|
แบงก์ชาติแนะส่งออกเลี่ยงใช้ดอลล์ ชี้เสี่ยงสูงทิศทางยังแข็งค่าต่อเนื่อง
ผู้จัดการรายวัน(4 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติแนะผู้ส่งออกกระจายความเสี่ยงด้านค่าเงิน โดยใช้เงินสกุลอื่นที่มีความผันผวนน้อยมาใช้ตั้งราคาและรับชำระค่าส่งออก ระบุการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นตัวกลางในการค้าขายมากถึง 90%อย่างในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เหตุแนวโน้มเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องไปอีกระยะ
รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ธปท.ได้ออกบทความผ่านเว็บไซด์ ธปท.ให้หัวข้อ "แนวคิดเรื่อง การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน" โดย นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตลาดการเงินและบริหารทุนสำรอง ซึ่งกล่าวในบทความว่า ในขณะที่นักวิเคราะห์ยังคงคาดการณ์ว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จะยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้ค่าเงินบาท และเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน และการค้าขายส่งออกนำเข้าของประเทศไทยซึ่งยังคงใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าถึง 90% ของมูลค่าการส่งออกรวม ทั้งๆที่การส่งออกของไทย มีสัดส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐเพียง 15% ของการส่งออกรวมเท่านั้น
ธปท.มองว่า การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเช่นนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ดังนั้น ในบทความแนวคิดการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงแนะให้ผู้ส่งออกไทยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินในการรับชำระราคาและค้าขายระหว่างประเทศ ให้มีลักษณะกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เช่น แทนที่จะเอารายรับส่วนใหญ่ไปผูกติดไว้กับค่าเงินสกุลเดียวคือ ดอลลาร์สหรัฐ ควรจะเปลี่ยนไปตั้งราคาและรับชำระค่าสินค่าส่งออกเป็นเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เงินยูโร ของสหภาพยุโรป เงินปอนด์สเตอริง ของอังกฤษ เงินเยน ญี่ปุ่น รวมทั้งเงินในสกุลภูมิภาค ตามสภาพการส่งออกของตนเอง
"เรื่องดังกล่าวนี้น่าสนใจ และควรได้รับการสนับสนุนให้ผู้ส่งออกนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะในขณะนี้ทราบว่า บริษัทซีพีเอฟ ได้เปลี่ยนการรำระค่าสินค้าในตลาดยุโรป เป็นเงินปอนด์ฯ เพราะเป็นว่าในช่วงปีที่ผ่านมาผันผวนน้อย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาก เพราะค่าเงินปอนด์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทรงตัวอยู่ที่ระดับ 70 บาทต่อปอนด์ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 10% การปรับเปลี่ยนนี้ จึงน่าจะช่วยให้ได้รายรับในรูปเงินบาทมากขึ้น"
นางผ่องเพ็ญ กล่าวด้วยว่า จากการสอบภามธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง พบว่า เมื่อเทียบความคล่องตัวในการทำธุรกรรมระหว่างเงินสกุลหลักอื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างจากเงินดอลลาร์มากนัก และที่ตนสนใจ คือ การพิจารณาว่าสามารถใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งในประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีเราส่งออกสินค้าถึง 20% ของมูลค่าการส่งออกรวม เป็นตัวกลางในการค้าขายได้หรือไม่ จากที่ผ่านมาใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในกาชำระราคาถึง 84% ของมูลค่าการส่งออกไปภูมิภาคเอาเซียน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเดือนมี.ค.ซึ่งประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 465,320 ล้านบาท หากคิดคามภูมิภาคแล้ว พบว่า ประเทศไทยส่งออกภายในกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ถึง 92,062 ล้านบาท รองลงมาเป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 27 ประเทศ 67,865 ล้านบาท อันดับที่ 3 เป็นการส่งออกไปกลุ่มประเทศนาฟต้า (แคนาดา-สหรัฐ –แม็กซิโก) 67,113 ล้านบาท อันดับที่ 4 ประเทศญี่ปุ่น 62,333 ล้านบาท อันดับที่ 5 จีน 40,231 ล้านบาท แต่หากคิดเป็นรายประเทศจะพบว่า ประเทศไทยส่งออกไปยัง ประเทศญี่ปุ่นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 เป็นเงินทั้งสิ้น 62,333 ล้านบาท อันดับที่ 2 เป็นสหรัฐอเมริกา 60,696 ล้านบาท อันดับที่ 3 ประเทศจีน 40,231 ล้านบาท อันดับที่ 4 ฮ่องกง 25,688 ล้านบาท และอันดับที่ 5 มาเลเซีย 23,954 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|