ค้าปลีกย่านสยามฯต่อเนื่องราชประสงค์ปรับตัวรับปี 2548 ต้อนรับโครงการสยามพารากอน
‘เซ็นทรัล ชิดลม’ปรับโฉมใหม่ดึงแบรนด์อินเตอร์เสริมอีก 40-50 แบรนด์ ด้าน‘สยามพารากอน’ได้เงินอัดฉีดจากสองสถาบันการเงิน
3,000 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์ไฮเอนด์ของเอเชีย เตรียมปรับตำแหน่งสยามเซ็นเตอร์และดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ให้มีจุดขายที่แตกต่างกัน
ขณะที่‘เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์’คาดว่าจะจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางเป็นหลัก
นางยุวดี พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า
บริษัทจะใช้เงินลงทุนประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อปรับโฉมเซ็นทรัลสาขาชิดลมให้เป็นห้างสรรพสินค้าในรูปแบบวันสต็อปชอปปิ้ง
โดยจะมีสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกเข้ามาเปิดในลักษณะชอป อิน ชอป ภายในห้างสรรพสินค้าอย่างน้อย
40-50 แบรนด์
ทั้งนี้ ทางห้างได้ปรับพื้นที่เพื่อขยายพื้นที่ขายสินค้าแฟชั่นให้เพิ่มขึ้นจาก
3,000 ตารางเมตรเป็น 6,000 ตารางเมตร โดยพื้นที่ชั้นที่ 1 จะเป็นสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก
ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับกลุ่มหลุยส์ วิตตอง, บลูเบอร์รี่ กุชชี่ พราด้า อมานี่ เป็นต้น
โดยแบรนด์เหล่านี้ สนใจที่จะเข้ามาจำหน่ายสินค้าทั้งที่สาขาชิดลมและสาขาภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เนมชั้นนำของดีไซเนอร์ไทย อาทิ เมตตา อนุรักษ์ และไข่ บูติก
ที่แสดงความสนใจเข้ามาเปิดร้านในสาขาชิดลมเช่นกัน
“การเพิ่มสินค้าแบรนด์เนมขึ้นมานี้เนื่องจากเป็นความต้องการของลูกค้าที่ปัจจุบัน
เซ็นทรัลชิดลมยังไม่มีแบรนด์เนมเหล่านี้เลย ซึ่งหากเราปรับปรุงสาขานี้แล้วเสร็จเชื่อว่าจะทำให้เซ็นทรัลชิดลมเป็นห้างสรรพสินค้าที่แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าอื่นๆ
โดยเฉพาะเราจะเป็นห้างที่เป็นวันสต็อปชอปปิ้งที่เป็นสแตนด์อะโลนเพียงแห่งเดียว”นางยุวดีกล่าว
นอกจากนี้เซ็นทรัลยังได้ปรับแผนกเสื้อผ้าชายจากปัจจุบันที่อยู่ในชั้นที่ 3 ไปอยู่ชั้นที่
4 ซึ่งเป็นแผนกเด็ก โดยแผนกเด็กจะย้ายไปอยู่ชั้นที่ 6 แทน และสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในชั้น
6 จะย้ายลงมาอยู่ชั้น 5 รวมกับแผนกโฮม เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าในแผนกโฮมได้อย่างครบวงจรในชั้นเดียวกัน
โดยพื้นที่ขายสำหรับสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์จะถูกลดพื้นที่เหลือ 1,200 ตารางเมตรจากปัจจุบันที่มีพื้นที่
1,500 ตารางเมตร
ก่อนหน้านี้เซ็นทรัลสาขาชิดลมได้เพิ่มพื้นที่บริเวณชั้น 7 เพื่อให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น
โดยได้ทำเป็นร้านอาหารและบีทูเอส ทำให้ได้พื้นที่ขายเพิ่มขึ้นประมาณ 4,500 ตารางเมตร
สำหรับเหตุผลประการสำคัญที่เซ็นทรัลต้องปรับโฉมสาขาชิดลมในครั้งนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าในย่านราชประสงค์
ในปี 2548 ที่เชื่อว่าทุกศูนย์จะพัฒนาให้เสร็จพร้อมกัน เพื่อต้อนรับโครงการสยามพารากอน
และจะส่งผลให้พื้นที่ย่านราชประสงค์กลายเป็นแหล่งชอปปิ้งชั้นนำของเอเชีย
นางยุวดี ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในปี 2545
ว่า มีอัตราเติบโต 8-9% คิดเป็นยอดขาย 18,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาด 31% เมื่อเทียบเฉพาะยอดขายของห้างสรรพสินค้าที่เป็นสินค้าทางด้านแฟชั่นเท่านั้น
สำหรับปี 2546 เซ็นทรัลวางเป้าหมายการเติบโตที่ 11-12% คิดเป็นยอดขาย 20,000 ล้านบาท
โดยช่วงเดือนมกราคม -16 มีนาคม 2546 เซ็นทรัลมีอัตราเติบโต 17% นับรวมสาขาใหม่ที่เซ็นทรัลพระราม
2 ด้วย
สำหรับการจัดกิจกรรมทางตลาดของห้างเซ็นทรัลในปีนี้ ได้ใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้งบ 350 ล้านบาท โดยในปีนี้จะเน้นจัดกิจกรรมพิเศษให้มากขึ้น
แทนการลดราคาสินค้า เช่น การจัดงานวอท์ชแฟร์ ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ และสร้างยอดขายให้แก่ห้างด้วย
สยามพารากอนระดม 3,000 ล้าน
ทางด้านโครงการสยามพารากอน ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเอ
เชีย และอยู่ในย่านศูนย์กลางการชอปปิ้งของกรุงเทพฯ วานนี้ (24 มี.ค.) ได้มีพิธีลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงิน
จากสองธนาคารคือ กรุงเทพ และกสิกรไทย รายละ 1,500 ล้านบาท รวมเป็นเงินกู้ 3,000 ล้านบาท
โดยทั้งสองธนาคารนี้ก็เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท
สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารโครงการสยามพารากอน
นางชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารสูงสุด บริษัทสยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า
ทั้งสองสถาบันการเงินได้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด จากการพิจารณาข้อเสนอของสถาบันการเงินทุกแห่งที่เสนอตัวเข้ามา
ทั้งนี้บริษัทได้ทำสัญญากู้เงินจากทั้งสองธนาคารเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมั่นใจว่าสภาพคล่องของโครงการนั้นอยู่ในระดับที่ดีมาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับสถาบันการเงินที่ต้องการจะสนับสนุนโครงการก็ยังสามารถปล่อยกู้ได้
เนื่องจากนักลงทุนที่เซ้งพื้นที่ในโครงการสยามพารากอน ยังต้องใช้เงินลงทุนรวมกันถึง
6,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 30% จะเป็นเงินดาวน์จากค่าเซ้ง และส่วนที่เหลือประมาณ
4,000-5,000 ล้านบาทจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน
สำหรับความคืนหน้าในการก่อสร้างโครงการนั้น จะเริ่มลงเสาเข็มได้ภายในเดือนนี้ โดยแผนงานทุกอย่างยังดำเนินไปตามที่กำหนดไว้ทุกประการ
และในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้จะมีการเซ็นสัญญากับผู้เช่าพื้นที่รายใหญ่อีก 2-3 ราย
ซึ่งอยู่ในส่วนของพื้นที่เอ็นเตอร์เทนเมนท์
นอกจากนี้บริษัทจะปรับภาพรวมของสองศูนย์การค้า คือสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่
เซ็นเตอร์ เพื่อให้สอดรับกับสยามพารากอน ที่แต่ละศูนย์จะมีจุดขายที่แตกต่างกันแต่จะเอื้อซึ่งกันและกัน
เพื่อให้เป็นศูนย์รวมของการชอปปิ้งที่สมบูรณ์แบบที่สุด
สำหรับการพัฒนาศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์นั้น คาดว่าจะถูกปรับปรุงเพื่อให้เป็นศูนย์ที่จับกลุ่มคนระดับกลางขึ้นไป
โดยภายในศูนย์ ทางห้างสรรพสินค้าเซน ก็จะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย
ทางด้านนางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์
จำกัด กล่าวว่า ในปี 2548 เป็นปีที่ทุกศูนย์ในย่านราชประสงค์ เลยไปจนถึงเอ็มโพเรียม
ที่จะเริ่มปรับปรุงในปีนี้และไปแล้วเสร็จในปี 2548 พร้อมกัน จะส่งผลให้กรุงเทพฯ
จะกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของเอเชีย ที่น่าจะมาทดแทนศูนย์กลางการชอปปิ้งของสิงคโปร์
ที่ปัจจุบัน อยู่ในภาวะที่ถดถอย ขณะที่ฮ่องกง ก็เจอปัญหาเรื่องโรคระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางไปชอปปิ้ง
ส่วนมาเลเซีย ก็ถูกมองว่าเป็นเมืองที่ไม่ค่อยปลอดภัยในช่วงนี้ เพราะเกิดสงครามระหว่างสหรัฐและอิรัก
ดังนั้นไทยจึงเป็นประเทศที่น่าจะได้เปรียบมากที่สุดในการยกตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการชอปปิ้งและท่องเที่ยวของเอเชีย
สำหรับปัญญาสงครามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ส่งผลต่อการชอปปิ้งในประเทศไทย
โดยเฉพาะเดอะมอลล์ ซึ่งเป็นห้างที่เน้นคนไทยเป็นหลัก ขณะที่เอ็มโพเรียม ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย
จึงไม่น่าจะมีปัญหาต่อยอดขาย แต่หากสงครามยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือนก็อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมได้