|
KMCดึงทุนใหม่แก้หนี้ใส่เงินก้อนโตฟื้นธุรกิจ
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤษภาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
บิ๊กกฤษดาฯชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ กรณีขายหุ้นเพิ่มทุน 1,500 ล้านหุ้น หวังนำเงินใช้หนี้สถาบันการเงิน เพิ่มสภาพคล่องขยายโครงการใหม่ ระบุ สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่สามารถสร้างยอดขาย เพื่อทำกำไรใช้หนี้แบงก์ได้ทันตามกำหนดสัญญาชำระหนี้ พร้อมแจงประวัติ4นักลงทุน ผู้ถือหุ้นรายใหม่ในบริษัท ไม่ใช้บริษัทนิติบุคคล
นายธเนศวร์ สิงคาลวณิช กรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯถึงกรณีการขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง(PP) จำนวน 1,500 ล้านหุ้นให้แก่กลุ่มผู้ลงทุนที่ชื่อ Sophast ว่า กลุ่มดังกล่าวเป็นชื่อเรียกของกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยบุคคล4 ราย มิใช่บริษัทนิติบุคคล โดยนางสาวพรณรัตน์ โรจน์ชูพันธุ์ ปัจจุบันเป็นพันธมิตรกับกลุ่มซีเมนท์ของประเทศเยอรมนีและบริษัทอินซิกเนียร์ และเป็นบริษัทที่ดำเนินการจัดตั้งระบบของเครื่องมือและอุปกรณ์มือถือในประเทศไทย ,นางสาวสมลักษณ์ โสภาเสถียรพงศ์ ปัจจุบันประกอบธุรกิจส่วนตัวในประเทศฮ่องกง ลักษณะธุรกิจคือ การดูแลการลงทุนและให้คำปรึกษาการลงทุนในต่างประเทศ , นายวิรุฬห์ วงศ์แสงนาค ดำเนินธุรกิจการลงทุนในกิจการอื่นและให้เช่าอาคาร และนายKhamseng Khamkoon เป็นนักลงทุนต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่ง CEO New Cyber International and Beijing ISM Internet Development Company และเป็นเจ้าของ Summer Investment Ltd.
โดยสาเหตุหลักของการขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทกฤษดาฯ ต้องการนำเงินมาชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจาก บริษัท มีภาระหนี้คงเหลือตามสัญญาปรับโครงสร้างกับสถาบันการเงิน 1,797 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้นประมาณ 1,300ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่าย 497 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายชำระทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในปี 2555 ในขณะที่บริษัทฯ มีภาระหนี้เงินต้นประมาณ 515 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่ายประมาณ 399 ล้านบาทที่ครบกำหนดชำระในปี 2550 โดยตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ หากบริษัทฯไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด บริษัทฯจะต้องรับผิดชอบชำระหนี้คืนเต็มจำนวนของเงินต้นและดอกเบี้ยในมูลหนี้เดิมก่อนการลงนามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
อย่างไรก็ตาม จากสภาพสถานการณ์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ชะลอตัวตั้งแต่ปี 2549 ส่งผลให้บริษัทฯ มียอดขายโครงการในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนม.ค.2549 และจากการพิจารณาประมาณการรายได้ของบริษัทฯ และรายงานงบประมาณการปี 2550 หากบริษัทฯ ไม่สามารถเพิ่มรายได้จากการขายอสังหาฯในโครงการต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด จะส่งผลให้ไม่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้ที่ครบกำหนดต้องจ่ายชำระในปี 2550
ดังนั้นบริษัทฯ จำเป็นต้องทำการระดมทุนจากภายนอกเพิ่มเติม ซึ่งจากความต้องการแก้ปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่อง บริษัทฯได้ระดมทุนจากภายนอกเพิ่มเติม ในเดือน พ.ย.49 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติ เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นสามัญเดิม และผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเดิมจำนวน 527,812,374 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท เพื่อนำเงินมาพัฒนาโครงการขยายกิจการ และเป็นทุนหมุนเวียน โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวมีจำนวนหุ้นที่เหลือจากการจองซื้อโดยผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 177,353,062 หุ้น หรือประมาณ 34 %ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ออก
จากสถานการณ์ดังกล่าว และการปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินหลายสถาบัน ทำให้บริษัทฯไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมโดยการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องได้ รวมถึงบริษัทฯประสบปัญหาในการจัดหาแหล่งเงินกู้ยืมใหม่ มาเพื่อการจ่ายชำระคืนหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างเดิม (Refinance) ได้ ทำให้บริษัท อาจประสบปัญหาเรื่องไม่มีผู้สนใจจะซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ สามารถจ่ายชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ จึงเลือกแนวทางระดมทุนประมาณ 1,500ล้านบาทโดยการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนแก่บุคคลในวงจำกัดและ/หรือ ผู้ลงทุนสถาบันในราคาไม่ต่ำกว่าหุ้นละ1บาทซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดในช่วงที่บริษัทมีมติของคณะกรรมการ ซึ่งการเพิ่มทุนดังกล่าวจะทำให้บริษัทฯไม่ผิดนัดชำระหนี้ (Default) และเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจด้วย
ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว จะทำให้ นางสาวนพรัตน์ โรจน์ชูพันธ์ ถือหุ้นในสัดส่วน799,999,999 หุ้นคิดเป็น33.64% ,นางสาวสมลักษณ์ โสภาเสถียรพงศ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 150 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.31% , นายวิรุฬ วงศ์แสงนาค ถือหุ้นในสัดส่วน 540 ล้านหุ้น คิดเป็น22.71% และนาย Khamseng Khamkoon ถือหุ้นในสัดส่วน 10 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.42% และจะทำให้โครงสร้างทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ 7,392,015,184 บาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน4,349,927,226 บาท
นายธเนศวร์กล่าวว่า การขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทจะได้รับเงินกู้จำนวน 1,403 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกินกว่า MLR ส่วนหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 403 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.75% ต่อปี อายุ 3 ปีทำให้บริษัทได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับเงินกู้ที่บริษัทได้รับมาในอดีต ทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่ำลง ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขัน
และยังทำให้บริษัทสามารถปฎิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน ไม่ทำให้หนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่ได้รับลดหย่อนกลับมาเป็นหนี้ปกติ โดยคาดว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ น่าจะได้รับการลดหนี้สำหรับเจ้าหนี้ที่บริษัทจะจ่ายชำระหนี้ เนื่องจากเงื่อนไขของผู้ร่วมทุนบริษัทจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทจะต้องได้รับการตัดหนี้บางส่วนจากเจ้าหนี้ ทำให้บริษัทมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ ที่สำคัญภาพพจน์ของบริษัทจะดีขึ้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|