ชื่อของสยามกลการในอดีตที่ผ่านมาเพิ่งมีอายุการก่อตั้ง ครบ 40 ปีเมื่อปีก่อนดูจะเป็นบริษัทรถยนต์เกรดรอง
เมื่อเทียบกับบริษัทผู้ค้ารถยนต์รายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้าหรือ ฮอนด้าที่เป็นค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นด้วยกัน
แต่สำหรับนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นแล้ว ชื่อของสยามกลการ เป็นที่ยอมรับมากสำหรับผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้
"คุณถาวร (พรประภา-ผู้ก่อตั้งสยามกลการ) เป็นคนแรกที่นำรถยนต์นิสสันออกขายในต่างประเทศ
และค่อนข้างจะเป็นที่พอใจของผู้บริหารนิสสันแห่งญี่ปุ่นมาก" คนเก่าแก่ในวงการรถยนต์บอกกับ
"ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลแห่งการยอมรับของญี่ปุ่นต่อสยามกลการ
ที่ผ่านมาสยามกลการ ในสายตาของบุคคลภายนอก ไม่ได้เป็นกลุ่มบริษัทที่ประสบผลสำเร็จมากนัก
โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีหลัง นับตั้งแต่ค่าของเงินเยนสูงขึ้นจนส่งผลให้ผลการประกอบการของสยามกลการตกต่ำที่สุดในรอบหลาย
ๆ ปี จนต้องมีการทาบทามคนนอกมานั่งบริหารเป็นครั้งแรกของบริษัทคือ นุกูล
ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ท่ามกลางข่าวว่าเป็นข้อเสนอของเจ้าหนี้อย่างธนาคารกรุงเทพที่ส่งผู้บริหารระดับสูงคือ
ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย มาร่วมเป็นกรรมการด้วย
การมานั่งบริหารสยามกลการของอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติคนนี้ นับว่าสร้างความสำเร็จให้กับสยามกลการในระดับหนึ่ง
เพราะสามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ด้านการเงินของสยามกลการได้สำเร็จภายในเวลาเพียงสองปี
แต่สยามกลการต้องเป็นของคนในตระกูล "พรประภา" ดังนั้นในที่สุดนุกูลก็ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานเพื่อหลีกทางให้คุณหญิงพรทิพย์
ณรงค์เดชบุตรสาวของถาวร พรประภา ผู้ก่อตั้งบริษัทขึ้นรับตำแหน่งแทน
การขึ้นรับตำแหน่งประธานของคุณหญิงพรทิพย์ ในปีที่สยามกลการกำลังจะครบ
40 ปี ดูจะเป็นการเปิดยุคใหม่ของ สยามกลการ นั่นคือ การเปิดตลาดต่างประเทศ
"คุณหญิงพรทิพย์ เป็นกงสุลของเม็กซิโกประจำประเทศไทย เธอจึงมองเห็นลู่ทางในการบุกตลาดต่างประเทศด้วยการที่จะใช้ไทย
เป็นฐานในการผลิตชิ้นส่วนจากโรงงานนิสสันในไทยไปขายในเม็กซิโกในระยะแรก"
แหล่งข่าวในวงการรถยนต์กล่าวถึงนโยบายแรกของคุณหญิงพรทิพย์
แต่เรื่องที่เป็นนโยบายหลักในการบุกนอกของสยามกลการก็คือ ตลาดอินโดจีนและตลาดอาเซียน
!!!
ตลาดอินโดจีนนั้นหลาย ๆ ประเทศก็ให้ความสนใจมาก เนื่องจากศักยภาพของตลาดค่อนข้างสูงมาก
ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาหรือเวียนดนาม และประเทศไทยเองภายหลังจากที่พลเอกชาติชาย
ชุณหะวัฒ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า ความหวังของไทยก็คือการเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้
ที่สยามกลการเองก็หวังเช่นกัน
แต่ความหวังของสยามกลการ ดูจะตรงกับความหวังของนิสสันมอเตอร์ประเทศญี่ปุ่นที่เล็งตลาดอินโดจีนเช่นกันถึงกับมีการออกข่าวว่า
นิสสันมอเตอร์เตรียมที่จะบุกตลาดอินโดจีนในเวลาอันใกล้นี้
พรพินิจ พรประภา รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสสยามกลการ ผู้ดูแลเรื่องตลาดดูจะร้อนใจในเรื่องนี้มาก
หลังจากที่เดินทางไปดูตลาดในอินโดจีนว่ามีแนวโน้มดีแค่ไหน เขาก็ตรงไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อเจรจากับนิสสันมอเตอร์
ว่าตลาดอินโดจีน น่าจะเป็นของสยามกลการไม่ใช่ของนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่น
ซึ่งในที่สุด ความหวังของสยามกลการก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นยินดีที่จะหลีกทางให้สยามกลการทำตลาดจุดนี้
และพรพินิจ ก็หวังว่าเขาคงจะทำสำเร็จตามเป้าที่วางไว้
พรพินิจกล่าวว่า โครงการที่สยามกลการจะผลิตรถยนต์เพื่อส่งไปขายในเวียดนามหรือในตลาดอินโดจีนนี้
กำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมการ ภายใต้แผนงานชื่อ "เอ็นวี" ที่จะเน้นการผลิตรถยนต์นั่งขนาดกลาง
1600 ซีซี "ความคืบหน้าของโครงการประมาณ 80% แล้ว"
รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสสยามกลการให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า โครงการเอ็นวีนี้
ได้รับการสนับสนุนจากนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นเป็นอย่างดี โดยการให้มีการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนระหว่างเครือข่ายของนิสสันใน
4 ประเทศคือ มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์และประเทศไทยเพื่อส่งขายในกลุ่มประเทศอาเซียนและอินโดจีน
โดยการผลิตของโรงงานสยามกลการนี้จะใช้วัตถุดิบในไทยประมาณ 80% ที่เหลือจะเลือกจากประเทศทั้งสามตามแผนของนิสสันมอเตอร์
แผนการผลิตรถยนต์ดังกล่าวนี้ทางนิสสันมอเตอร์แห่งประเทศญี่ปุ่นประกาศว่า
จะเริ่มที่ประเทศไทยจำนวนปีละ 18,000 คันจากนั้นก็เป็นที่ไต้หวันผลิตปีละ
11,000 แล้วก็เป็นที่มาเลเซียในประมาณปีนี้ประมาณปีละ 3,500 คัน จนถึงปี
2537 ก็จะเริ่มทำการผลิตที่ฟิลิปินส์ประมาณปีละ 2,500 คันเป็นประเทศสุดท้ายของแผนงานที่เน้นในเรื่องการลดปัญหาของแผนงาน
ที่เน้นในเรื่องการลดปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตในประเทศญี่ปุ่นที่สูงมาก
"การทำงานในครั้งนี้ ได้รับการประสานงานอย่างดีจากนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่นที่ให้วิศวกรเดินทางในประเทศอาเซียนหลายประเทศ
และตัดสินใจเลือกประเทศเราก่อนที่อื่น" พรพินิจกล่าวและย้ำว่า โครงการดังกล่าวนี้ก็คือโครงการ
"รถยนต์แห่งชาติ" ของสยามกลการที่คุณหญิงพรทิพย์เคยกล่าวว่า ในอนาคตอีก
5 ปีข้างหน้า สยามกลการจะกลายเป็นฐานการผลิตของนิสสันในการส่งออก ไม่ใช่เป็นแค่โรงงานประกอบอย่างทุกวันนี้
พรพินิจกล่าวยืนยันว่า หากการผลิตสามารถที่จะทำได้ในปริมาณที่น่าพอใจในอนาคตนั้น
โครงการผลิตรถยนต์ภายใต้รหัสเอ็นวี ก็อาจจะถึงขั้นการส่งกลับไปขายในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นไปได้
เพราะเป้าตรงนั้น คือเป้าที่สยามกลการหวังว่าจะเป็นตลาดใหญ่ของนิสสันจากโรงงานสยามนิสสันออโตโมบิลที่บางนา-ตราด
กม. 21 ในยุคที่ตลาดรถยนต์ในประเทศเอง มีการแข่งขันที่รุนแรงมากจากค่ายรถยนต์ทุกค่าย
ทุกประเทศ
หากทุกอย่างสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ บทบาทของสยามกลการก็จะเป็นแขนขาสำคัญของนิสสันมอเตอร์ในอินโดจีนอย่างแน่นอน
และเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสยามกลการที่เขียนร่วมกับนิสสันมอเตอร์หลังจากที่ถาวร
พรประภา เคยเขียนบทแรกเมื่อ 40 ปีก่อนไว้แล้ว