|
CBกวาดลูกค้าต่างชาติซื้อคอนโดฯเปรยมูลค่าซื้อลงทุนสะสม4ปีกว่า5หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ซีบี ริชาร์ดฯระบุ นักลงทุนต่างชาติมองหาโอกาสซื้อคอนโดฯเพื่อการลงทุน ชี้ 4 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างชาติซื้อคอนโดฯในพอร์ตของซีบีฯรวม 3,500-3,600 ยูนิต หรือมีธุรกรรมผ่านบริษัทฯมูลค่าประมาณ 35,000-52,000 ล้านบาท ส่วนโครงการใหม่ที่เข้าไปบริหารมีต่อเนื่อง แจงช่วง 3 เดือนคอนโดฯสร้างเสร็จ 48,128 ยูนิต ส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯระดับกลางลงล่าง ถึง 42,709 ยูนิต ชี้ตลาดอสังหาฯยังมีแนวโน้มขยายตัว หวังรัฐบาลหากเลือกมาตรกระตุ้นตลาด ควรเน้นลดภาษีธุรกิจเฉพาะและค่าธรรมเนียมการโอน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ
นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเทศไทย ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครว่า ปัจจุบันการซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุน เป็นหนทางหนึ่งของการการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจและการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดต่ำลง รวมทั้งภาวะที่ซบเซาในตลาดหุ้นและอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลที่ลดลง
ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดคอนโดฯในกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด พบว่า ณ ไตรมาสแรกของปี 50 มีคอนโดฯสร้างเสร็จทั้งสิ้น 48,128 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4,188 ยูนิต หรือคิดเป็น 9.53% จากไตรมาสแรกของปี 2549 แยกเป็นคอนโดฯระดับบนและระดับหรูประมาณ 5,419 ยูนิต และเป็นคอนโดฯระดับกลางลงล่างมากถึง 42,709 ยูนิต ขณะที่คอนโดฯเปิดตัวมีจำนวน 2,197 ยูนิต แยกเป็นคอนโดฯระดับบนและระดับหรู 830 ยูนิต และ 1,367 ยูนิตในส่วนของคอนโดฯระดับกลางลงล่าง ในส่วนของการเข้าพักอาศัย(Occupancy Rate) ในไตรมาสแรกมีประมาณ 84.1%
โดยคอนโดฯดังกล่าวที่สร้างเสร็จ จะตั้งอยู่ในย่านสาทร (ถนนสีลม ,สาทรและสวนพลู)สัดส่วน 21.4% , 4.4% ในย่านใจกลางลุมพินี (ถนนวิทยุ เพลินจิต หลังสวน และราชดำริ) , 34.6% ในย่านสุขุมวิท (สุขุมวิท ซอย 1-63 และสุขุมวิท ซอย 2-44), 8.2% ในย่านปทุมวัน (ถนนพญาไท และพหลโยธิน) และอีก 29.6% ในย่านริมแม่น้ำ (ถนนพระราม 3 เจริญกรุง และเจริญนคร)
ในขณะที่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดของฝ่ายวิจัยยังพบว่า ในปี 2548 มีโครงการคอนโดฯระดับบนและระดับหรูเปิดตัวทั้งสิ้น 1,788 ยูนิต ขณะที่ ณ สิ้นปี 2549 มีการเปิดตัวลดลงเหลือเพียง 1,097 ยูนิตเท่านั้น คิดเป็นลดลง 38.6% และคาดว่าในปีนี้ จะมีโครงการใหม่เปิดตัวในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปี 2549
กรรมการผู้จัดการกล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2546-2549)บริษัทมีโครงการที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาซื้อประมาณ 20-30 โครงการ ซึ่งคิดเป็นยอดสะสมของจำนวนยูนิตประมาณ 3,500-3,600 ยูนิต และหากใช้ราคาขายประมาณ 10-15 ล้านบาท มูลค่าโครงการที่บริหารจะประมาณ 35,000-52,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 7,000-8,000 ล้านบาท แต่ในบางปีจะมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท แล้วแต่ขนาดของโครงการที่บริษ้ทเข้าไป หากมีจำนวนยูนิตมาก มูลค่าในการบริหารจะเพิ่มขึ้น
" ในปีนี้ ลูกค้าโครงการที่จะเข้าไปบริหารยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการของเจ้าของโรงแรมสุโขทัย ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุงแบบ พัฒนาบนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง โครงการของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นรูปแบบคอนโดฯโลว์ไรท์ในซอยสุขุมวิท 39 พัฒนาบนเนื้อที่ 1 ไร่ จำนวน 110 ยูนิต โครงการในซอยสุขุมวิท 24 ของนักลงทุนคนไทย และโครงการที่พัทยา เป็นต้น " นางสาวอลิวัสสากล่าว
นางสาวอลิวัสสากล่าวต่อว่า โครงการคอนโดฯระดับบนและระดับหรูในย่านใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดจะประสบกับภาวะซบเซาลงไปบ้าง ซึ่งในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนยังคงเข้ามาลงทุนในตลาดคอนโดฯของกรุงเทพฯ เพราะได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าเฉลี่ย5-7% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันที่ลดลงมาอยู่ระดับ 3.5%
"ตามปกติแล้ว นักลงทุนในตลาดระดับบนและระดับหรูไม่ได้ประสบกับปัญหาทางด้านเงินทุน ทว่านักลงทุนบางกลุ่มขาดความเชื่อมั่น อันเนื่องจากปัจจัยลบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม หากภาครัฐจัดให้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมตลาดและสร้างความเชื่อมั่น หรือมีปัจจัยบวกอื่น ๆ ก็จะทำให้นักลงทุนดังกล่าวกลับเข้าสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติด้านยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์ มาตราการที่ซิบี ริชาร์ดฯ เห็นว่าจะมีผลตต่อการกระตุ้นตลาด ได้แก่ การลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน และการขยายอัตราส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียมโดยชาวต่างชาติจาก 49% เป็น 70% เนื่องจากพบว่า โครงการในต่างจังหวัดส่วนใหญ่เกือบเต็มเพดานที่ 49% รวมถึงในส่วนของโครงการในกรุงเทพฯก็เริ่มอยู่ในระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ "
สำหรับราคาคอนโดฯนั้น ทางซีบีฯพบว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 30 - 50% ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างราคาเฉลี่ยคอนโดฯระดับบนในย่านสาทรในปี 2545 อยู่ที่ 58,100 บาทต่อตร.ม. ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 80,000 บาทต่อตร.ม. , ย่านลุมพินีในปี 2545 อยู่ที่ 77,500 บาทต่อตร.ม.ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 108,000 บาทต่อตร.ม. และย่านสุขุมวิทในปี 2545 อยู่ที่ 49,000 บาทต่อตร.ม. ในขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 88,000 บาทต่อตร.ม.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|