นอนแบงก์สบช่องเศรษฐกิจซบ ขยายสาขาชิงยอดรูดบัตรภาคครัวเรือน


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

สาขานอนแบงก์โตสวนเศรษฐกิจ ธปท.เผยไตรมาสแรก ปี 50 เพิ่มขึ้น 83 สาขาเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาของบริษัทเซทเทแลมยอดนำโด่งถึง 61 สาขา ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เหตุเศรษฐกิจทรุด จับตาภาคครัวเรือนยอดรูดพุ่งปรื๊ด

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แจ้งว่า ธปท.ได้รายงานจำนวนสำนักงานของบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2550 พบว่า มีจำนวนสำนักงานสาขาทั้งสิ้น 515 สาขาเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่มี 432 สาขา หรือเพิ่มขึ้น 83 สาขา โดยแบ่งเป็นสำนักงานสาขาที่อยู่ในกรุงเทพฯ 215 สาขา ภาคกลาง 154 สาขา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 53 สาขา ภาคเหนือ 48 สาขา และภาคใต้ 45 สาขา

โดยในส่วนของ บริษัท บัตรกรุงไทย มีทั้งสิ้น 39 สาขา บริษัทเซทเทเลม (ประเทศไทย) มี 203 สาขา เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) 8 สาขา ไดเนอร์คลับ (ประเทศไทย) 7 สาขา อเมริกันเอ็กซ์เพรส (ไทย) 1 สาขา บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา 30 สาขา บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์(ไทยแลนด์) 80 สาขา บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส 51 สาขา บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิส 72 สาขา บริษัท จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) 11 สาขา และแคปปิตอล โอเค 13 สาขา แต่ในส่วนของบริษัท อีซี่ บาย ยังไม่ได้ประกอบธุรกรรมบัตรเครดิต ธปท.จึงไม่ได้ใส่จำนวนสาขาเหมือนกับบริษัทอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนสาขาของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อน คือของบริษัท เซทเทเลม (ประเทศไทย)มีสาขาเพิ่มขึ้นมากถึง 61 สาขา ขณะที่จำนวนสาขาของบริษัทอื่นๆ เพิ่มขึ้นไม่มากนัก

สำหรับการให้บริการบัตรเครดิตของบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ณ สิ้นเดือนก.พ. 2550 มีจำนวนบัตรเครดิต 5,392,329 บัตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 19,588 บัตร มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 77,721.27 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 928.4 ล้านบาท หรือลดลง 1.18%

ทั้งนี้ ธปท.ระบุว่าสินเชื่อบัตรเครดิตแม้ว่าจะยังขยายตัวในเกณฑ์สูงแต่ก็มีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ นอกจากนี้สัดส่วนยอดคงค้างของสินเชื่อต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมการก่อหนี้เทียบกับการใช้จ่ายเริ่มมีแนวโน้มลดลง แสดงให้เห็นถึงการปรับพฤติกรรมของภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนยิ่งชะลอตัว

โดยล่าสุดธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างบัตรเครดิตล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.พ.50 พบว่า มีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 11,006,451 บัตร หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3,644 บัตร และมียอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 116,740 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 2,036 ล้านบาท หรือลดลง 1.21%ของสินเชื่อรวม โดยยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทุกประเภทลดลง โดยเดือนนี้ธนาคารพาณิชย์จำนวน 55,259 ล้านบาท หรือลดลง 1,090 ล้านบาท หรือลดลง 1.93%สาขาธนาคารต่างประเทศ 33,759 ล้านบาท หรือลดลง 18 ล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) จำนวน 77,721 ล้านบาท หรือลดลง 928 ล้านบาท หรือลดลง 1.18%ของสินเชื่อรวม

ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมของสถาบันการเงินทุกประเภทลดลง โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงถึง 9,664 ล้านบาท หรือลดลง 13.04% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้จ่ายอยู่ที่ 64,432 ล้านบาท แบ่งเป็นปริมาณการใช้จ่ายในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในเดือนนี้มีอยู่ 37,851 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 6,844 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.31% สาขาธนาคารต่างประเทศ 7,919 ล้านบาท หรือลดลง 722 ล้านบาท คิดเป็น 8.36% และนอนแบงก์ 18,662 ล้านบาท หรือลดลง 2,097 ล้านบาท คิดเป็น 10.10%

และการเบิกเงินสดล่วงหน้าของสถาบันการเงินทุกประเภทก็ลดลงเช่นกัน โดยแบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์ 12,478 ล้านบาท ลดลง 1,513 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 909 ล้านบาท ลดลง 44 ล้านบาท และนอนแบงก์ 3,421 ล้านบาท ลดลง 272 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศแบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์จำนวน 677 ล้านบาท ลดลง 153 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 402 ล้านบาท ลดลง 62 ล้านบาท และนอนแบงก์ 796 ล้านบาท ลดลง 82 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.