ตลาดหุ้นเผยรายได้พอร์ตQ1หด34%


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งนำเงินฝากแบงก์มูลค่า 500 ล้านบาท ลงทุนธุรกรรมซื้อคืนตราสารหนี้ภาคเอกชนและสัญญาซื้อคืนตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกรรมเพิ่ม บวกกับให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่ "นงราม" เผยไตรมาส 1/50 รายได้จากพอร์ตลงทุนที่มีหมื่นกว่าล้านบทา จำนวน 230 ล้านบาท ลดลงกว่า 34% จากปีก่อนที่มีรายได้ 350 ล้านบาท จากอัตราดอกเบี้ยลดลง นำเงินซื้อที่ดิน ภาวะตลาดไม่เอื้อ ด้านบล.เคจีไอ แจงมูลค่าธุรกรรม ไพรเวท รีโปไตรมาสแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ 700 ล้านบาท

นางนงราม วงษ์วานิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯมีรายได้จากการลงทุนในไตรมาส 1/2550 จำนวน 230 ล้านบาท ลดลง 120 ล้านบาท หรือลดลง 34.28% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่รายได้จากากรลงทุน 350 ล้านบาท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่มีการปรับตัวลดลง และเม็ดเงินลงทุนลดลงจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการนำเงินไปซื้อที่ดินเพิ่ม และจากการที่ภาวะตลาดไม่ดีที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกันเงินสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับเม็ดเงินลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 1/2550 มีจำนวน 10,200 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในตราสารหนี้ 55% ตราสารทุน 40% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 2% และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) 3% ซึ่งทางบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้นโยบายในเรื่องการลงทุนคือต้องการให้สัดส่วนการลงทุนเป็น การลงทุนในตราสารหนี้ 55% ตราสารทุน 35% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 5% และกองทุนเอฟไอเอฟ 5%

"นโยบายของบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการให้มีการเพิ่มการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนเอฟไอเอฟเพิ่มเป็น 5% จากเดิมที่มี 2% และ 3% ตามลำดับ โดยเป็นการลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนลดลงเหลือที่ระดับ 35% ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งปีนี้ที่ 4-5%" นางนงราม กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติให้มีการนำเงินลงทุนระยะสั้นที่ได้มีการฝากบัญชีธนาคารไว้ มูลค่า 500 ล้านบาท ไปลงทุนตราสารระยะสั้น ที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินไว้กับธนาคาร คือ ธุรกรรมซื้อคืนตราสารหนี้ภาคเอกชน (ไพรเวท รีโป) และสัญญาซื้อคืนตราสารหนี้ (บายเซลแบล็กทรานเซ็กชั่น) โดยทั้ง 2 สินค้านั้นมีระยะการลงทุนประมาณ 7-15 วัน และยังเป็นการสนับสนุนให้มีการทำธุรกรรมซื้อคืนตราสารหนี้ภาคเอกชนและสัญญาซื้อคืนตราสารหนี้มากขึ้น

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนที่จะนำเงินสดที่มีอยู่นำไปลงทุนด้านต่างๆ มากขึ้น เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากไว้กับธนาคาร ซึ่งบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติให้นำเงินจำนวน 500 ล้านบาท ไปลงทุนไพรเวท รีโปและบายเซลแบล็คทรานเซ็กชั่น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 0.50 บาท จากที่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราประมาณ 3-3.25% และเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องที่สามารถจะขายได้ทันที ไม่มีระยะเวลานานเหมือนกับการขายหน่วยลงทุนในกองทุน ฯลฯ ที่จะต้องใช้เวลาพอสมควร "นางนงราม กล่าว

ปัจจุบันธุรกรรมไพรเวท รีโป ธนาคารพาณิชย์จะมีการทำธรุกรรมดังกล่าว โดยการเป็นตัวกลางในการซื้อขาย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการที่จะให้สถาบันเข้ามาทำธุรกรรมดังกล่าวมากขึ้น หากมีผู้สนใจที่จะดำเนินธุรกรรมดังกล่าวแต่ยังไม่ต้องการที่จะมีการลงทุนในเรื่องระบบการทำธุรกรรมดังกล่าว ก็สามารถที่จะมาใช้ระบบของทางบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัดได้ ส่วนใหญ่ธุรกรรม ไพรเวท รีโป จะเป็นธนาคารที่เป็นตัวกลางในการซื้อขาย แต่ขณะนี้ทางบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เคจี ไอ จำกัด (มหาชน)หรือ KGI รายเดียวที่มีการทำธุรกรรมดังกล่าวแล้ว

นายรัชกฤษณ์พงศ์ เอกรังสรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายค้าตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายไพรเวท รีโปในไตรมาส 1/2550 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เฉลี่ย 700 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในธุรกรรมดังกล่าวมากขึ้น และจากสัญญาณของอัตราดอกเบี้ยมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดีนั้น ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนระยะสั้นหันเข้ามาลงทุนในไพรเวท รีโป มากขึ้น เพราะได้รับผลตอบแทนในระดับที่ดีประมาณ 3.8-4% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ที่ระดับ 2.5-3%

ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขายไพเวท รีโปปีนี้จำนวน 2,000-4,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีการซื้อขายเฉลี่ย 600-700 ล้านบาท โดยธุรกรรมไพเวท รีโป ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความเสี่ยงต่ำ ประกอบกับเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในตลาดต่างๆ ให้มากขึ้น โดยปัจจุบันธุรกรรมไพเวท รีโป ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจแพร่หลาย โดยส่วนใหญ่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนจะเป็นนักลงทุนสถาบัน นิติบุคคล

อย่างไรก็ตาม การที่ธุรกรรมไพเวท รีโป จะได้รับความสนใจที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ฝากเงินนำเงินไปลงทุนด้านอื่นๆ มากขึ้น เพราะจะไม่ได้รับประกันเงินฝาก 100% ซึ่งการเข้าลงทุนไพเวท รีโป นั้นถือว่ามีความเสี่ยงน้อย เพราะมีพันธบัตรรัฐบาลค้ำประกันหากไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ก็สามารถที่จะนำหลักทรัพย์ค้ำประกันดังกล่าวไปขายทอดตลาดได้ มีผลตอบแทนที่สูง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.