจนเนอรัลมอเตอร์ส (ประเทศไทย) ขึ้นในเดือนมิถุนายน 2535
ดูเหมือนว่าจีเอ็มจะเริ่มให้ความสนใจตลาดรถยนต์ไทยอย่างจริงจัง
ก่อนหน้านั้นจีเอ็มมีเพียงสำนักงานตัวแทน จนปี 2535 จึงยกระดับขึ้นเป็นบริษัท
ทำหน้าที่นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าของจีเอ็มภายในประเทศไทย โดยผ่านตัวแทนจำหน่าย
และผู้ประกอบและจำหน่าย
สินค้าที่จำหน่ายเป็นหลักในเวลานี้คือรถยนต์โอเปิ้ลรุ่น คาเดท เคลิบร้าและโอเมก้า
ในอนาคตจะเพิ่มโฮลเด้นคาเล่ย์ด้วยการนำเข้าจากเจนเนอรัลมอเตอร์สโฮลเด้น ออโตโมทีฟซึ่งเป็นบริษัทสาขาของจีเอ็มในประเทศออสเตรเลีย
รถยนต์เหล่านี้ประกอบที่บริษัทบางชัน เจนเนอรัล แอสแซมบลี้ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของพระนครยนตรการผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โอเปิ้ลและโฮลเด้นของจีเอ็ม
นอกจากนี้จีเอ็มยังมีนโยบายที่จะนำรถที่มาจากสาขาในอเมริกาเหนือเข้ามาจำหน่ายในไทยด้วยคือ
เชฟโรเลต ปอนเตี้ยก โอลด์สโมบิลและบิวอิก ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จีเอ็มจากโซนนี้คือยูนิเวอร์แซลมอเตอร์
ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายมาแต่ปี 2517
ต่อนี้ไปถนนเมืองไทยก็จะมีรถยนต์รูปร่างหน้าตาแปลก ๆ มาจอดติดบนถนนให้ชมกันอย่างเพลิดเพลิน
ธุรกิจนอกเหนือจากเรื่องรถยนต์ของจีเอ็มในประเทศไทยคือ บริษัทฮิวจ์ แอร์คราฟท์
ผู้จัดหาดาวเทียมสื่อสารระบบโทรคมนาคมและเรดาร์ให้ไทย
บริษัทเดลโก อิเลคทรอนิค ผู้ซื้อเซมิคอนดักเตอร์จากไทยเพื่อใช้กับวิทยุและระบบควบคุมอิเลคทรอนิค
แอลลิสัน แกสเทอร์บิน ดิวิชั่นเป็นผู้จัดหาเครื่องบินเครื่องจักรพร้อมชิ้นส่วนอะไหล่ในงานอุตสาหกรรม
แม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดรถยนต์โลก โดยมีตัวเลขการขายรถยนต์และรถบรรทุกมากกว่า
7 ล้านคันในปี 2534 คิดเป็นมูลค่า 123,000 ล้านดอลลาร์แต่สำหรับตลาดรถยนต์เมืองไทยนั้นยังเป็นที่สงสัยยิ่งนักว่ายักษ์ใหญ่ตนนี้จะรุกตลาดไทยได้มากน้อยเพียงใด
สถิติการจองรถเมอร์เซเดส เบนซ์ W 201 รุ่น 190E ซึ่งเป็นรุ่นเก่าที่เพิ่งจะมีแคมเปญเมื่อกลางเดือนมกราคมชี้ให้เห็นรสนิยมวิไลของผู้มีอันจะกินในกรุงเทพมหานคร
ว่ายังปักใจชื่นชอบกับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์เหนียวแน่นเพียงไร
ยอดการจำหน่ายเมอร์เซเดสเบนซ์ของตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี 2535
นั้นสูงถึง 5,639 คัน นับเพียงสิ้นเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น
ขณะที่ RICHARD J. PAPSCOE ผู้จัดการประจำภาคพื้นเอเชียอาคเนย์บริษัทเจนเนอรัล
มอเตอร์ส โอเวอร์ซี คอร์ปอเรชั่น ซึ่งดูแลจีเอ็มไทยเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "รู้สึกประหลาดใจมากกับเหตุการณ์นี้ ในส่วนของจีเอ็มนั้น ที่ผ่านมามียอดขายโอเปิลอยู่
600 คันแต่ปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คัน ในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดหมายว่าจะทำยอดขายให้ได้
3,000-5,000 คัน"
PAPSCOE เปิดเผยด้วยว่า "จีเอ็มไทยมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งคือให้การสนับสนุนพระนครยนตรการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโอเปิลมาเป็นเวลานาน
เช่นเรื่องการประชาสัมพันธ์ การทำตลาด และการสนับสนุนโดยตรงกับโรงงานประกอบรถของพระนครฯ
รวมทั้งเรื่องการรับประกันและการให้บริการต่าง ๆ แก่ลูกค้า"
จีเอ็มไทยมีทุนจดทะเบียนไม่มากนัก ผู้ที่ลงทุนจำนวนมากคือพระนครยนตรการซึ่งทำโรงงานประกอบรถยนต์
และมีแผนการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการทั่วประเทศ ขณะที่จีเอ็มเป็นแบ็คอัพและดูเรื่องการนำเข้าชิ้นส่วนให้โรงงานของพระนครฯ
เท่านั้น
เป็นวิธีการลงทุนที่ปลอดภัยพอสมควรเมื่อเทียบกับยอดการจำหน่ายระดับร้อย
PAPSCOE ยอมรับว่า "การลงทุนของจีเอ็มในไทยไม่ได้มีจำนวนมากมายอะไร
หากจีเอ็มเข้ามาลงทุนโดยตรงนั้น เราต้องใช้เวลาและเราอาจจะยังไม่ถึงจุดที่เรายืนอยู่ในเวลานี้
ขณะที่พระนครฯ ทำไว้ดีอยู่แล้ว"
อย่างไรก็ดี PAPSCOE ยอมรับว่าตลาดรถยนต์ไทยมีการแข่งขันสูงมาก เขาเห็นว่าการโปรโมทเบนซ์
190 E เป็นรายการที่น่าสนใจ ซึ่งเขาก็มีรายการโปรโมทกับรถโฮลเด้นเช่นกัน
อย่างเช่นผู้ซื้อรถโฮลเด้นจะได้เดินทางไปออสเตรเลียหรือการซื้อรถโอเปิล คาเดทรุ่น
GSI แบบไม่มีดอกเบี้ย
หากพระนครฯ สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายโอเปิลหรือโฮลเด้นได้ถึงระดับ 4,000 คันอย่างที่กล่าวแล้ว
ถึงเวลานั้น PAPSCOE เปิดเผยว่าจีเอ็มจะพิจารณาเรื่องการเพิ่มการลงทุนมากกว่านี้ในไทย
"ผมยอมรับว่าส่วนแบ่งการตลาดของเราในเวลานี้ยังน้อยอยู่มาก แต่พระนครฯก็พยายามรุกอย่างหนัก
และเราก็จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่" PAPSCOE กล่าว