แบงก์ชาติแจงลดรุ่นออกบอร์ดยันช่วยหนุนตลาดตราสารหนี้


ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติชี้แจงลดจำนวนรุ่น-ความถี่ในการออกพันธบัตร หวังเอื้อให้การซื้อขายในตลาดรองคึกคักขึ้น เชื่อไม่กระทบสภาพคล่องในระบบ เหตุมีเครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการดูแล เผยตั้งแต่ไตรมาส 2 ลดการประมูลพันธบัตรอายุ 2 ปี เหลือไตรมาสละครั้ง ส่วนพันธบัตรอายุ 1 ปี เหลือเดือนละ 1 ครั้ง

เจ้าหน้าที่สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวชี้แจงการเปลี่ยนแปลงในการออกขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ธปท.ได้มีการปรับลดจำนวนรุ่นของการออกพันธบัตรมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 โดยมีการลดการออกพันธบัตรอายุ 1 ปีลงจากเดิมที่เคยออกขายเดือนละ 4 รุ่น ต่อมาลดเหลือ 2 รุ่น และปัจจุบันลดเหลือเพียงเดือนละ 1 รุ่นเท่านั้น ส่งผลให้จำนวนรุ่นพันธบัตรอายุ 1 ปีลดลงจากประมาณ 50 รุ่นต่อปี เหลือเพียง 12 รุ่นต่อปี

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ทยอยปรับลดความถี่ของการประมูลพันธบัตรเป็นเดือนละ 2 ครั้งสำหรับพันธบัตรอายุ 1 ปี และเดือนละ 1 ครั้งสำหรับพันธบัตรอายุ 2 ปี จากเดิมที่เคยออกประมูล 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยทำให้ขนาดของพันธบัตรที่ออกในแต่ละรุ่นเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50,000 – 70,000 ล้านบาทต่อรุ่น จากเดิมที่เคยออกเพียงรุ่นละเล็กน้อยเหมือนเบี้ยหัวแตก เช่น รุ่นละ 3,000 ล้านบาท หรือ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น และในระยะต่อไปจะลดความถี่การประมูลลงอีก โดยในไตรมาส2ปีนี้เป็นต้นไปการประมูลพันธบัตรอายุ 2 ปี จะลดจากเดือนละ 1 ครั้งเป็นไตรมาสละ 1 ครั้งแทน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ และตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปจะประมูลพันธบัตรอายุ 1 ปีเพียงเดือนละ 1 ครั้ง จากเดิมที่เคยประมูลเดือนละ 2 ครั้ง

“การดำเนินการเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดรองพันธบัตรมีความคล่องตัวมากขึ้น ทำให้มีการซื้อขายเพิ่มขึ้น เพราะการที่พันธบัตรแต่ละรุ่นมีวงเงินมากขึ้นจะช่วยให้ตลาดหาของได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันช่วยให้ตลาดตราสารหนี้พัฒนามากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นผลดีให้ทั้งรัฐและบริษัทต่างๆหาแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น และจากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นปี 2549 ยอดคงค้างพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยมีสัดส่วน 25%ของมูลค่าตลาด แต่มีการหมุนเวียนซื้อขายสูงถึง 50%ของตลาด แสดงว่าพันธบัตรมีสภาพคล่องสูง”เจ้าหน้าที่สายตลาดการเงินกล่าว

เจ้าหน้าที่สายตลาดการเงิน กล่าวว่า การออกพันธบัตรธปท.มีความถี่น้อยลงไม่กระทบต่อการบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากธปท.ยังมีเครื่องมืออื่นในการดูแลด้วย และยืนยันว่าความถี่ การออกพันธบัตรไม่มีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรแต่อย่างใด และการออกพันธบัตรธปท.มีการหารือกับกระทรวงการคลังตลอดเพื่อไม่ให้อายุพันธบัตรเหมือนกันจะได้ไม่แย่งตลาดกัน เช่น ธปท.จะออกพันธบัตรระยะสั้น 1 วัน , 7 วัน หรือ 14 วัน แต่ไม่ออกระยะ 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพราะคลังออกแล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 ในระบบมียอดคงค้างตราสารหนี้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 1.6 ล้านล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 3.4 แสนล้านบาท พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 1.04 ล้านล้านบาท พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 3.1 แสนล้านบาท ตั๋วเงินคลัง 2.2 แสนล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 1 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้บรรษัทฯ 650 ล้านบาท ทั้งนี้จะเห็นว่าธปท.ยังไม่มีการใช้วงเงินใหม่ 4 แสนล้านบาท ที่ขออนุมัติกระทรวงการคลังเอาไว้ เพราะวงเงินเดิม 1.1 ล้านล้านบาทยังไม่หมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.