It Pays to Talk


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ขจัดความเครียดและความไม่เข้าใจกัน ในเรื่องการเงินของครอบครัว

Charles Schwab ผู้ก่อตั้งสถาบันการเงินระดับยักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา กับบุตรสาวของเขา Carrie Schwab-Pomerantz เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ซึ่งพวกเขาร่วมกันแต่งว่า การจับเข่าคุยกันอย่างตรงไปตรงมาภายในครอบครัว เกี่ยวกับเรื่องเงินและการลงทุน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ "สุขภาพ ทางการเงิน" ของครอบครัว โดยที่เป้าหมายของการจับเข่าคุยกัน นั้น ก็เพื่อขจัดความเครียดและความไม่เข้าใจกันในเรื่องการเงินของครอบครัวให้หมดไป

ทั้งสองได้ร่วมกันให้คำแนะนำที่มีค่าในเรื่องการจัดการการเงินแก่ครอบครัว ทั้งยังได้แนะว่า คุณควรมีวิธีการอย่างไรจึงจะสามารถหยิบยกเรื่องที่อ่อนไหว อย่างการวางแผนการลงทุนและการวางแผนการเงิน ขึ้นมาพูดคุยกันภายในครอบครัวได้อย่างตรงไปตรงมา

สองพ่อลูกล้วนเคยเป็นพ่อเป็นแม่ที่มีประสบการณ์โดยตรงในการลงทุนกันมาคนละหลายๆ ปี ดังนั้น พวกเขาจึงมีสิ่งที่อยากจะบอกเล่ามากมาย เกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุนที่ประสบผลสำเร็จและแผนการจัดการการเงินสำหรับครอบครัว

It Pays to Talk ครอบคลุมหลักการพื้นฐานต่างๆ ที่นักลงทุนระยะยาวทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ครอบครัว การมีรายได้มากขึ้นจากการแต่งงาน การลงทุนในอนาคตของลูกและการเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางการเงิน การวางแผนเกษียณและการจัดการทรัพย์มรดก รวมถึงการรับมือกับเรื่องฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดในชีวิต

นอกจากนี้ผู้แต่งทั้งสองยังได้ให้เคล็ดลับวิธีพูดคุยเรื่องการเงินกับลูกหลานอย่างนุ่มนวล อย่างฉลาดและให้เกียรติ เพื่อให้สามารถปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนให้แก่พวกเขา

เข้าใจ "เงิน" ให้ลึกซึ้ง

ก่อนที่ครอบครัวจะคุยกันอย่างเปิดอก และตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ครอบครัวจะต้องเข้าใจก่อนว่า เงินเป็นตัวแทนของอะไร ผู้ประพันธ์พบว่า เงินเกี่ยวข้องกับอารมณ์มากกว่าเหตุผล เงินมักจะผูกติดกับความรู้สึกลึกๆ ในใจเราเช่นความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ความสำเร็จและความเชื่อมั่น ในขณะเดียวกันเงินยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกกลัว เช่น กลัวความล้มเหลว กลัวความขาดแคลน และกลัวความยากจน

นอกจากนี้ เงินยังสัมพันธ์กับความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าของตัวเองและเอกลักษณ์ของตัวเองอีกด้วย ดังนั้น ผู้เขียนจึงย้ำเตือนว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินบ่อยครั้งมักตัดสินด้วยอารมณ์ มากกว่าเหตุผลหรือข้อเท็จจริง

การจะใช้เงินทำงานให้เรา ก่อนอื่นเลย ผู้เขียนบอกว่าเราจะต้องจัดลำดับความสำคัญของความต้องการทางการเงินของเราเสียก่อน โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือกับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ที่เราใกล้ชิดที่สุดด้วย

จากนั้นเราจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าฝันของเราคืออะไร แล้วจึงกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน ซึ่งเป็นแผนที่สามารถจะทำให้ฝันของเราเป็นจริงได้ โดยการตกผลึกความคิด รวบรวมจัดการเอกสารข้อมูล แล้วเขียนเป็นแผนที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่เรากำหนดไว้ได้

สอนลูกหลานรู้เรื่องเงินแต่เนิ่นๆ

ผู้แต่งชี้ให้เห็นพลังของการมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากการแต่งงาน ซึ่งเป็นการนำรายได้ของคนสองคนมารวมกัน และแนะวิธีที่สามีภรรยาจะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการนี้ นอกจากนี้ยังบอกข้อดีของการทำข้อตกลงก่อนแต่งงานเกี่ยวกับเรื่องเงินและทรัพย์สินของทั้งคู่ หากการแต่งงานมีอันต้องสิ้นสุดลง

ผู้แต่งระบุว่า สถานะทางการเงินของครอบครัวมีอิทธิพลอย่างสูง ต่อทัศนคติที่มีต่อเงินของลูกหลานของคุณ และชี้ให้เห็นความสำคัญของการสอนให้ลูกหลานเห็นค่าของเงินแต่เนิ่นๆ ให้รู้ ความแตกต่างระหว่างความต้องการ 3 แบบกล่าวคือ ความอยาก ได้ ซึ่งเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว ความปรารถนาซึ่งเป็นความต้องการ ที่ฝังรากลึกอยู่ในใจ และความต้องการที่เป็นสิ่งจำเป็น และให้เข้าใจวิธีการจัดสรรเงินอย่างฉลาด

ต่อไปผู้แต่งอธิบายวิธีที่ดีที่สุดต่างๆ ที่พ่อแม่จะใช้ลงทุนในอนาคตของลูกหลาน และวิธีที่ดีที่สุดในการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณของตัวคุณเอง วิธีเอาชนะอุปสรรคทางภาษาและเทคนิคในการวางแผนจัดการทรัพย์มรดก

สุดท้ายพวกเขาสอนให้นักลงทุนรู้วิธีรับมือกับเรื่องฉุกเฉินที่คาดไม่ถึง ด้วยเคล็ดลับเกี่ยวกับการเลือกซื้อประกันสุขภาพ ประกันชีวิต รวมถึงคำถามที่คุณควรถามก่อนตัดสินใจซื้อ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.