“โมโตโรล่า”เดินหมากการตลาดสูตรใหม่ ปรับภาพลักษณ์สู่แบรนด์ยังส์เจนเนอเรชั่น


ผู้จัดการรายวัน(24 มีนาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

โมโตโรล่าประกาศสูตรกลยุทธ์การตลาดปรับภาพลักษณ์แบรนด์สู่ยังส์เจนเนอเรชั่น วางเป้าหมายการตลาด 3 ด้านหลัก วินเดอะเน็กซ์เจนเนอเรชั่น สร้างแบรนด์แข็งแกร่ง และความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ผ่านการมีโปรดักส์รับทุกความต้องการ สร้างราคา จูงใจทุกกลุ่ม พร้อมทั้งนำเอนเตอร์เทนเมนต์เต็มรูปแบบให้บริการ เตรียมปล่อยไม้เด็ดเว็บไซต์ภาษาไทย มายโมบายซอฟต์และสร้าง โมโตคลับ เชื่อมกลุ่มลูกค้าภักดีในตัวสินค้า ทั้งยังช่วยขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น มั่นใจรักษาผู้นำอันดับสองในตลาดมือถือเหนียวแน่น

นายวิทการ จันทวิมล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนใหม่ บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาระกิจทางการตลาดของโมโตโรล่าในขณะนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเร่งปรับภาพลักษณ์ให้ดูเป็นยังส์เจนเนอเรชั่นให้ได้ หลังจากมีการปรับเปลี่ยนเรื่อง ของดีไซน์ที่ทันสมัยขึ้น การปรับฟังก์ชั่นการใช้งานและฟีเจอร์ด้วย ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่ายขึ้น เพื่อเจาะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าโมโตโรล่าทุกกลุ่มเป้าหมายทุกเซกเมนต์

“ปีนี้บริษัทแม่ตั้งยอดขายไว้ในประเทศไทยไทยกว่า 2 ล้านเครื่อง และต้องสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้ได้ 30% เป็นโจทย์ที่ฝ่ายการตลาดต้องมานั่งวางแผนเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้”

เป้าหมายทางการตลาดของโมโตโรล่าวางไว้ 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. วินเดอะเน็กซ์เจนเนอเรชั่น ด้วยการเป็นแบรนด์ที่ทันสมัย ดีไซน์สวย ฟังก์การใช้งานที่ง่ายขึ้น

2.การสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

3.การสร้างความสัมพันธ์ความพึงพอใจสูงสุดให้กับดีลเลอร์ ผู้ขาย และลูกค้าผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

ในการทำให้บรรลุเป้าหมายทางการตลาดที่วางไว้นั้น ฝ่ายการตลาดต้องเดินตามแผนที่วางไว้ คือ

1.การที่โมโตโรล่ามีโปรดักส์ทั้งที่อยู่ในตลาดและกำลังจะเปิดตัวในปีนี้อีก 7 รุ่น นั้นจะเจาะเข้าไปทุกกลุ่มความต้องการ โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าตามลักษณะการใช้งาน ประกอบด้วย Personal เบสิก Personal Fun สมาร์ทโฟนบิสซิเนส และสมาร์ทโฟน Personal

2.โปรดักส์ของโมโรโตล่าในปีนี้จะมีราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ ตามความพึงพอใจในการใช้งาน ทางบริษัทเน้นเรื่องกลยุทธ์ราคาในการแข่งขัน

3.โมโตโรล่าเน้นเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ เห็นได้จากการ ที่โมโตโรล่าเซ็นสัญญากับทางเอ็มทีวีมูลค่าถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำคอนเทนต์ด้านดนตรีมาพัฒนาเป็นบริการให้กับลูกค้า ซึ่งรวมถึงลูกค้าคนไทยด้วย

“เราพยายามที่ทำให้โมโตโรล่าเป็นทุกสิ่งที่ทุกอย่างสำหรับคนไทย แบรนด์โมโตโรล่าจะไม่ใช่แบรนด์เฉพาะโทรศัพท์รุ่นคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป แต่จะขยายเข้าไปทุกกลุ่มทุกเซกเมนต์ในตลาด”

การสร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทางโมโตโรล่าเตรียมกิจกรรมโรดโชว์ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งมีการเริ่มไปบางแล้ว อาทิ เซ็นทรัลพระราม 2 เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และอุดรธานี ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี กำลังจะจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้นในหาดใหญ่ พิษณุโลก และเชียงใหม่

ด้านนายพีระพล ฉัตรอนันทเวช ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารส่วนบุคคล บริษัท โมโตโรล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่โมโตโรล่าโฟกัสที่มุ่งเน้นไปสู่ยังส์เจนเนอเรชั่นยังต้องมีปัจจัยและองค์ประกอบด้านต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม ทางบริษัทได้เปิดเว็บไซต์ภาษาไทยขึ้นอีกครั้งหลังมีการทำและหยุดไป เพื่อเป็นจุดกระแสข่าวสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของโมโตโรล่า ซึ่งต่อไป จะมีการเว็บไซต์นี้ให้เป็นช่องทางหนึ่งทางการตลาดในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ

นอกจากนี้ยังมีการนำรูปแบบของสำเร็จของมายโมบายซอฟต์ ที่เกิดขึ้นในจีนและฮ่องกงในเรื่องของการดาวน์โหลดมาให้ลูกค้าใน ประเทศไทยได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เทรนด์ดังกล่าวประสบ ความสำเร็จอย่างมาก เพราะปัจจุบันเรื่องของดาวน์โหลด ไม่ว่าจะเป็นภาพ ริงโทน หรือคอนเทนต์ต่างๆ ของโมโตโรล่าถูกพัฒนาให้แตกต่างจากบริษัทคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนการพัฒนาคอนเทนต์ภายในประเทศทางบริษัทได้จับมือกลุ่มเจ้าของคอนเทนต์หลัก 5 ราย ได้แก่ จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ อาร์เอส โซนี่ บีอีซีเทโร และป็อปพอร์ทัลไซต์ เนื่องจากทางบริษัทกำลังพิจารณาว่าคอนเทนต์ชนิดไหนตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้ามากที่สุด ก็จะพัฒนาเป็นบริการออกมา และในอนาคตจะมีการเพิ่มพันธมิตรให้มากขึ้นด้วย

“เราต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ใช้โมโต ในช่วงแรกของการให้บริการจะเป็นการเปิดให้บริการฟรี เพราะช่วงหนึ่งต้องรอการเชื่อมต่อระบบบิลลิ่งของโอเปอเรเตอร์แต่ละราย ทั้งเอไอเอส ดีแทคและออเร้นจ์ให้พร้อมเสียก่อน จึงจะพิจารณาเรื่องของการเรียกเก็บค่าบริการ”

ที่สำคัญในปัจจุบันโมโตโรล่ามีการร่วมการทำงานกับผู้ให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทต่อไปในอนาคตจะไม่ได้ซัพพอร์ตลูกค้าผู้ใช้ทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการพัฒนาโซลูชั่นที่รองรับความต้องการของกลุ่มคอร์ปอเรท

ด้านการทำตลาดร่วมกับช่องทางการจัดจำหน่ายของโมโตโรล่านั้น ทางบริษัทพยายามที่สร้างแบรนด์ได้ควบคู่กับตัวแทน 3 รายของ บริษัท ทั้งเอ็มลิงค์ ยูดี และออเร้นจ์ ตามแผนการตลาดนั้นจะมีการออกแคมเปญร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งโมโตคลับเพื่อเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะกลุ่มผู้ใช้โมโตโรล่า เนื่องจากในการสำรวจยอดผู้ใช้โทรศัพท์โมโตปัจจุบันพบว่ามีอยู่ประมาณ 3-4 ล้าน ประกอบกับลูกค้าใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้นในปีนี้ ทำให้บริษัทมีจำนวนผู้ใช้จำนวนมากและมีส่วนแบ่งทางการตลาดมาก การสร้างความแตกต่างของโมโตคลับจะช่วยให้ลูกค้ามีความ สัมพันธ์ที่ดีกับโมโตโรล่าและอยู่กับแบรนด์นี้ไปตลอด ซึ่งรูปแบบ ของกิจกรรม เช่น การจัดคอนเสิร์ต กิจกรรมด้านมิวสิค มูวี่ส์ และอื่นๆ คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในเร็วๆ นี้

“ณ วันนี้โมโตเป็นอันดับสองในตลาด เราต้องการที่จะรักษาความ เป็นอันดับสองให้แข็งแรง เราจะเริ่มให้มีผู้ใช้เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า และให้ลูกค้าอยู่กับเราไปอย่าง ยาวนาน คือยุทธศาสตร์ที่โมโตโรล่าได้วางไว้สำหรับปีนี้” นายวิทการกล่าวและว่า

ในแผนยุทธศาสตร์ที่โมโตโรล่าได้วางไว้จะอาศัยช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ในการปรับภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์โมโตโรล่าใหม่ การรักษาอันดับสองของตลาดอย่างแข็งแรง จึงเป็นหนึ่งในแผนก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ผู้นำอันดับหนึ่งในตลาด เพราะเราต้องการที่จะไปให้ถึงในจุดนั้น แต่ยังต้องอาศัยระยะเวลา และการดำเนินการตลาดแผนการทาง ธุรกิจและรูปแบบการทำตลาดที่วางไว้ให้ประสบความสำเร็จก่อน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.