CPFไตรมาส1ขาดทุน1.1พันล.อ้างเหตุต้นทุนพุ่งเงินบาทแข็ง


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

CPFไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุน 1,135 ล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศซบเซา ราคาขายสินค้าต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับเพิ่ม รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ส่วนต่างค่าเงินต่ำลง มั่นใจไตรมาส 2 ดีขึ้นแน่ เหตุผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศจะให้ผลตอบแทนที่ดีสู่บริษัทแม่ ขณะที่ราคาหุ้น CPF วานนี้ลดลง 0.43%

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ CPF (งบรวม)ไตรมาสแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ 1,135.51 ล้านบาท ขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 549.64 ล้านบาท ส่งผลให้จากเดิมที่มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 8 สตางค์เป็นขาดทุนต่อหุ้น 16 สตางค์ แม้ไตรมาสนี้จะมียอดขายรวม 29,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 6% โดยกิจการที่ไปลงทุนในต่างประเทศเติบโตตามเป้าหมาย ซึ่งยอดขายในไตรมาสนี้ เป็นรายได้จากกิจการในประเทศไทย 69 % รายได้จากการส่งออก 17 % และรายได้จากกิจการในประเทศอื่น ๆ 14%

โดยผลกระทบจากภาวะสินค้าล้นตลาดและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ราคาสินค้าเนื้อสัตว์ที่ขายในประเทศไทย โดยเฉพาะสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ประกอบกับข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ มีการปรับตัวของราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแข็งค่าขึ้นผลจากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ CPFได้เปลี่ยนนโยบายการบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย กิจการที่มีอำนาจควบคุมร่วม หรือบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการ จากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุน ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีฉบับวันที่ 26/2549 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่มีผลกระทบต่องบการเงินรวมของกลุ่มบริษัท แต่มีผลกระทบต่องบการเงินเฉพาะกิจการ

ทำให้กำไรสุทธิที่รายงานในงบการเงินเฉพาะกิจการมีจำนวนแตกต่างจากกำไรสุทธิที่รายงานไว้ในงบการเงินรวมของกลุ่มบริษัท โดยยอดแตกต่างที่มีสาระสำคัญคือ การบันทึกเงินปันผลรับจากบริษัทย่อยที่จัดสรรมาจากกำไรสะสมของบริษัทย่อยในงบเฉพาะกิจการของบริษัท มีผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของงบเฉพาะกิจการภายหลังการปรับนโยบายบัญชี ไม่แตกต่างจากก่อนการปรับมากนัก

“ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบกับภาวะราคาข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อการเลี้ยงสัตว์ที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์ในประเทศต่างๆ ก็ประสบกับความท้าทายเช่นเดียวกับประเทศไทย ทุกคนต้องมีการปรับตัว โดยกลุยทธ์หลักของ CPF นั้น ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องในการสร้างตราสินค้าและความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) พร้อมออกสินค้าอาหารพร้อมรับประทานที่มีรสชาดดีหลากหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการขยายจุดจำหน่ายเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น

สำหรับกิจการที่ CPF ไปลงทุนในต่างประเทศได้ส่งผลตอบแทนกลับมาตามเป้าที่เราตั้งไว้ โดยเฉพาะธุรกิจสัตว์น้ำที่เราไปลงทุนในประเทศอินเดีย มาเลเซีย และจีน สำหรับประเทศตุรกีก็มีการพลิกกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด ปีนี้ตุรกีน่าจะส่งผลกำไรดีกว่าปีที่ผ่านมามากพอสมควร จึงคาดการณ์ว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป” นายอดิเรก กล่าว

สำหรับราคาหุ้น CPF วานนี้พบว่าเปิดตลาดที่ 4.62 บาทและราคาค่อย ๆ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.58 บ่ายโดยเฉพาะช่วงบ่ายที่ประกาศผลการดำเนินงานออกมาพบว่าราคาหุ้นลดลงมาอยู่ที่ 4.52 บาท ก่อนปิดตลาดที่ 4.58 บาท ลดลง 0.02 บาท คิดเป็น 0.43% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 43.85 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.