ชินคอร์ปผนวกกิจการดีพีซี จุดกำเนิดของ duo band


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายในเดือนกุมภาพันธ์การรวมกิจการระหว่างชินคอร์ป และดีพีซี (ดิจิตอลโฟน)ของกลุ่มสามารถจะรู้ผลแล้วว่าทั้งสององค์กรนี้จะรวมกิจการกันได้สำเร็จหรือไม่

การรวมกิจการครั้งนี้เป็นผลสำเร็จจะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการผนึกกิจการระหว่างโทรศัพท์มือถือ 2 ค่ายของเมืองไทย หลังจากเกิดกรณีนี้ กับกิจการเคเบิลทีวีของไอบีซี และยูทีวีมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

การจับคู่ของธุรกิจ โทรคมนาคมทั้งสอง ที่เป็นการรวมกันของโทรศัพท์ มือถือระหว่างระบบจีเอสเอ็ม 900 และพีซีเอ็น 1800 เกิดขึ้นได้จริงในเมืองไทย เกิดขึ้นมาจากแรงผลักดันหลายด้านด้วยกัน

ดีพีซี เป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบดิจิตอล PCN 1800 ที่ พัฒนามาจากการเป็นตัวแทนบริการ (service provider) ของแทค และต่อมาก็ได้แบ่งคลื่นความถี่จากแทคมาเป็นโอเปอเรเตอร์อีกรายในตลาดแลกกับเงินลงทุน 5,400 ล้านบาท ที่ต้องจ่ายเป็นค่าไลเซนส์ให้กับแทค

การขาดแคลนเงินทุนมาใช้ในการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตัวเอง ทำให้ดีพีซีต้องตก ที่นั่งลำบาก ถึงแม้จะมีเทเลคอมมาเลเซียมาถือหุ้น แต่ก็อยู่ในภาวะไม่พร้อม ที่จะนำเงินมาลงทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ การเพิ่มทุน เพื่อนำเงินมาสร้างเครือข่ายก็ทำไม่ได้ ต้องอาศัยการโรมมิ่งใช้เครือข่ายของแทค เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวเท่านั้น

คู่แข่งเวลานี้ของดีพีซีไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องเจอคู่แข่งสำคัญอย่างพีซีที ที่ความร้อนแรงของบริการพีซีทีของทีเอ เป็นอีกปัจจัยเร่งเร้าให้เกิดการรวมกิจการระหว่างกัน หลังเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ ถึงแม้ว่าพีซีทีจะให้บริการได้แค่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้เป็นปัญหา ที่สำคัญ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของโทรศัพท์มือถือก็อยู่ในกรุงเทพฯ

ทางออกเดียวของสามารถกรุ๊ป ก็คือ การหาพันธมิตรเข้ามาร่วมกู้สถานการณ์ และชินคอร์ป เป็นทุนสื่อสารรายเดียว ที่มีความ แข็งแกร่งมากที่สุดในเรื่องของฐานการเงิน ที่สำคัญชินคอร์ปมีความพร้อมในเรื่องของเครือข่ายที่ดีพีซีจะใช้ประโยชน์ได้ทันที ประโยชน์ ที่ชินคอร์ปจะได้จากการควบกิจการกับดีพีซี เท่ากับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในเรื่องของเครือข่ายโทรศัพท์ให้กับชินคอร์ป ให้แข็งแรงขึ้นเหนือคู่แข่งในเกือบทุกด้าน จะกลายเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ระบบ GSM 900 และ PCN 1800 อยู่ในมือ ที่กินส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60% และเป็นเจ้าแรกในตลาดเมืองไทยจะทำให้บริการโทรศัพท์มือถือ DUO BAND ที่ใช้ทั้งระบบ GSM 900 และ PCN 1800 เกิดขึ้นได้จริง

การผนึกกิจการระหว่างโอเปอเรเตอร์ทั้งสองยังเท่ากับเป็นการสร้างป้อมค่าย สำหรับรับมือการมาของยักษ์สื่อสารข้ามแดน การรวมกิจการของชิน คอร์ป และดีพีซี ไม่ใช่แค่การเมิชรวมกันระหว่างแค่โอเปอเรเตอร์ในเมืองไทยเท่านั้น แต่มันเป็นการสร้างเครือข่ายภูมิภาค ที่จะกินแดนไปถึงสิงคโปร์เทเลคอม และมาเลเซียเทเลคอม ที่มีเครือข่ายการลงทุนในหลายประเทศ

การโรมมิ่งของเอไอเอส จะไม่ใช่แค่ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ ระบบจีเอสเอ็ม 900 เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพีซีเอ็น 1800 ที่มีอีกเกือบครึ่งโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา นี่คือ คำตอบของการรวมกิจการในครั้งนี้

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ชินคอร์ปเองก็กำลังนำหุ้นบริษัทไปขายใน ตลาดหุ้น Nasdaq สหรัฐอเมริกา การร่วมกิจการกับดีพีซีย่อมส่งผลที่ดีต่อราคาหุ้นของชินคอร์ปในอนาคต

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการผนึกกิจการในครั้งนี้ จะเป็นการแลกหุ้นระหว่างกัน ชินคอร์ปจะเข้าไปถือหุ้น 51% ในดีพีซี ที่เป็นส่วนของสามารถกรุ๊ป ที่ถืออยู่เดิม ที่เหลืออยู่ 49% ยังคงเป็นหุ้นของเทเลคอมมาเลเซีย

ส่วนดีพีซีจะเข้าไปถือหุ้นประมาณเกือบ 10% ในชินคอร์ป ซึ่งผู้บริหารของชินคอร์ปกล่าวว่า สาเหตุที่ให้ถือในชินคอร์ป ไม่ถือในเอไอเอส เนื่องจากมีสิงคโปร์เทเลคอมถืออยู่แล้ว

ประเด็นสำคัญ ที่จะทำให้ดีลนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้อยู่ ที่ปัญหาในเรื่องของเทคโนโลยี แต่อยู่ ที่การประเมินสินทรัพย์ เพื่อตีมูลค่าหุ้น และยังมีรายละเอียดของข้อตกลงในเรื่องบทบาทในการบริหารงาน ที่มีความอ่อนไหวอย่างสูง และเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ไม่นานก็รู้ผล



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.