ชำแหละ‘ภาษีชินคอร์ป’ คาด"แม้ว"เจอหนักคุก 15 ปี


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ชำแหละภาษีชินคอร์ป "แก้วสรร อติโพธิ" ชี้ "ทักษิณ" คอพาดเขียง ปิดตำนานซุกหุ้นภาคพิสดาร โทษจำคุกถึง 15 ปี แถมยังจูงมือลูก 2 คนเข้าตารางด้วย ขณะที่นักวิชาการฟันธง "โอ๊ค-เอม" ทำนิติกรรมอำพราง เพื่อเลี่ยงภาษี

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มีการจัดรายการราชดำเนินเสวนา ว่าด้วยเรื่อง "ภาษีชินคอร์ป" โดยมี นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนาย สุเทพ พงศ์พิทักษ์ อนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น ร่วมเสวนา

นายแก้วสรร กล่าวว่า คตส. ถือว่ามีหลายบทบาทในสังคม โดยสังคมต้องการให้คตส.เป็นนักมวยมีคู่ชกคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วนสังคมก็เป็นคนดู เป็นคนพากษ์มวย ทุกคนให้ความสนใจกับคตส.เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำอะไร แม้กระทั่งการจะออกระเบียบค่าใช้จ่ายเพื่อต่อสู่คดี

นอกจากนี้ คตส. ก็มีบทบาทเป็นอัยการที่ต้องพิสูจน์ความผิดของคนผิด ทำหน้าที่เหมือนอัยการที่รัฐชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการกับอาชญากรให้ได้ เป็นอัยการที่มีสปิริต ซึ่งงาน คตส.ก็เหมือนกันต้องเอาหาหลักฐานเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้

"แม้เราจะเห็นว่า ทักษิณ สุริยะ หรือ วัฒนา ผิด แต่ก็ตัดสินไม่ได้ เรามีหน้าที่ต้องพิสูจน์ หากหลักฐานไปไม่ถึง ก็ไม่ทำ แม้กลุ่มพันธมิตรฯ จะมาเป่าก้นอย่างไรก็ไม่ทำ ต้องไปว่ากันในศาล ทำให้กฎหมายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ให้ คตส. หรือคนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นบทบาท คตส.มีแบบนี้ ผู้ต้องสงสัยไม่ต้องท้ารบว่าเราเป็นศาลเตี้ย เรากำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ คุณไปเตรียมตัว ไปสู้กันในศาล อัยการไม่ได้มีสิทธิ์ไปทะเลาะกับผู้ต้องหาอยู่แล้ว ดังนั้นใครจะฟ้องอย่างไร เราก็จะไม่ไปทะเลาะกับเขา ซึ่งบทบาทตรงนี้ยังไม่เห็นกันเลย นอกจากนี้ คตส. ก็มีบทบาทด้านวิชาการ แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นความพยายามของรัฐบาล หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก คตส. มีหน้าที่ผ่านมาก็ผ่านไป แต่การที่บ้านเมืองมีรู ตะกวดวิ่งเอาไก่ไปกินได้ทุกวันทุกคืน ทำไมไม่ทำการอุดช่องโหว่ตรงนี้" นายแก้วสรร กล่าว

ส่วนเรื่องหุ้นชินคอร์ปนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ที่ครอบครัวชินวัตร กระจายหุ้นเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 ได้มีการกระจายออกไป โดยมี 2 ส่วนหลัก คือถือครองโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว และถือครองโดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จากนั้นก็ได้มีการกระจายหุ้นออกไปยังพี่ชาย น้องสาว และลูกชาย หรือคนรับใช้ของคุณหญิงพจมาน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคดีซุกหุ้น ภาค 1 เพราะมีการปกปิดไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่เมื่อเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับชัยชนะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองเฉพาะเรื่องไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้รับรองว่า คดีดังกล่าวผิดหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้ว ป.ป.ช. ควรดำเนินคดีทางอาญาต่อ แต่ก็กลับไม่ทำ และผ่านคดีซุกหุ้นไปเลย

จนที่สุด คตส.ได้เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้เมื่อปี 2549 และเข้าไปตรวจสอบคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2540 ปรากฏว่า จากคำให้การพบว่า คุณหญิงพจมาน ได้ขายหุ้นชินฯให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม โดยไม่มีการเสียภาษี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการโอนให้โดยเสน่ห์หา เพราะเงินที่จ่ายนั้นเป็นเงินในบัญชีของคุณหญิงพจมานเอง ดังนั้น แบบนี้ไม่ใช่การขายแต่เป็นการให้

"ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 ออกมาโดยระบุว่า ใครมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐฒนตรี และภรรยาจะคงไว้ซึ่งหุ้นในสัมปทานไม่ได้ ต้องทิ้งหุ้นให้หมด กฎหมายตัวนี้บังคับให้ครอบครัวชินวัตรต้องตัดสินใจว่า หากจะเป็นนายกฯ ก็ต้องทิ้งหุ้น แต่สิ่งที่เขาทำก็คือ การกระจายหุ้นทันที โดยหุ้นของพ.ต.ท.ทักษิณ ได้กระจายไปอยู่ที่บริษัทแอมเพิลริช ร้อยละ 11 กระจายไปที่นายพานทองแท้ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุตรชาย และน้องสาว ส่วนของคุณหญิงพจมาน ก็ได้กระจายไปสู่นายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ กระทั่งนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรสาวบรรลุนิติภาวะ จึงโอนหุ้นให้อีก แบ่งกันถือหุ้น แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เคยเกือบตายครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2544 เพราะแอมเพิลริช ได้โผล่หัวขึ้นมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้นอยู่ในบริษัทนั้นคนเดียว 100 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายก็แก้ตัวว่า ลืมแจ้ง และบอกว่าได้โอนให้ลูกชายไปแล้ว กลต.ก็พยักหน้าตาม ทั้งนี้ความจริงแม้หุ้นจะกระจายออกไป แต่อำนาจเด็ดขาดก็อยู่พ.ต.ท.ทักษิณ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การซุกหุ้น ภาค 2 หากหาหลักฐานได้ว่าไม่ได้มีการทิ้งหุ้นก่อนที่จะมาเป็นนายกฯ คำตอบก็ถือ จำคุก 15 ปี ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะโดนกี่กระทง เพราะขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายครั้ง อย่างน้อยก็เป็นนายกฯ 2 ครั้งแล้ว ความผิดก็ทบกันไปเรื่อยๆ" นายแก้วสรร กล่าว

ส่วนคดีภาษีในช่วงรวมหุ้นชินคอร์ป ขายให้เทมาเส็ก ถือว่าเป็นการซื้อขายที่แท้จริงแน่นอนในทางสำนวน แต่ก็น่าสังเกตว่า เหตุใดในปี 2544 หุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเงินทั้งหมด 2 หมื่นกว่าล้าน แต่เมื่อปี 2549 ราคาหุ้นกลับเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คิดเป็นเงินถึง 73,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 5 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งตรงนี้เกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้พบว่า มีปัญหาในการขายหุ้นจากบริษัทแอมเพิลริช ไปยังเทมาเส็กนั้นเพราะมีการพยายามไม่ให้มีการเสียภาษี แทนที่จะทำโดยทางตรงให้บริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นให้กับบริษัทเทมาเส็ก แต่กลับใช้วิธีการลากเด็ก 2 คนเข้ามาเกี่ยวข้อง มาอยู่ตรงกลาง ให้ซื้อหุ้นแอมเพิลริชมาขายให้เทมาเส็ก ซึ่งแบบนี้มันถูกหรือไม่ที่ไม่ต้องเสียภาษี

"ผมรู้สึกทึ่งพอสมควร เพราะก่อนหน้าที่ คตส.จะเข้ามาจัดการเรื่องคดีหุ้นชินฯ ก็มีทนายความที่ดูแลครอบครัวนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ โทรมาเพื่อขอคำแนะนำในการซื้อขายหุ้นฯ ซึ่งผมก็ตอบไปว่า ช่วยอะไรไม่ได้ และให้คำแนะนำว่า อย่าใช้เด็กเข้ามาเกี่ยว เพราะมันจะเสี่ยงคุก จากนั้นมาไม่นานคดีนี้ คตส.ก็ได้มาตรวจสอบ และได้ให้เด็ก 2 คนมาให้ปากคำกับ คตส.ในการซื้อขายหุ้นที่ใด ทั้ง 2 คนก็ระบุว่า ซื้อขายหุ้นในสิงคโปร์ ซึ่งตอนที่ผมฟังก็รู้สึกโมโหว่า ไม่น่าเอาเด็ก 2 คนมาเกี่ยวข้อง เพราะพวกผู้ใหญ่รู้อยู่ว่า หากมีการซื้อขายที่ต่างประเทศจริง คดีนี้ก็จะหลุด เพราะเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และสอนให้เด็กมากล่าวอ้างความเท็จ ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าผิดจริง เด็กก็จะผิดไปด้วย ไม่น่าจะดึงเด็กมาเกี่ยวข้อง ซึ่ง คตส.ไม่ได้รังแกเด็ก 2 คนนี้ แต่ทำอย่างตรงไปตรงมา" นายแก้วสรร กล่าว

ด้านนาย สุเทพ พงศ์พิทักษ์ กล่าวว่า ในการตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทแอมเพิลริช ซึ่งเข้าตามเงื่อนไข มาตรา 76 ทวิ แห่งกฎหมายประมวลรัษฎากร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า จุดประสงค์ของการตั้งบริษัทแอมเพิลริช เป็นโฮลดิ้งคอมพานี คือ ไม่ได้ประกอบกิจการอื่นๆ ยกเว้นการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งพ.ต.ท. ทักษิณ ได้โอนหุ้นชินคอร์ป จำนวน 11.21 เปอร์เซ็นต์ ไปยังบริษัทแอมเพิลริช ในปี 2542 นับจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทแอมเพิลริชก็ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ ยกเว้นการถือหุ้นเพื่อหวังเงินปันผล เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 11 มี.ค. 2549 และมีกรรมการเป็นคนไทย

"กรณีนี้จึงไม่เข้าข่ายการได้รับยกเว้นตามคำวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 2/2526 ของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ประกอบกับจากการตรวจสอบพบว่า บริษัทแอมเพิลริช ได้มีการจ่ายเงินซื้อหุ้นในต่างประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือน พ.ค. 49 ในอาคารยูบีเอสสิงคโปร์ ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะปิดตัวลง และขายกิจการให้กับชาวสิงคโปร์รายหนึ่ง เมื่อปี 2549 ซึ่งพฤติกรรมตรงนี้ถือว่ามีเจตนา เพื่อที่จะเลี่ยงไม่ให้เงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะเข้าข่ายการหลีกเลี่ยงภาษี ตาม มาตรา 37(2) ของประมวลรัษฎากร และยืนยันว่า กำไรจากการขายหุ้นที่ต่ำกว่า คดีนี้ไม่ถือว่าเป็นการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อนกัน เริ่มจากมีเงินได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. เป็นเงินได้ตามประโยชน์ที่เป็นจริงที่นายกฯได้ไป 1.59 หมื่นล้านบาท 2. เงินได้ในฐานะที่เป็นโทษทางภาษีแก่บริษัทแอมเพิลริช ที่สมทบกับผู้ซื้อขายหุ้นในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงในราคา 1.59 หมื่นล้านบาท" นายสุเทพ กล่าว

ด้านนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กล่าวว่า กรณีแอมเพิลริช ที่ขายหุ้นในราคา 1 บาท ที่เป็นราคาเท่าทุนอาจจะเป็นลักษณะของการขายหุ้น ที่ผ่านนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา มากกว่า ซึ่งปกติในการยึดข้อกฎหมายของกรมสรรพากร ในกรณีที่บริษัทต่างประเทศเข้าไปทำกิจการในไทย จะดูหลักการในการจดทะเบียนมากกว่า จึงไม่แน่ใจว่าการเก็บภาษีในส่วนนี้จะสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งลักษณะการถ่ายเทหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช คล้ายเป็นการขายหุ้นผ่านนายหน้า คือ นายพานแท้ และนางสาวพิณทองทา ขณะเดียวกันตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ได้บัญญัติไว้ในลักษณะว่า การทำธุรกรรมจะต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อไปดูวัตถุประสงค์ในการตั้งบริษัทแอมเพิลริช เป็นบริษัทที่แสวงหากำไรจากการขายหุ้นของนายพานทองแท้ และพิณทองทา ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติมากที่บริษัทชินคอร์ปยอมขายหุ้นให้บริษัทแอมเพิลริชในราคาเท่าทุนเพียง 1 บาท ซึ่งภายหลังแอมเพิลริชเองก็ได้กำไรจากราคาต่างของหุ้นที่ขายให้เทมาเส็กถึง 48.25 บาท

"การขายหุ้นในลักษณะเช่นนี้ สามารถมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะเลี่ยงภาษีโดยให้ทายาททั้ง 2 คน เข้าไปเป็นกรรมการในแอมเพิลริช แต่เจตนาแล้วต้องการขายหุ้นจากแอมเพิลริชให้เทมาเส็กเลย ดังนั้นประเด็นนี้มองว่า น่าจะเข้าข่าย ควรนำกฎหมายประมวลรัษฎากรตาม มาตรา 76 ทวิ ที่บริษัทต่างประเทศแต่มีลูกจ้างเป็นคนไทยที่กระทำการแทนเป็นเหตุให้ได้กำไรในประเทศไทย ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกา 1015/2539 และ 484/2540 ได้วินิจฉัยเอาไว้ จึงทำให้เชื่อได้ว่า กรณีแอมเพิลริช น่าจะต้องคำพิพากษาดังกล่าว" คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

นายธิติพันธุ์กล่าวด้วยว่า เชื่อได้ว่าการต่อสู้ในคดีนี้ ทางฝ่ายตรงกันข้ามจะนำการตอบข้อหารือของกรมสรรพากร ที่ระบุว่ากรณีนี้ไม่มีภาระภาษีมาต่อสู้ในคดีนี้ ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นการกระทำไม่ถูกต้องของกรมสรรพากร เพราะสรรพากรได้สันนิษฐานเพียงแค่ มาตรา 40 ของประมวลรัษฎากรในส่วนของเงินได้บุคคลธรรมดา แต่สรรพากรไม่ได้นำประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชน์มาตอบข้อหารือ เพราะการขายหุ้นของบริษัทแอมเพิลริช ให้กับนายพานทองแท้ และนางสาว พิณทองทา ในราคา 1 บาท ทั้งที่ราคาการซื้อขายอยู่ที่ 47.50 บาท ถือว่า ไม่ใช่นิติกรรมปกติแน่ ถือได้ว่าเป็นการให้ ดังนั้นหากไปดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 ทวิ อนุ 4 จะเข้าข่ายอยู่ในนิติกรรมอำพราง ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แม้ว่า กรมสรรพากรจะบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาก็ตาม แม้ในประมวลรัษฎากรไม่มี เราก็สามารถหยิบมาตรานี้ไปใช้ได้ แม้ไม่อยู่ประมวลรัษฎากรก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบว่าไม่มีเอกสารการซื้อขายชัดเจน และหุ้นก็มีการซื้อขายในประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.