บอร์ดสั่งการบินไทยทำแผนวิสาหกิจใหม่


ผู้จัดการรายวัน(10 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

บอร์ดการบินไทยเบรคแผนวิสาหกิจ 5 ปี สั่งฝ่ายบริหารปรับเป็น 10 ปี อ้างปรับตามภาวะการแข่งขันธุรกิจการบินและกำลังการผลิตเครื่องบินป้อนสายการบินใช้เวลานานขึ้น “ชลิต”อ้างพบรมว.คมนาคมแจงเหตุซื้อแอร์บัส วงในเผยแผนซื้อเครื่องบิน เอ380 และ เอ 330-300 ส่อแววถูกแช่งแข็ง คมนาคมสั่งสนข.ประเมินแผนว่าเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ ขณะที่การบินไทยปรับแผนช่วง Low Season มั่นใจรักษาระดับรายได้ หลังปรับแผนการเพิ่มขีดความสามารถการใช้เครื่องบินมากขึ้น

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (9 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมยังไม่พิจารณาแผนวิสาหกิจ 5 ปี โดยให้ฝ่ายบริหารกลับไปปรับปรุงและเพิ่มระยะเวลาของแผนเป็น 10 ปี เพื่อให้ครอบคลุมกับสภาพการทำธุรกิจการบินในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ที่มีสายการบินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความต้องการเครื่องบินและนักบินเพิ่มขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตเครื่องบินลดลง เช่น เครื่องบินโบอิ้ง จะต้องใช้เวลาในการสั่งซื้อและรับมอบเครื่องบินใหม่ถึง 7 ปี ดังนั้นแผนวิสาหกิจเพียง 5 ปีอาจไม่ครอบคลุม

“สายการบินทำธุรกิจอยู่ได้ด้วยเครื่องบิน ดังนั้น ต้องมองภาพรวมของความต้องการเครื่องบินในอนาคต เครื่องบินที่ต้องปลดประจำการ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประกอบซึ่งกระทรวงคมนาคมเป็นห่วงเรื่องนี้และให้ข้อเสนอแนะมาโดยต้องการให้วางแผนครอบคลุมและใกล้เคียงความจริงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เครื่องบินแอร์บัสรุ่น A 330-300 มีความจำเป็นที่ต้องจัดหามาทดแทน และต้องมีเครื่องบินเพิ่มเพื่อเข้ามาใช้หมุนเวียน รวมถึงเครื่องบิน เอ 380 ซึ่งได้เข้าพบ รมว.คมนาคมในช่วงเช้าเพื่อแจ้งให้ทราบแล้วซึ่งเชื่อว่า รมว.คมนาคมจะเร่งพิจารณาเพราะหากล่าช้าจะเกิดความเสียหายกับบริษัท เพราะการยืนยันคำสั่งซื้อมีระเวลากำหนด ส่วนเรื่องราคาที่ระบุว่าสูงกว่าราคาตลาดนั้น ปัญหานี้ผมไม่มีคำตอบเพราะเป็นคำถามลอยๆ ซึ่งในการพิจารณาของบอร์ดได้ดูราคาตลาดประกอบอยู่แล้ว”พลอากาศเอกชลิตกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การทำแผนวิสาหกิจและการซื้อเครื่องบินนั้นจะต้องมองในระยะยาว ดังนั้นการกำหนดแผนเพียง 5 ปีไม่เพียงพออยู่แล้ว ซึ่งการบินไทยส่งแผนวิสาหกิจ 5 ปี และข้อเสนอการเครื่องบินเอ 330-300 และ เอ 380 มากระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งรมว.คมนาคมได้ทำหนังสือถึงสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นคือ ร่างแผนวิสาหกิจ 5 ปี ของการบินไทยสอดคล้องกับนโยบายที่รมว.คมนาคมให้กับบอร์ดการบินไทยเมื่อวันที่ 26 ม.ค.2550 หรือไม่ และมีจุดใดบ้างที่น่าจะมีอุปสรรคในการแปลงแผนไปสู่การปฎิบัติ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เห็นว่าสำคัญ และควรจัดลำดับความสำคัญอย่างไรบ้าง เป็นต้น

“แผนที่การบินไทยเสนอมา ถือว่ายังไม่ละเอียดพอที่จะอธิบายเหตุผลความจำเป็นในการจัดซื้อเครื่องบินที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้นการเสนอครม.จะต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ โดยข้อเท็จจริงขณะนี้คือ การบินไทยมีกำไรในเส้นทางใกล้และกลาง ส่วนระยะไกลขาดทุนขณะที่มีแผนซื้อเครื่องบิน เอ 380 อีก 6 ลำเพื่อบินในเส้นทางไกล เช่น เส้นทางนิวยอร์ค ขาดทุน แต่จะแก้ขาดทุนด้วยการลดราคาตั๋วและเพิ่มเที่ยวบิน ส่วนการซื้อเครื่องบินควรเป็นเครื่องบินที่เหมาะกับการใช้ในอีก 2 -5 ปีข้างหน้าไม่ใช่เหมาะกับเมื่อ 5 ปีก่อน”แหล่งข่าวกล่าว

พลอากาศเอกชลิตกล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทในรอบ 6 เดือนของปี 2550 (1 ต.ค.2549 – 31 มี.ค. 2550) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 8,259 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 1,755 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 17.5 โดยมีกำไรต่อหุ้น 4.86 บาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งมีกำไรต่อหุ้น 5.89 บาท ถือว่า รายได้เป็นที่น่าพอใจโดยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2549 แต่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งเป็นช่วง Low Season ธุรกิจการบินแข่งขันสูง แนวโน้มรายได้จะลดลง ดังนั้นบอร์ดจึงให้ฝ่ายบริหารพิจารณาแผนการใช้เครื่องบิน ปรับเปลี่ยนประเภทเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางการบิน จัดตารางการบินโดยคำนึงถึงจุดบินในแต่ละจุดเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของการใช้เครื่องบินซึ่งปัจจุบันมีเครื่องบินในฝูงบิน 84 ลำ จากที่8 เดือนก่อนหน้านี้มี 86 ลำเนื่องจากปลดระวางเครื่องบินอายุเกิน 20 ปี และให้ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นโดยไม่กระทบการบริการผู้โดยสาร และปรับปรุงคุณภาพการบริการเพื่อดึงดูดผู้ใช้ให้มากขึ้น

โดยในไตรมาส 2 ปี (1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2550) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 49,597 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.6 และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวม 43,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.1 ทำให้มีกำไรจากการขายและการให้บริการ 6,177 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 592 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีกำไรก่อนภาษีเงินได้ 6,084 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,747 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการปรับยอดเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ คงเหลือ ณ วันสิ้นงวดเป็นเงินบาทสูงกว่าปีปัจจุบัน เป็นผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 4,233 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,972 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 31.8 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 2.49 บาท สูงกว่าไตรมาสแรกซึ่งมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2.37 บาท แต่ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 3.65 บาท

นอกจากนี้ บอร์ดมีมติให้จ้างพนักงานฝ่ายปฎิบัติการ ที่กรุงเทพ และภูเก็ต จำนวน 464 คน ระยะเวลา 4 ปี เงินเดือน 12,480 บาทต่อคนเพื่อแก้ปัญหาการเช็คอินและการบริการลูกค้า และอนุมัติให้จัดหาเงินทุนในวงเงิน 17,000 ล้านบาท โดยระยะเวลาในการกู้ ต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้เงินของบริษัทฯ คือการกู้เงินเยน (YEN) จากสถาบันการเงิน ครั้งเดียว หรือมากกว่า 1 ครั้ง (ประมาณ 3,000 – 6,000 ล้านบาท) การออกหุ้นกู้เงินบาทภายในประเทศ ครั้งเดียว หรือ มากกว่า 1 ครั้ง และ/หรือ การกู้เงินบาทจากสถาบันการเงินในประเทศ 1 สถาบัน หรือมากกว่า 1 สถาบัน วงเงินรวม 11,000 – 14,000 ล้านบาท กรณีมีความจำเป็น เช่น บริษัทฯ ไม่สามารถจัดหาเงินทุนได้ตามกำหนด ให้บริษัทฯ กู้เงินระยะสั้นต่อจากกระทรวงการคลังในรูป Euro Commercial Paper (ECP) ก่อนการหาเงินกู้ระยะยาวมาทดแทนต่อไปทั้งนี้ การจัดหาเงินทุนดังกล่าว เมื่อได้สถาบันการเงินแล้ว ต้องเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาต่อไป

ด้านเรืออากาศโทอภินันท์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยกล่าวว่า คาดว่าจะใช่เวลาประมาณ 1-2 เดือนในการปรับแผนวิสาหกิจจาก 5 ปีเป็น 10 ปี ส่วนกลยุทธ์ช่วง Low Season (พ.ค.-ก.ค.) จะต้องรณรงค์แคมเปญเพื่อเพิ่มยอดการขายการบริหารเที่ยวบินเพื่อลดต้นทุน เช่นการจัดการใช้เครื่องบินให้เหมาะสมกับเที่ยวบินและจุดบินทั้งนี้การที่มีเครื่องบินลดลงเหลือ 82 ลำ ไม่ได้ทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากการปรับปรุงการใช้ประโยชน์เครื่องบิน(Utilize) ที่มีประสิทธิภาพทำให้สามารถรักษาระดับรายได้ไว้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.