เอ็มดีIBMออกฟ้าแลบ ย้ายเสริมทัพสายเลือดใหม่ยักษ์สื่อสารทีเอ


ผู้จัดการรายวัน(26 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์" กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ไอบีเอ็มประกาศลาออกแบบสายฟ้าแลบ ย้ายเสริมทัพยักษ์ใหญ่เทเลคอมเอเซีย หลังต้องการสายเลือดใหม่ ช่วยบริหารผลักดันธุรกิจ มุ่งสู่การเป็น Multimedia Access Solution Provider ด้านไอบีเอ็มแต่งตั้ง "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด คนใหม่แทนเชื่อประ สบการณ์กว่า 14 ปี ในบริษัท สามารถสานต่อธุรกิจไอบี เอ็มในไทยได้

วานนี้ (25 มีนาคม) ไอบีเอ็ม ประกาศแต่งตั้งนางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด คนใหม่แทนนายทรงธรรม เพียรพัฒนาวิทย์ซึ่งลาออกจากบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 นี้ ซึ่งนายทรงธรรม เริ่มงานกับบริษัทไอบีเอ็มตั้งแต่ปี 2527 ในตำแหน่งวิศวกรระบบ และได้ผ่านการดูแลงานด้านต่างๆ ใน ไอบีเอ็ม ไม่ว่าจะเป็นการตลาด เซอร์วิส และการเงิน จนกระทั่งเป็นกรรมการผู้จัดการในปี 2544

นายซาทิส คาตู ผู้จัดการทั่วไป ไอบีเอ็มภูมิภาค อาเซียนและเอเชียใต้ กล่าวว่า นางศุภจี เป็นนักบริหาร ที่มีผลงานโดดเด่นมากคนหนึ่งในไอบีเอ็ม เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มอบหมายภารกิจให้ดำรงตำแหน่ง เป็นผู้นำองค์กรไอบีเอ็มในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากจะมีผลประกอบการดีเยี่ยม สามารถสร้างรายได้และขยายธุรกิจในทุกสายงานให้เติบโตขึ้นอย่างน่าพอใจแล้ว ยังได้รับการยอมรับให้เป็นองค์กร ไอทีชั้นนำของประเทศด้วย

นางศุภจี ร่วมงานกับไอบีเอ็มมา 14 ปี มีประสบการณ์ด้านบริหารสายธุรกิจที่หลากหลาย ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มทั้งในประเทศและภูมิภาคหลายตำแหน่ง เช่น ผู้จัดการฝ่ายการเงิน วางแผน และธุรการ ไอบีเอ็ม ประเทศไทยผู้จัดการ ฝ่ายผู้แทนจำหน่ายและพัฒนาคู่ค้าไอบีเอ็มภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ ตำแหน่งล่าสุด คือ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการธุรกิจบริการ

แหล่งข่าวภายในบริษัทไอบีเอ็ม กล่าวว่าในช่วงปีที่ผ่านมานางศุภจี มีผลงานชิ้นสำคัญในสัญญา ระหว่างบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทยกับธนาคารกสิกร ไทย ซึ่งมูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท มีส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไอบีเอ็มประเทศไทย โดยมีทั้งประสบการณ์การทำงานมาก มายและยังมีผลงานที่ชัดเจนด้วย

สำหรับการลาออกของนายทรงธรรมในครั้งนี้ แหล่งข่าว กล่าวว่าไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่านายทรงธรรมจะจากไอบีเอ็มในช่วงเวลานี้ และก่อนหน้านี้ก็ไม่มีกระแสข่าวว่าจะทิ้งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ เนื่องจากผลการดำเนินงานของไอบีเอ็มประเทศไทยในช่วงปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเติบโตขึ้นในทุกสายผลิตภัณฑ์และบริการ โดยเป็นอันดับหนึ่งในหลายตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดสตอเรจที่แซงหน้าบริษัทอีเอ็มซี ด้านอี-บิสซิเนสและอินเทอร์เน็ต ผลิต ภัณฑ์อินเทอร์เน็ตอินฟราสตรักเจอร์ซอฟต์แวร์เป็นอันดับที่หนึ่งเช่นกัน

ด้านตลาดคอมพิวเตอร์พีซีและโน้ตบุ๊กสามารถ เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างเอชพีได้ หลังจากไอบีเอ็มมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องการบริการ เสริมช่องทางการ จัดจำหน่ายและปรับเปลี่ยนเรื่องราคา ทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาด

นอกจากนี้ตลาดเซิร์ฟเวอร์เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ไอบีเอ็มประเทศไทยสามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับหนึ่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด 36.8% เหนือคู่แข่งขันทั้งซันไมโครซิสเต็มส์และเอชพี และในตลาดบริการหรือเซอร์วิสก็มีอัตราการเติบโตขึ้นจนเป็นรายได้ใหญ่ที่สำคัญของไอบีเอ็มในปัจจุบัน เนื่อง จากการได้โปรเจ็กต์ใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทยและไทยทนุ

แหล่งข่าวยืนยันว่านายทรงธรรมจะย้ายไปร่วม งานกับบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายสำหรับ ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ต้องการแสวงหาความสำเร็จในอาชีพการงาน

การย้ายไปร่วมงานกับทีเอของนายทรงธรรม สอดคล้องกับนโยบายที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีเอ ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าทีเอต้องการเลือดใหม่ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันธุรกิจไปสู่แนวทางใหม่ เนื่องจากผู้บริหารในทีเอส่วนใหญ่เป็นผู้ที่โตจากสายวิศวกรรม ทำให้เรื่องการบริหารจัดการธุรกิจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงที่เน้นการผนวกแอปพลิเคชั่นและบริการเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดศักยภาพทางธุรกิจมากที่สุด

ในส่วนตัวของนายศุภชัยเชื่อว่าตลาดโทรคมนาคมในปัจจุบันแม้ว่ากิจการด้านไร้สายโดยเฉพาะ โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความสำคัญมากกว่ากิจการแบบมีสายหรือโทรศัพท์พื้นฐาน แต่ในระยะยาวแล้ว เชื่อว่ากิจการแบบมีสายจะกลับมามีความสำคัญมากกว่า เพราะสามารถเป็นสื่อในการส้งข้อมูลได้มากกว่า

นอกจากนี้นายศุภชัยยังตอกย้ำภาพทิศทางการทำธุรกิจของกลุ่มทีเอที่ต้องการมุ่งไปสู่การเป็น Multimedia Access Solution Provider โดยมองถึงการให้บริการที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ในเชิงเพิ่มมูลค่าให้องค์กรและการใช้งานของผู้บริโภค ผ่านการเชื่อมต่อทั้งมีสายและไร้สายไม่ว่าจะเป็น ADSL หรือบริการโทรศัพท์มือถือของทีเอออเร้นจ์

และเมื่อมองถึงแผนธุรกิจในปีหน้าของทีเอที่เตรียมใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทในธุรกิจหลายๆด้านอาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ธุรกิจด้านการสื่อสารข้อมูล ธุรกิจด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ส่วนโทรศัพท์พื้นฐาน จะลงทุนในด้าน บริการเสริมคือการแสดงเบอร์โทร.เรียกเข้า ยิ่งสอด คล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของทีเอในการดึงผู้บริหารรุ่นใหม่เข้าสู่องค์กร

ทั้งนี้ทิศทางธุรกิจของทีเอที่ยึดหลัก Access Solution โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นโฮมโซลูชั่นและออฟฟิศโซลูชั่นนั้น ต้องอาศัยผู้บริหารที่มีประสบ การณ์ โดยเฉพาะที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการบริหารและความรู้ทางด้านไอที เข้ามาช่วยผนวกสร้าง การทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญการให้บริการโซลูชั่นดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการให้บริการ ในลักษณะวันสต็อปเซอร์วิส เพียงจุดเดียวสามารถให้บริการได้ครบวงจร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการออนไลน์ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย รวมทั้งในเรื่องเนื้อหาสาระ หรือคอนเทนต์ต่างๆที่จำเป็นต้องมีการรวบรวมเพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งนายทรงธรรมถือเป็นบุคคลที่ตรงตามจุดประสงค์ของทีเอ

ปัจจุบันรายได้หลักของกลุ่มทีเอยังมาจากโทรศัพท์พื้นฐาน ส่วนรายได้จากการสื่อสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ต รวมกันประมาณเกือบ 20% แต่ในอนาคตรายได้ในลักษณะนอนวอยซ์จะเพิ่มมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.