เปิดใจทายาทรุ่น 3....ตระกูลโชควัฒนา ธรรมรัตน์ โชควัฒนา และธีรดา อำพันวงษ์


ผู้จัดการรายวัน(24 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

การขับเคลื่อนอาณาจักรของกลุ่มสหพัฒน์ ภายใต้การบริหารงานของตระกูลโชควัฒนาในวันนี้เดินทางมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ในขณะที่การบริหารงานระดับสูงยังอยู่ในมือของทายาทรุ่นสอง ที่นำโดย บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา และสองพี่น้องฝาแฝด บุญเกียรติ โชควัฒนา ที่ดูและงานในฟาก

บริษัทไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบุญชัย โชควัฒนา

ที่ดูแลงานของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีณรงค์ โชควัฒนาที่ดูแลในส่วนของแพน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้ารายใหญ่ของไทย

ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลโชควัฒนา มีอยู่ทั้งหมด 17 คน

มีทั้งที่เข้ามาบริหารงานในเครือสหพัฒนาแล้ว และบางส่วนอยู่ระหว่างการศึกษาต่อในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บุคคลที่น่าจับตามองและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของสหพัฒน์ในขณะนี้ ก็คือ ธรรมรัตน์ โชควัฒนา บุตรชายคนโต และเป็นลูกในลำดับที่สองของบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ และธีรดา อำพันวงษ์ ลูกสาวคนโต และเป็นลูกคนแรกของประธานเครือสหพัฒน์ เช่นเดียวกัน

ธรรมรัตน์ โชควัฒนา มีอายุ 32 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญพาณิชย์ หรือเอแบค ภาควิชาศิลปศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เริ่มงานครั้งแรกที่สหพัฒน์ เมื่อปี 2536 หลังจากที่จบการศึกษาเพียงวันเดียว

“เป็นการเริ่มงานแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะคุณพ่อ(บุณยสิทธิ์)

ท่านถามผมแต่เพียงว่าสอบเสร็จวันไหน เมื่อท่านทราบแล้วก็โทร.ไปบอกให้ทางโรงงานจัดตารางการทำงานให้ผม พอสอบเสร็จวันรุ่งขึ้นผมต้องไปทำงานที่โรงงานทันที”

ธรรมรัตน์ เล่าว่า เขาเริ่มต้นการทำงานด้วยการตัดเสื้อ เย็บชุดชั้นในวาโก้ และการบดยาสำหรับทำอายชาโด เพื่อให้รู้ถึงกระบวนการการทำงานทั้งหมด เมื่อไปทำงานในต่างประเทศก็ยังต้องรับหน้าที่แบกสต็อกสินค้าของสหพัฒน์เข้าร้าน ซึ่งเป็นงานที่หนัก เหนื่อย และต้องใช้ความอดทนมาก

“ความรู้สึกช่วงทำงานวันแรกๆ เหมือนกับถูกมัดมือชก แล้วโยนเราเข้าไปในโรงงานไม่มีสิทธิ์คิดอะไร นอกจากต้องทำ...ทำ...แล้วก็ทำ แต่เมื่อทำแล้วผมก็รู้ว่าเราเป็นเจ้าของต้องเรียนรู้แม้จะไม่หมดทุกขั้นตอน แต่อย่างน้อยเราต้องเข้าใจว่าเสื้อที่ดี ยกทรงที่ดีนั้นเขาทำกันอย่างไร ถ้าเจ้าของไม่เข้าใจแล้วเราจะบริหารธุรกิจได้อย่างไร”

ธรรมรัตน์ ยอมรับว่า การทำงานนั้นนอกจากเหนื่อยกายแล้ว บางครั้งเขายังลำบากใจเพราะการถูกปลูกฝังมาแต่เด็กให้เคารพผู้อาวุโส ทำให้ธรรมรัตน์เกรงใจที่จะสั่งงานผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ส่วนใหญ่จะมีอายุมากกว่าเขา

ธรรมรัตน์ กล่าวถึงแนวคิดในการทำงานว่าทุกอย่างไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

ความรู้ที่ได้จากตำราก็ไม่สามารถเอามาใช้ได้ ในขณะที่บุณยสิทธิ์

ผู้เป็นพ่อก็ไม่เคยแนะนำอะไรตรงๆ ซึ่งธรรมรัตน์ต้องอาศัยการเรียนรู้จากผู้ใหญ่ทั้งการเข้าไปสังเกตุการณ์การประชุมตั้งแต่สมัยเด็ก การได้รับคำแนะนำจากอาที่ส่วนใหญ่จะให้แง่คิดมากกว่าสอนงานตรงๆและการอาศัยพี่เลี้ยงทั้งบริษัทคอยช่วยแนะนำ

“ผมไม่ได้ยึดหลักการทำงานจากใครหรือจากตำราใดเฉพาะเจาะจง แต่อาศัยจังหวะโอกาส และวิจารณญาณ ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผมถูกสอนมาเสมอก็คือต้องไม่พอใจกับผลของงาน เพราะถ้าเราพอใจเมื่อไหร่ทุกอย่างก็หยุด เราจะไม่พัฒนา ในที่สุดก็แข่งขันกับคนอื่นไม่ได้”

เมื่อถูกถามว่าการเกิดมาเป็นลูกบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เจ้าของเครือสหพัฒน รู้สึกเช่นไร ธรรมรัตน์ กล่าวว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือ ในการทำงานมีคนให้ความร่วมมือ เกรงอกเกรงใจ ส่วนข้อเสียนั้นก็มี เพราะคนรอบข้างมักจะพูดแต่ในสิ่งที่ดีของตัวเรา

เมื่อเราเหลิงไปกับคำพูดเหล่านั้นก็จะทำให้ไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ธรรมรัตน์มองว่า สหพัฒน์ในวันนี้แตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการบริหารงานและการตลาด ที่ในปัจจุบันมีกลไกซับซ้อน การบริหารงานต้องอาศัยข้อมูลอย่างแม่นยำรอบด้าน ในขณะที่สมัยก่อนจะใช้ความรู้สึกและประสบการณ์เป็นที่ตั้ง ขณะที่วิธีการทำตลาดในปัจจุบันก็ต้องรวดเร็วและตอบสนองผู้บริโภคอย่างทันท่วงที

สำหรับธีรดา อำพันวงษ์ ลูกสาวคนโตของบุณยสิทธิ์ นับเป็นทายาทอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานให้แก่เครือสหพัฒน์ ธีรดาถูกตามตัวให้มาช่วยงานที่ไอ.ซี.ซี.ในช่วงที่เกิดโครงการสร้างแบรนด์ BSC (Best Selected Collection) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่สหพัฒน์ตั้งใจจะปั้นให้เป็นแบรนด์ระดับชาติ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2535 หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านแฟชั่น เมอเชนไดซิ่ง จากอเมริกา ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานกับเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ ผู้มีศักดิ์เป็นอาสะใภ้ ที่สหพัฒนพิบูล มีหน้าที่ดูแลการตลาดผลิตภัณฑ์ลอตเต้ ระหว่าทำงาน ธีรดาได้เรียนปริญญาโท ทางด้านบริหารธุรกิจที่ศศินทร์ ควบคู่ไปด้วย

ธีรดา สนุกกับงานการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ได้ 5-6 ปี

บุณยสิทธิ์และบุญเกียรติก็ได้ตามตัวมาถามความเห็นว่า “อยากทำสินค้าที่เป็นแบรนด์ของตัวเองไหม ถ้าให้มาทำจะทำได้ไหม”

“ตอนแรกก็กระอักกระอ่วน เพราะใจจริงแล้วชอบงานที่สหพัฒน์มาก แต่ทีนี้ทางคุณบุญเกียรติบอกว่า ถ้าหน่อยไม่ทำก็ไม่เห็นใครแล้วนะเพราะเราเรียนมาทางนี้ด้วย ก็เลยตัดสินใจมาทำงานตรงนี้ แต่เมื่อทำ BSC มาถึงวันนี้แล้วถ้าจะประเมินความพอใจออกมาเป็นตัวเลข คงให้แค่ 60% เท่านั้น เพราะยังมีอะไรอีกมากที่จะต้องทำต่อไป”

ชีวิตการทำงานที่สหพัฒน์แม้ธีรดาจะได้ชื่อว่าเป็นลูกเจ้าของ แต่เธอบอกว่า“ตัวเองทำงานในฐานะลูกจ้าง ที่ไม่มีอภิสิทธิ์อะไรเหนือพนักงานคนอื่นๆจะดีหน่อยก็ตรงที่ความเป็นลูก(บุณยสิทธิ์)

ทำให้เวลาเราเสนออะไรไม่ค่อยมีใครกล้าค้านเรามาก”

อย่างไรก็ตาม ธีรดา กล่าวว่า “ที่จริงมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยากจะทำ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ ซึ่งเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสหพัฒน์ แต่เมื่อหมอดูทักว่างานที่อยากทำนั้นทำให้เรามีความสุขก็จริงแต่ไม่ได้เงิน ก็เลยต้องทำงานที่สหพัฒนต่อไป”

นอกจากนี้ ยังมีทายาทรุ่น 3 ที่มีบทบาทสำคัญในสหพัฒน์อีกหลายคน ได้แก่ กิตยาภรณ์ ลูกสาวคนเดียวของบุญเกียรติ ที่เข้ามาช่วยงานที่ไอ.ซี.ซี. และธีรนาถ ลูกชายของบุญเอก ก็เข้ามาดูแลเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่ไอ.ซี.ซี. เป็นต้น

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโชควัฒนารุ่นที่ 3

ที่จะสืบทอดกิจการของตระกูลต่อไป เหมือนดั่งที่รุ่นพ่อได้สืบทอดมาจากรุ่นปู่อย่างมั่นคงในปัจจุบัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.